ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผ่าทางตันประเทศไทย แก้ปัญหา "อุทกภัยเรื้อรัง" ยังไกลเกินฝัน

ภัยพิบัติ
30 ต.ค. 67
11:15
3,645
Logo Thai PBS
ผ่าทางตันประเทศไทย แก้ปัญหา "อุทกภัยเรื้อรัง" ยังไกลเกินฝัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อุทกภัย หนึ่งในปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหาย ความสูญเสียในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย น้ำป่าที่ไหลทะลักข้ามแดน และฝนที่ตกหนัก ส่งผลให้ชาวบ้านต้องสูญเสียทรัพย์สิน โดยไม่ทันตั้งตัว และบ่อยครั้งที่อุทกภัยได้พรากชีวิตผู้คนอย่างไม่อาจหวนคืน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต แม้จะมีความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนเรื่องที่พักอาศัย และอาหาร แต่หลังจากน้ำลดลง การฟื้นฟู สภาพพื้นที่ และการเยียวยาความเป็นอยู่ จากภาครัฐ คือ ความจำเป็นเร่งด่วน

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามในการถอดบทเรียนทุกครั้ง หลังน้ำลด โดยการสร้างเครื่องมือ การออกแบบวิจัยในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากหน่วยงานที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุดมศึกษาฯ หรือกระทรวงคมนาคม ทั้ง ๆ ที่ หน่วยงานเหล่านี้มีเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่พร้อม หากไม่สามารถบริหารจัดการน้ำท่วมได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง "เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร" โดยวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอและใช้หลักวิชาวิศวกรรมศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงถอดบทเรียนและเสนอกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับอุทกภัยอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.สุกิจ วิเศษสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบแผนที่เพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ บริษัท จีไอเอส จำกัด เข้าร่วม

ชุมชน-คลองลำเลียงน้ำลงทะเล ปัญหาทับซ้อนน้ำท่วมกทม.

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ กทม.ส่วนใหญ่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำมากกว่าร้อยละ 99.99 ทำให้ง่ายในการบริหารจัดการตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา จึงจะเน้นไปที่การระบายน้ำมากกว่า แต่ปัญหาหลักทุกครั้งเมื่อฝนตกหนัก เส้นทางระบายน้ำจะมีปัญหา เนื่องจากท่อระบายน้ำทุกพื้นที่ ไม่สามารถส่งต่อมายัง "อุโมงค์ยักษ์" ที่มีอยู่จำนวน 4 อุโมงค์ ระยะทางน้ำรวม 19 กิโลเมตรได้อย่างรวดเร็ว สาเหตุเพราะปัญหาขยะอุดตัน แม้กรมราชทัณฑ์จะส่งผู้ต้องขังออกมาลอกท่อให้บ่อย ๆ แต่ก็ไม่เป็นผล

"รถขยะมาเก็บตอนตี 2 แต่ฝนลง ตอนตี 1 ครึ่ง ขยะก็เข้าไปอุดตัน ถุงพลาสติกใบเดียวเลยสามารถทำให้น้ำท่วมกรุงเทพได้ เรามีปัญหาขยะเยอะมาก ... พนักงานกวาดขยะจึงต้องมาแยงท่อ ... ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า เรามีอุโมงค์ใหญ่ขนาดไหน แต่อยู่ที่เส้นทางระบายน้ำที่มีนั้น สามารถลำเลียงและส่งต่อน้ำออกได้รวดเร็วและทรงประสิทธิภาพมากน้อยหรือไม่ และการทุ่มงบประมาณไปที่อุโมงค์ยักษ์อย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบ และปัญหาน้ำท่วม เรื้อรัง บริเวณศาลอาญารัชดา คือ ตัวอย่างที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้" ผู้ว่ากทม. กล่าว

นายชัชชาติ ย้ำว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทับซ้อนอีกขั้น คือ คลองที่ลำเลียงน้ำลงสู่ทะเล เช่น คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นของชุมชน ไล่ก็ไม่ไป จัดสรรที่อยู่ให้ ทำบ้านมั่นคง ก็ไม่ไป ทำให้ยากแก่การเปิดทางระบายน้ำ หรือสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณขนาบข้างคลอง ตรงนี้ เป็นเรื่องของการใช้ศิลปะในการคุยกัน และเป็นเรื่องทาง รัฐศาสตร์ที่ต้องทำให้สำเร็จ และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จะใช้หลักทางวิศวกรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการเจรจาด้วย และทางวิศวกรรมเขาไม่ได้สอนกันเรื่องพวกนี้

