การเล่าเรื่องราวดรามา จากจุดต่ำสุดในชีวิตไปสู่การประสบความสำเร็จจากธุรกิจนี้ หรือ การใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้เชี่ยวชาญ หรือ พระสงฆ์ มาร่วมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ การสร้างภาพลักษณ์ของคนในกลุ่มให้ดูร่ำรวย มีชีวิตหรูหรา รวมไปถึง ชักจูงหลอกล่อโดยตอกย้ำซ้ำ ๆ ว่า ธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนสูง อย่ามัวแต่กลัว เพราะอาจจะพลาดโอกาสสำคัญในชีวิต
นี่เป็นรูปแบบการจูงใจบางส่วนที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและนำเงินจำนวนมากเข้าไปลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่
สอดคล้องกับนักวิชาการด้านจิตวิทยา พนิตา เสือวรรณศรี หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิตคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนถึงปัจจัยการเข้าสู่วังวนของธุรกิจแชร์ลูกโซ่มองว่า ธุรกิจลักษณะนี้เป็นธุรกิจที่ให้ความหวัง ใช้หลักจิตวิทยาโน้มน้าวใจ พูดเชิญชวนทำให้ผู้ฟังตกอยู่ในอารมณ์ร่วม และเป็นส่วนหนึ่ง จนเกิดแรงบันดาลใจ ต้องการร่วมลงทุนด้วย
กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบางด้านจิตใจ และ ด้านเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มที่นักวิชาการด้านจิตวิทยาระบุว่า มีความเสี่ยงถูกหลอกให้หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ โดยกลุ่มขบวนการธุรกิจลักษณะนี้จะใช้ช่องโหว่ด้านความเชื่อใจ ไว้ใจ ความศรัทธา ความต้องการหลุดออกจากสถานะที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งดึงดูดการตัดสินใจ
ข้อแนะนำจากนักวิชาการด้านจิตวิทยา สำหรับผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายในธุรกิจลักษณะนี้คือ ไม่ควรโทษตัวเอง ทำใจและเก็บเงินใหม่ ควรตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรียนรู้เรื่องนี้อย่างไร
ส่วนการป้องกัน คือ ต้องตั้งคำถามกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นหาข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา มีความพร้อมเสี่ยงที่สูญเสียเงินมากน้อยแค่ไหน ขณะที่การป้องกันตั้งแต่ต้นทาง เสนอว่า สถานศึกษาควรเสริมทักษะเรื่องการบริหารจัดการการเงินให้กับนักเรียนตั้งแต่เล็กรวมถึงทักษะด้านกระบวนการคิดเรื่องการถูกโน้มน้าวจิตใจที่ไม่ควรเชื่อหรือไม่
อ่านข่าวอื่น :
รู้จัก "ไวยาวัจกร" ผู้จัดการ "เงิน" แทนพระสงฆ์
CIB เผย 10 วัน ยอดผู้เสียหาย “ดิไอคอน” ทั่วปท. ทะลุ 4,583 คน