วันนี้ (28 ต.ค.2567) คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ประเภทนวนิยาย ระบุในคำประกาศว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นวนิยายเรื่อง “กี่บาด” ของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด เล่าเรื่องของ "แม่ญิง" ช่างทอผ้าแม่แจ่มสามรุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอซิ่นตีนจก
คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567
นำเสนอผ่านโครงเรื่องการต่อสู้และการส่งต่อมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าในบริบทยุคสมัยที่มีความผันแปร โดยใช้กี่ทอผ้าเป็นเสมือนพื้นที่ของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความหมายอันหลากมิติ ทั้งการต่อรองทางเพศสภาพ การต่อสู้กับอคติของจาริต การเก็บงำความทรงจำทั้งดีและร้าย
ด้านศิลปะการประพันธ์ “กี่บาด” มีทั้งขนบวรรณศิลป์แบบดั้งเดิมประสานกับการสร้างสรรค์ใหม่ โดยใช้ศิลปะการทอผ้าและลวดลาย สื่อความหมายและดำเนินเรื่องอย่างมีเชิงชั้น เต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่นนำพาผู้อ่านสู่อารมณ์สะเทือนใจ เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของมนุษย์ แม้จะต้องเผชิญประสบการณ์หรือความทรงจำอันปวดร้าวเพียงไร ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า และถักทอเรื่องราวอันเป็นวัฒนธรรมเรื่องเล่าของมนุษยชาติต่อไป
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ นวนิยายเรื่อง “กี่บาด” ของ ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเเห่งอาเชือน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2567
นวนิยายเรื่อง กี่บาด
อ่านข่าว : เปิดรายชื่อนวนิยาย 8 เล่ม ชิงรางวัลซีไรต์ 2567
รู้จัก “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่น กับการทอผ้าซิ่นตีนจก
กี่บาด” เล่าเรื่องราวของช่างทอผ้า “แม่ญิง” ล้านนา 3 รุ่นที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองของล้านนา เส้นสายลวดลายบนผืนผ้าเปรียบเสมือนกับเรื่องราวชีวิตที่มีบาดแผลและความทรงจำอันเจ็บปวดของตัวละคร กี่บาดซึ่งเป็นชื่อนวนิยายเป็นสัญลักษณ์เปรียบได้กับแผลเป็นที่ย้ำเตือนประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิต เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวการทอผ้ากับเรื่องราวชีวิตของตัวละครได้อย่างน่าติดตาม นอกจากนั้นผ้าซิ่นทอในเรื่องยังเป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อ “พลังความเป็นหญิง” ในครอบครัว
เนื้อหาของนวนิยายแบ่งเป็นสามช่วงใหญ่ตามเรื่องราวของตัวละครหลัก เล่าด้วยสายตาของผู้รู้ผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละรุ่น เริ่มตั้งแต่ส่วนของ “เอวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่หม่อนเฮือนแก้ว” หญิงชราที่เป็นผู้รับและส่งต่อมรดกการทอผ้าจากบรรพบุรุษ ผู้พบกับความรักต้องห้ามในวัยสาว ซึ่งต่อมาต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวและเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจตลอดชีวิต
ตามด้วย “ตัวซิ่น” เป็นเรื่องราวของ “แม่อุ้ยนาค” ลูกสาวของหญิงชราที่ถูกมารดาชัง สุดท้าย “ตีนซิ่น” เป็นเรื่องของรุ่นหลานชาย “บ่าหงส์” ผู้เลือกวิถีชีวิตของตนเป็นหญิงขัดกับเพศกำเนิด และเป็นผู้สืบทอดมรดกการทอผ้าในครอบครัว ซึ่งตามประเพณีวัฒนธรรมของล้านนาสงวนไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น
ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด นักเขียนนวนิยายเรื่อง กี่บาด
ผู้เขียนถักทอเรื่องราวประดุจดังการสอดประสานเส้นใยฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้า ผสมผสานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทอผ้าเข้ากับเรื่องเล่าแนวบันเทิงคดีได้อย่างสอดคล้องและแนบเนียน นำเสนอฉากท้องเรื่องที่มีภูมิหลังทางสังคมและบรรยากาศทางวัฒนธรรมของล้านนาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอเรื่องราวการกดขี่สตรีเพศในครอบครัว รวมทั้งเรื่องเพศวิถีความเป็นชายและความเป็นหญิงกับการก้าวผ่านข้อห้ามทางประเพณีวัฒนธรรมที่สังคมกำหนดการเล่าเรื่องของนวนิยายเป็นไปอย่างเรียบง่าย งดงาม กระจ่างชัดด้วยการใช้ภาษาพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอย่างน่าสะเทือนใจ สร้างความรู้สึกร่วมแก่ผู้อ่าน
สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน
ผืนผ้าที่ร้อยเรียงเรื่องราวผู้คน ความเชื่อ วิถีชีวิต
นายธัญญา สังขพันธานนท์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวถึงมุมมองการนำเสนอเรื่องราวของนวนิยายในลักษณะการสร้างสรรค์ ที่เปรียบเสมือนผ้าทอผืนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความประณีต เป็นการร้อยเรียงสอดร้อยเหมือนกันกับการทำงานของ "กี่" ในการทอผ้า และฝีมือ จิตวิญญาณ ความเชื่อ จารีตประเพณี
เรื่องราวของผู้คนในเรื่องนี้ ก็เหมือนเส้นสายลายสี ลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏเป็นผืนผ้าผืนหนึ่งของแม่แจ่ม คือเรื่องราวของผู้คน ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ วิถีชีวิต รวมทั้งบริบทตามยุคสมัยสังคม ที่ผันแปร
เช่นนวนิยายเรื่องนี้ใช้ฉากหลักตอนหนึ่งเป็นสมัยสงครามโลกครั้งที่่ 2 ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้คนอำเภอเล็กๆ และวิถีชีวิตในเวลาต่อมา ที่สำคัญผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวของคน 3 ชั่วคน รุ่นแม่ รุ่นลูก และรุ่นหลาน สืบทอดต่อกันมา
ธัญญา สังขพันธานนท์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน
ประธานคณะกรรมการตัดสิน ระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจมาก นิยายเรื่องนี้ได้นำเสนอแนวความคิด ความหมาย ที่หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสืบทอด ความเชื่อ จารีตประเพณี โดยเฉพาะวิถีของการทอผ้า ซึ่งแน่นอนอาจจะไม่ใช้สารสำคัญของนวนิยายในฐานะวรรณกรรม แต่นั่นคือตัวเรื่องราวที่ผูกพัน ร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด มีความหมายทั้งในเรื่องของการต่อสู้ เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การต่อรองเรื่องเพศสถานะ
ตามจารีตการทอผ้าเป็นเรื่องของผู้หญิง แต่ผู้เขียนได้สอดใส่แนวคิดที่เปลี่ยนไป นำเรื่องของความหลากหลายทางเพศ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นิยายเรื่องนี้จึงมีความเข้มข้น เป็นพื้นที่ในการต่อรองในการสร้างตัวตนอัตลักษณ์ ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ที่ล้วนต้องต่อสู้ ฝ่าฟัน อุปสรรค
ทั้งนี้ผู้เขียนใช้เรื่องว่า "กี่บาด" กี่ในที่นี้หมายถึงเครื่องมือทอผ้า บาด คือ บาดแผล หรือ ถูกบาด ซึ่งเปรียบเสมือนริ้วรอย ความทรงจำทั้งดีและร้าย เจ็บปวด และขมขื่น และชะตากรรมของตัวละคร ซึ่งทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีการต่อสู้ และเรื่องราวในเรื่องนี้สามารถเปิดโอกาสให้แก่ผู้อ่าน ตีความ หรือสร้างความหมาย ได้อย่างหลากหลายมิติ โดยที่ผู้เขียนไม่ได้เฉลย ไม่ได้บอกทั้งหมด เพียงแต่ได้ทิ้งปมปัญหา ให้ได้ครุ่นคิดต่อไป
นวนิยายเรื่องนี้จึงเสมือนผ้าทอแม่แจ่ม ที่สวดงาม ละเมียดละไม และมีศิลปะ
การเล่นภาษาจุดเด่นนวนิยายร่วมสมัย
ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการตัดสิน ได้ระบุถึง "กี่บาด" ที่ผู้ประพันธ์หาญกล้าที่จะใช้ภาษาถิ่น ทั้งที่ไม่ใช่คนเหนือ แต่เรียนรู้ภาษาเหนือ ไม่ใช่แค่บทสนทนาด้วยภาษาเหนือเพียงอย่างเดียว แต่บทบรรยายด้วย ถือว่าเป็นความท้าทายที่หาญกล้ามาก เป็นการดำเนินเรื่องค่อนข้างเร็ว เป็น 3 ช่วงอายุคน แต่เล่าเรื่องในหนังสือเล่มเดียวที่ไม่ได้หนามาก
การเล่นภาษาเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งของนวนิยายร่วมสมัยที่ไม่ใช่ภาษาไทยเป็นภาษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว
การสร้างสรรค์โครงเรื่อง โดยการนำ 16 ลายผ้าซิ่นของแม่แจ่ม ซึ่งชื่อลายแต่ละชื่อได้นำมาเป็นชื่อตัวบท และแต่ละตัวบทเนื้อเรื่องจะประสานเป็นหนึ่งเดียวกับตัวลายนั้น ๆ
นอกจากนี้ เรื่องเพศสภาพ ที่ถ่ายทอดความปวดร้าวของผู้หญิง และพื้นที่ของผู้หญิงคือการทอผ้า และกี่ที่เหมือนเป็นชีวิตและจิตวิญญาณ แต่ในความเฉพาะและกำจัดขอบเขตนั้น ผู้ใหญ่ในบ้านที่เห็นว่าแม้จะไม่ใช่ผู้หญิง แต่สนใจทอผ้า คนที่มีเพศสภาพที่ไม่ใช่ผู้หญิงก็กลายเป็นคนทอผ้าที่เป็นตัวเอกของเรื่อง
อ่านข่าว :
ส่องทิศทางวงการหนังสือกระเตื้อง 1.7 หมื่นล้าน - "อีบุ๊ก" มาแรง สูงวัยนิยม
เทรนด์ฮาโลวีน 2024 โบกมือลาขยะ "คืนสยองรักษ์โลก" มาถึงแล้ว
"รถไฟลอยน้ำ" เที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2567 เช็กตารางรถ-ราคา