ต้องรอให้ศาลตัดสินว่าธุรกิจดิไอคอนเข้าข่าย "แชร์ลูกโซ่" หรือไม่ แต่ถ้าถามถึงปัจจัยที่ทำให้คนหลงเชื่อร่วมลงทุน นักวิชาการด้านจิตวิทยา สะท้อนว่าสาเหตุหลัก ๆ มาจากการใช้จิตวิทยาการชักจูง นำดาราผู้มีชื่อเสียงสร้างความน่าเชื่อถือ และโฆษณาลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง
แม้ตอนนี้กลุ่มธุรกิจ ดิ ไอคอน ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้ก็มีหลายแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเน้นสร้างเครือข่าย เพิ่มจำนวนสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า มาเรียนรู้กันว่าอะไรที่ทำให้ผู้เสียหายยอมลงทุนเงินจำนวนมาก แต่กลับกลายเป็นกับดักทางการเงินที่อันตราย สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิต ร่วมพูดคุยกับ รศ. พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และแขกรับเชิญพิเศษที่จะมาเล่าเหตุการณ์ที่ตัวเองเคยถูกชักชวนให้เป็นครอบครัวดิไอคอนเหมือนกัน
วันนี้ (12 ต.ค. 67 ) เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของผู้บริหารคนสำคัญ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้บริหาร บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) หรือที่ถูกเรียกโดยทั่วไปในขณะนี้ว่า " บอสพอล" เดินทางเข้าพบตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. เพื่อชี้แจง กรณีมีผู้เสียหาย ที่เป็นผู้ร่วมทำธุรกิจเข้าแจ้งความแล้วกว่า 400 คน
ยังคงต้องติดตามคดีชักชวนร่วมลงทุน บริษัท “ดิไอคอน กรุ๊ป” หลังจากมีผู้เสียหายจำนวนมากไปลงทุนซื้อสินค้า เสียหายตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท ตำรวจเตรียมออกหมายจับภายใน 48 ชั่วโมง ย้ำใครทำอะไรก็ย่อมได้รับผลกรรมนั้น ขณะที่ สคบ. บุกตรวจบริษัท เพื่อหาหลักฐานเอาผิดเพิ่มเติม