20 ปี "คดีตากใบ" เงื่อนไขไฟใต้ครั้งใหม่

สังคม
20 ต.ค. 67
17:56
4
Logo Thai PBS
20 ปี "คดีตากใบ" เงื่อนไขไฟใต้ครั้งใหม่
นักวิชาการ กังวลครบรอบ 20 ปี "คดีตากใบ" นับถอยหลังเสี่ยงเงื่อนไขไฟใต้ครั้งใหม่ แนะยังไม่สายรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา

หากนับถอยหลัง "คดีตากใบ" เหลือเวลาอีกเพียง 5 วัน ก็จะหมดอายุความ  แต่หากผู้ซึ่งรับผิดชอบ-บัญชาการ-สั่งการ โดยเฉพาะ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี  อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ยังคงหายตัวอย่างปริศนา เรื่องนี้อาจเป็นเงื่อนไขที่อาจทำให้สถานการณ์ไฟใต้รุนแรง  

เหตุการณ์ "ไฟใต้" เปรียบเสมือนฝันร้าย ที่สะสมรื้อรังมานานกว่า 2 ทศวรรษ หรือกว่า 20 ปีเต็ม แม้ว่ารัฐบาลหลายยุค-หลายสมัย ต่างปรับเปลี่ยนนโยบาย - ยุทธศาสตร์ ชนิดที่เรียกได้ว่า "ลองผิด-ลองถูก" หรือสลับกันไปมาระหว่างนโยบายการเมือง-นำการทหาร หรือการทหาร-นำการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์

แต่มีข้อสังเกตถึงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แม้จะเป็นโจทย์ใหญ่ของ "รัฐบาล-แพทองธาร" แต่กลับไม่ถูกบรรจุไว้เป็น "วาระแห่งชาติ" แต่เขียนกรอบนโยบายกว้าง ๆ ตามที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถ้อยแถลงต่อรัฐสภา คือการส่งเสริมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพและสันติสุข

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สะท้อนภาพความจริงใจของ 2 นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ตลอด1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนกับนโยบายจนออกดอก-ออกผล รวมถึงมิติความยุติธรรม ในคดีการสลายการชุมนุมในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่กำลังจะหมดอายุความ 25 ต.ค.นี้ 

ส่วนผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้ว่า หากรัฐบาลไม่สามารถนำคนผิดจาก "คดีตากใบ" มาลงโทษทางกระบวนการยุติธรรมได้ จะส่งผลให้สถานการณ์ภาคใต้กลับมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่อาจไม่พอใจ และไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาล ในการบริหารจัดการความยุติธรรม และอาจเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความรุนแรงได้

การเรียกร้องความยุติธรรม และยังไม่ได้รับการปฏิบัติจะมีผลอย่างมากต่อการยอมรับต่อรัฐบาล และกังวลว่าจะเป็นเงื่อนไขของการทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นหลัง 25 ต.ค.นี้ ถ้ายังไม่จัดการปัญหา ยังไม่คาดว่าจะเป็นเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียวหรือจะลุกลามบานปลาย แต่จะเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความไม่พอใจอะไรต่างๆ

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่า ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบอกจะพัฒนาในพื้นที่ และจะมีคณะพูดคุยแล้วแต่ความคืบหน้าที่ทำให้สังคมไทย ได้เห็นในการบริหารราชการแผ่นดิอยู่ในภาวะวิกฤต

อีก 3-4 วันจะครบรอบ 20 ปีคดีตากใบ ถ้ารัฐบาลไม่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและจริงใจในการแก้ปัญหา เชื่อว่ารัฐบาลต้องเผชิญกับศึกหนักในภาคใต้

ไม่สายแก้คดีตากใบ

รศ.เอกรินทร์ ใช้คำว่า "ไม่สายเกินไป" หากรัฐบาลใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหา "คดีตากใบ" ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ก่อนคดีนี้จะหมดอายุความ ด้วยอ้างอิงกระบวนการยุติธรรมต้องเท่าเทียม

ขณะที่ผศ.ศรีสมภพ ไม่ชี้ชัดถึงบทสรุป "คดีตากใบ" จะกระทบกับการพูดคุยสันติภาพ-สันติสุข กับกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่

แต่การเปิดโต๊ะพูดคุยกับ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ครั้งล่าสุด มีลงนามข้อตกลงร่วมกันในการ "ร่างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม" หรือเจซีพีพี เพื่อกำหนดขั้นตอนในการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องการยุติความรุนแรง การมีส่วนร่วมทางการเมือง กระบวนการพูดคุยสาธารณะ และการแสวงหาทางออกในทางการเมือง ซึ่งขณะนี้เดินหน้าไปกว่าร้อยละ 70 แล้ว

และจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่เดือนม.ค.2547 ถึง ส.ค.2567 มีข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภายใต้ โดยพบเหตุการณ์ความรุนแรงรวม 22,737 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,632 คน บาดเจ็บอีก 14,274 คน ทั้งนี้แนวโน้มความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้มีทิศทางที่ลดลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง