เกาหลีใต้ นอกจากจะมีภาพจำด้าน Soft Power เช่น ภาพยนตร์ ซีรีย์ เพลงป็อป หรือวัฒนธรรม ยังเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียและอาจจะของโลก
เกาหลีใต้มีนักวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในอัตราส่วน 9,082 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เป็นอัตราส่วนที่มากที่สุดในโลก จากประชากรทั้งหมดประมาณ 51.7 ล้านคน หมายความว่า มีบุคลากรด้านนี้จำนวน 469,536 คนในประเทศเลยทีเดียว
นอกจากนี้เกาหลีใต้ ยังมีการตีพิมพ์งานวิจัยในสาขาฟิสิกส์มากที่สุดในโลก สูงถึงร้อยละ 54.9 จากจำนวนงานวิจัยฟิสิกส์ในฐานข้อมูลโลก
แต่ที่น่าประหลาดใจคือ “ลัทธิทรงเจ้า (Shamanism)” ในเกาหลีใต้กลับมีความนิยมที่พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ระบุ ผู้ประกอบอาชีพคนทรง หรือ “มูซก” มีจำนวนราว ๆ 300,000 - 400,000 คน หรือร้อยละ 1.3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือมีคนทรง 1 คนต่อประชากร 160 คน
เกิดอะไรขึ้นกับชาวเกาหลีใต้ ผิดวิสัยประเทศที่มีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่คนในประเทศยังมีความเชื่อในไสยศาสตร์และมีอัตราการเติบโตสูงเช่นเดียวกัน
เหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ ประชากรไม่นับถือศาสนาใดๆ หรือเรียกว่า “ไม่มีศาสนา” Korea Pastoral Data Institute จัดทำผลสำรวจ Religious Landscape of Koreans พบว่า การนิยามตนเองเป็นคนไม่มีศาสนาของชาวเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 43 ในปี 2004 สู่อัตราร้อยละ 63 ในปี 2023 หมายถึง ประชากรเกินครึ่งหนึ่งของเกาหลีใต้ไม่มีศาสนาไปโดยปริยาย
การไม่มีศาสนา ทำให้ลัทธิคนทรง ที่ไม่ได้จัดตั้งตนเองว่า เป็นศาสนาแบบชัดเจน เป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีศาสนา เพราะเป็นการเลือกโดยสมัครใจ ไม่ได้บังคับโดยการสืบทอดของครอบครัวหรือญาติพี่น้อง
อย่างไรก็ตาม ลัทธิคนทรง ในยุคก่อน มักจะได้รับความนิยมในกลุ่ม Baby Boomers หรือ Gen X ที่ค่อนข้างจะมีอายุ แต่เด็ก ๆ "Gen Z" ในเกาหลีใต้ กลับนิยมที่จะจ่ายเงินเพื่อปรึกษาหรือสอบถามคนทรงเสมือนเป็น “ที่ปรึกษา” มากกว่าที่จะคุยกับผู้ปกครองหรือจิตแพทย์ เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มที่นิยามตนเองว่า "ไม่มีศาสนา" มากกว่ากลุ่มอื่น
โดยกลุ่มประชากรอายุ 19-29 ปี นิยามตนเองว่าไม่มีศาสนาถึงร้อยละ 85 ส่วนกลุ่มประชากรวัย 30 ปีขึ้นไปนิยามตนเองถึงร้อยละ 80
ศาสตราจารย์ ซ็อง แฮ ย็อง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ตั้งข้อสังเกตว่า ศาสนาแบบดั้งเดิม (พุทธ คาทอลิก โปรแตสแตน) ที่เยียวยารักษาจิตใจ และนำพาความสงบมาให้สามารถแทนที่ได้ด้วยยาแพทย์แผนปัจจุบันและการฝึกสมาธิ ขณะที่วิถีปฏิบัติและจริยธรรมก็สามารถแทนที่ได้ด้วยกฎหมายและสถาบบันทางการเมือง หากศาสนาแบบดั้งเดิมหมดพลังลงไป ลัทธิคนทรงก็จะมีพลังขึ้นมา
สอดคล้องกับ คิม ดง กยู ศาสตราจารย์ประจำ K-Religion Academic Expansion Research Center แห่งมหาวิทยาลัยโซกัง เสนอว่า ลัทธิคนทรงไม่มีชั้นวรรณะ ไม่มีหลักคำสอนให้ปวดหัว และให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ทำให้ผู้คนสบายใจที่จะเปิดเผยเรื่องราวของตนเองมากกว่าการเข้าโบสถ์หรือฟังเทศน์ฟังธรรม
คนทรงไม่ได้ผูกขาดความจริงแบบที่ศาสนาทำ เด็ก ๆ Gen Z จึงรู้สึกว่ามีอิสระมากกว่าในการที่จะปรึกษาปัญหาชีวิต ลัทธิคนทรงเป็นเหมือนอีเวนต์หนึ่งที่ผู้คนจะมาขอคำปรึกษาเพื่อบรรเทาทุกข์
ย็อม อึน ย็อง ผู้อำนวยการ The Divination Culture Research Institute เสนอว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนทรงได้รับความนิยม นั่นคือ รูปแบบสังคมที่ต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายของเกาหลีใต้ เป็นส่วนหนึ่งทำให้ผู้คนหันไปพึ่งพาคนทรงเพิ่มขึ้น เพราะชีวิตไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะมีกินมีใช้ มีสถานะทางสังคม หรือมีงานการที่มั่นคงไปได้ตลอด
ในสังคมที่ผู้ชนะได้ทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด ผู้คนกลัวการเป็นคนขี้แพ้ ความหวาดวิตก และความเป็นปัจเจกนิยมในสังคม ทำให้การทำนายหรือพยากรณ์ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
กระนั้น ลัทธิคนทรงก็มีความน่ากลัว เพราะมีการหลอกลวงให้หลงเชื่อ ให้เหยื่อจ่ายเงินจำนวนมาก เช่น การหลอกว่าต้องทำบุญสะเดาะเคราะห์ด้วยเงินก้อนโต โดยเฉลี่ยของเหยื่อจะสูญเงินราว ๆ 260 ล้านวอน (ประมาณ 63 ล้านบาท)
ศาสตราจารย์ ซ็อง แฮ ย็อง ทิ้งท้ายว่า คนทรงก็มีทั้งทายถูกและทายผิด แต่พวกเขาสามารถชี้นำทางความคิดต่อเหยื่อที่มีความเปราะบางทางจิตใจได้ง่าย ขอให้ระวังตัวให้ดี ๆ หากรู้สึกว่าคำแนะนำของคนทรงนั้นดูไม่สมเหตุสมผล
ที่มา: Why shamanism continues to thrive in Korea in age of AI, space exploration
อ่านข่าว
มนุษย์อยู่อย่างไร ? เมื่อ AI กำลังจะ "ครองโลก"
ไทย “สมาชิกบริกส์” เต็มตัว รักษาดุลขั้วอำนาจสหรัฐอเมริกา-จีน
ไม่น่ารัก! แจ้งความเอาผิดนักท่องเที่ยวจีนยิงหนังสติ๊กในสวนสัตว์