ทางออกในการแก้ปัญหา เราต้องการความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) มากกว่าความสงสาร (Sympathy) หมายความว่า เราต้องเข้าใจความรู้สึกของเขา มากกว่าที่จะรับฟังเพียงอย่างเดียว เข้าไปสัมผัส ให้ผู้ประสบภัยด่าว่า จะได้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ผมจึงออกไปลงหน้างาน ตี 1 ตี 2 ตลอด ตรงนี้คือหลักการของผม ประชาชนเป็นเจ้านายเรา การแก้ไขปัญหาจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนประเด็นด้านการจัดการขณะเกิดเหตุ นายชวลิต บอกว่า ควรต้องเข้าใจเส้นทางน้ำในไทยก่อนว่ามีการก่อสร้างอาคารและสถานที่ "ปิดกั้นทางน้ำ" เป็นทุนเดิม ทำให้การบริหารจัดการผ่านการอ่าน "ร่องน้ำ" ในแผนที่เป็นเรื่องยาก อีกทั้งการทำถนนก็ถมสูงขึ้นตลอด แนวก่อสร้างเก่าจึงต่ำกว่าระดับน้ำราว 2-3 เมตร อีกทั้งยังมีการเพิ่มขึ้นของการทำไร่ข้าวโพดทางภาคเหนือ ที่ทำลาย "แนวป้องกันธรรมชาติ" ป่าไม้และแนวดินไปสิ้น ความเข้มข้น (Intensity) การไหลของน้ำจึงเพิ่มมากขึ้น

ทางออกในการบริหารจัดการ คือ การดูแลคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งานให้ได้มากที่สุด พื้นที่น้ำท่วมประเทศไทยอยู่ในแนวคันกั้นน้ำกว่า 4,000 กิโลเมตร หมายความว่า เราอยู่ได้เพราะคันกั้นน้ำ หากสิ่งนี้ไม่ชำรุดทรุดโทรม การเตือนภัย เฝ้าระวัง และอพยพจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายสุกิจ ให้ความเห็นว่า การบริหารจัดการง่ายกว่าการฟื้นฟู เพราะการจะบอกว่าใครเป็นผู้จัดการภัยพิบัติของประเทศไทยนั้นยากมาก ๆ หน่วยงานใดสั่งการ วิธีสั่งการอย่างไร แบ่งงานอย่างไร เป็นเรื่องที่ชวนสงสัย แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้คือ "การสร้างแบบจำลอง (Simulation)" สำหรับการคาดการณ์น้ำท่วมและผลกระทบที่ตามมา โดยใช้ข้อมูลมหาศาลในอดีต ซึ่งสมัยนี้ข้อมูลหาได้ง่ายดายมาก สิ่งสำคัญคือการเลือกใช้วิธีการอธิบายข้อมูลให้เหมาะสม ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการป้องกัน

"ศักยภาพของแบบจำลองน้ำท่วมเพื่อทำให้เห็นผลกระทบขึ้นอยู่กับข้อมูล … เวลาขอข้อมูลจากหน่วยงานต้องเข้าใจก่อนว่าแบบจำลองของเราจะทำอะไร ต้องการข้อมูลร่องน้ำแบบใด … ไม่อย่างนั้นแบบจำลองก็เกิดความผิดพลาด … การอัปเดตข้อมูลมีความสำคัญ"

ด้าน ดร.ธงชัย มองว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมตามหลักวิศวกรรมในการบริหารจัดการน้ำท่วมต้องคำนึงถึง "ความยั่งยืน (Sustainability)" เป็นสำคัญ สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรน้ำก็ท่วมทุกปี ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราจะบริหารจัดการน้ำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

"การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น การสร้างถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่คมนาคมของภาคตะวันออก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือถนนเส้นนี้ปิดกั้นทางไหลของน้ำลงทะเลตั้งแต่อดีต ทำให้บริเวณปากน้ำเกิดน้ำท่วมตลอด ไม่เพียงแต่เฉพาะฝนตกหนัก ต้องกลับมาตอบคำถามให้ได้ว่า ผลดี-ผลเสีย หักลบกันแล้วคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งการจะตอบคำถามได้นั้น ไม่ได้เป็นเพียงหลักวิชาวิศวกรรมอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงเรื่องทางสังคมศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย"

ในฐานะนักวิศวกร ดร.ธงชัย ระบุว่า หลักวิศวกรรมต้องคำนึงเรื่อง ผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) และ ผลตอบแทนทางความยั่งยืน (Sustainable Return on Investment: S-ROI) เป็นสำคัญ มากกว่าจะคิดเรื่องทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร จึงต้องศึกษาให้ครบทุกมิติก่อนการตัดสินใจ

แพลตฟอร์มฝ่าภัยพิบัติ นวัตกรรมทางเลือก จัดการน้ำท่วม

นอกจากการใช้หลักวิศวกรรมศาสตร์ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ยังเสนอให้มีการสร้าง "แพลตฟอร์มฯ จุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room" ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ของการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมอีกด้วย

ศ.ดร.ใจทิพย์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างแพล็ตฟอร์มว่า แม้ใคร ๆ จะสามารถอ่านแผนที่และร่องน้ำได้ก็จริง แต่การจะอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเข้าถึงแผนที่ดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องยาก จุฬาฯ จึงทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา เพื่อทำการชี้จุดเสี่ยงทั้งน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มให้เห็นชัด ๆ เข้าใจได้ง่าย ๆ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการใช้ทำนายพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัยได้อย่างแม่นยำ

โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบ "เว็บไซต์" ไม่ใช่แอปพลิเคชัน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ระบบการเตือนภัยและขอความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงตำแหน่ง ซึ่งจะมาจากการนำเข้าข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อชี้ตำแหน่งเสี่ยงภัย ต่อมา ระบบการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือทางเสบียงอาหาร และเวชภัณฑ์ได้อย่างทันท่วงที และท้ายสุด ระบบการถอดบทเรียนและสร้างการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องหลังจากพ้นอุทกภัยไปแล้ว

"หากการรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ก็สามารถใช้การโฟนอินจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อส่งข้อมูลไว้แล้ว สิ่งสำคัญอยู่ที่การใช้เครือข่ายในพื้นที่ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สอดรับกับแพลตฟอร์ม …ปัญหาน้ำท่วม ถือเป็น ภัยร่วม เร็ว ๆ นี้จุฬาจะเปิด Global Connectors ดึงทุกประเทศเข้ามาร่วมแก้ปัญหาที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะภัยพิบัติ ให้เรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันระหว่างประเทศ ในเร็วนี้เราจะทำให้สำเร็จ" ศ.ดร.ใจทิพย์ กล่าว

ด้านศ.ดร.สันติ กล่าวว่า ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่นำมาใช้งาน ประกอบด้วย ข้อมูลร่องน้ำ ดินโคลนถล่ม และข้อมูลเตือนภัยน้ำท่วม จุฬาฯ เป็นผู้เก็บข้อมูลและพัฒนาด้วยตนเอง หากพบความผิดปกติจากการอ่านภูมิสารสนเทศ จะทำการ "วิดีโอคอล" ไปหาเจ้าหน้าที่แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ไปยังจุดเสี่ยง และเร่งประสานงานให้อพยพหรือหาช่องทางหนีได้อย่างรวดเร็ว

ปัญหาด้านน้ำท่วมในไทยปีนี้ เป็นประเด็นระหว่างประเทศด้วย เพราะเป็นน้ำหลากและดินโคลนถล่มจากเมียนมาร์ ซึ่งที่น่าเสียใจ ที่เราบริหารจัดการน้ำท่วม มองปัญหาเฉพาะภายในประเทศ ทั้งที่ข้อมูลแบบเดียวกันในเมียนมาร์สามารถหาได้เช่นกัน และบางครั้ง ก็ไม่ทราบว่า เหตุเกิดในประเทศมีผลมาจากภายนอกประเทศ ถือเป็นชุดความคิดใหม่ ซึ่งต่อไปจะทำอะไรต้องขยายผลออกไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง