การเสียชีวิตของยาห์ยา ซินวาร์ สร้างภาวะสุญญากาศทางอำนาจครั้งใหญ่ขึ้นภายในฮามาส ซึ่งอาจจะมากกว่าครั้งที่อิสมาอิล ฮานิเยห์ ถูกลอบสังหารในกรุงเตหะรานของอิหร่านก็เป็นได้ เพราะซินวาร์ครองอำนาจปีกการเมืองของฮานิเยห์อยู่ในมือด้วย
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลทยอยเผยแพร่ภาพปฏิบัติการสังหารผู้นำฮามาสในราฟาห์ ทางตอนใต้ของกาซา ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้รถถังยิงถล่มอาคารที่ซินวาร์หลบซ่อนตัวและการเคลื่อนกำลังของทหารอิสราเอลในพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่สำนักข่าวเอพี ระบุว่า กองทัพอิสราเอลโปรยใบปลิวเป็นภาพของซินวาร์เสียชีวิตบนเก้าอี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นักรบฮามาสวางอาวุธและปล่อยตัวประกัน เพื่อแลกกับการได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า สงครามในกาซาไม่น่าจะจบลงด้วยการเจรจาหยุดยิงในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจาก เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศเดินหน้าสู้รบต่อไป จนกว่าตัวประกันจะได้รับการปล่อยตัวและฮามาสอ่อนแอจนไม่สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้อีก
การเสียชีวิตของผู้นำกลุ่มฮามาส 2 คนติดต่อกันในเวลาเพียง 2 เดือนเศษ ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการของกลุ่มนี้ไม่น้อย ซึ่งอิสราเอลน่าจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เพื่อเดินเกมศึก แต่จากประวัติที่ผ่านมาของฮามาส ก็ชี้ให้เห็นว่าแม้แกนนำฮามาสจำนวนมากจะถูกสังหาร แต่ทางกลุ่มก็ไม่ถึงกับอับจนหนทาง หรือสิ้นไร้ไม้ตอกไปเสียทีเดียว
ประเด็นสำคัญในตอนนี้ ก็คือ การเร่งเติมเต็มช่องว่างทางอำนาจ ซึ่งตัวเลือกที่คาดว่าจะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำฮามาสได้มีไม่กี่คนเท่านั้น คนแรก "คาลิล อัล-ฮายา" คนนี้ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะเป็นผู้นำหมายเลข 2 ในกาซา และเป็นคนสนิทเพียงไม่กี่คนที่ซินวาร์เชื่อใจ โดยปัจจุบัน "อัล-ฮายา" อยู่ในกาตาร์ และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาหยุดยิงด้วย
คนต่อมา "มูฮัมหมัด ดาร์วิช" เป็นคนที่มีข้อมูลเผยแพร่ผ่านสื่อน้อยมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง มองว่า เขาเป็นหนึ่งในตัวเต็ง เพราะเป็นผู้นำสภาชูรา ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ รวมถึงการเสนอชื่อผู้นำคนใหม่ด้วย
ในอดีต ฮามาสจะแบ่งอำนาจเดินเกมแบบคู่ขนาน โดยผู้นำปีกการเมืองอย่างฮานิเยห์ จะเคลื่อนไหวบนเวทีโลกนอกกาซาและกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในขณะที่ซินวาร์จะดูแลปีกทหารและปฏิบัติการในกาซาควบคู่กันไปด้วย แต่การเสียชีวิตของฮานิเยห์ทำให้อำนาจถูกรวบมาอยู่ในมือของซินวาร์ทั้งหมด
แต่เมื่อซินวาร์ถูกสังหาร นักวิเคราะห์ ประเมินว่า ฮามาสน่าจะกลับไปใช้การบริหารอำนาจแบบเดิม นั่นคือ มีทั้งผู้นำที่อยู่ในและนอกกาซาด้วย ดังนั้น "อัล-ฮายา" จึงมีภาษีดีกว่าคนอื่นตรงที่นอกจากจะได้รับการยอมรับจากปีกทหารแล้ว ยังมีความใกล้ชิดกับอดีตผู้นำฮามาสทั้ง 2 คนด้วย
ตัวเต็งอีกคนที่น่าสนใจ คือ "มูสซา อาบู มาร์ซุก" คนนี้มีส่วนช่วยในการก่อตั้งกลุ่มฮามาสเมื่อปี 1987 โดยเขาถือเป็นแกนนำปีกการเมืองของฮามาสที่มีแนวคิดสายกลางกว่าคนอื่น ๆ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาและคนในทีมเจรจาที่มีความใกล้ชิดกับฮานิเยห์ด้วย
แต่ดาวรุ่งพุ่งแรง ซึ่งแม้อาจจะยังไม่ถึงกับได้นั่งเก้าอี้ผู้นำฮามาส แต่น่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในฝั่งปีกทหารในกาซา นั่นคือ "โมฮัมเหม็ด ซินวาร์" น้องชายของ "ยาห์ยา ซินวาร์" ซึ่งมีรายงานว่า เขามีจุดยืนถอดแบบมาจากพี่ชายเและได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างในฐานะนักสู้ แต่ยังไม่ค่อยมีบารมีเท่ากับซินวาร์คนพี่
ส่วนคนสุดท้ายบนทำเนียบตัวเต็ง คือ "คาลิด เมชาล" ผู้นำกลุ่มฮามาสระหว่างปี 1996-2017 โดยแม้ว่าในปัจจุบัน เขาจะยังคงมีบทบาทสำคัญ แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการที่ "เมชาล" จะได้กลับมานั่งเก้าอี้ผู้นำฮามาสอีกครั้งเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเขาเคยมีปัญหากับอิหร่านมาก่อน หลังจากสนับสนุนกลุ่มมุสลิมนิกายซุนนีที่ต่อต้านบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย เมื่อปี 2011
สายสัมพันธ์กับอิหร่านยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดเงื่อนไขหนึ่ง
ที่จะกำหนดว่าใครจะได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนต่อไปของฮามาส
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อิสราเอลเดินเกมรุกหนัก ทั้งในกาซาและเลบานอน เพื่อจัดการกับกลุ่มฮามาสและเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งมองในมุมหนึ่ง เป็นไปได้ว่า อิสราเอลอาจต้องการชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลางในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเตรียมจัดการเลือกตั้งในอีก 2 สัปดาห์นับจากนี้ แม้ไบเดนจะอยากกดดันให้อิสราเอลลดการโจมตีในกาซาลง แต่สหรัฐฯ ตอนนี้ก็ไม่ได้มีแต้มต่อในการกดดันอิสราเอลมากนัก
อ่านข่าวอื่น :
"ปราโบโว" สาบานตนรับตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซีย
ผู้นำกลุ่มฮูตีประณามอิสราเอลสังหาร "ผู้นำฮามาส"