ส่วนหนึ่งของการปาฐกถา หัวข้อ “เศรษฐกิจจีนในมุมมองใหม่” ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง ยังกล่าวว่า ไม่อยากให้ปฏิเสธความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าในภาพรวมระหว่างจีน-ไทยเพียงเพราะปัญหาเฉพาะด้าน
ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย ปาฐกถา “เศรษฐกิจจีนในมุมมองใหม่” เวลา 14.00 น. วันที่ 24 ต.ค.2567 ที่ Best Western Chatuchak เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 6 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์
ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เริ่มจากกล่าวถึงจีนมีระบอบสังคมนิยม รูปแบบระบอบไม่เหมือนสหรัฐฯ และไม่เหมือนสังคมนิยมแบบโซเวียต เป็นระบอบที่รวมหลักปรัชญาสังคมนิยม ความเป็นจีน กับวัฒนธรรมจีน รวมกันเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง
จีนมีกลไกเศรษฐกิจตลาด แต่ก็มีลักษณะของตัวเอง สภาพของจีนมีบางอย่างเหมือน และแตกต่างจากประเทศอื่น
สิ่งที่อยากให้ทุกคนทราบคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนามา 103 ปี มีสมาชิกกว่า 90 ล้านคน พรรคเป็นแกนนำจีน ทำให้จีนก้าวหน้าไปสู่แนวหน้าของโลก ยังคงรักษาจิตวิญญาณแห่งการปฏิรูปและความก้าวหน้าเสมอ
หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของโลกมีปัญหา จีนพบปัญหาเช่นกัน แต่สภาพทั่วไปของเศรษฐกิจจีนถือว่ามีเสถียรภาพ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ จีนมีมาตรการ เช่น ธนาคารกลางจีนออกมาตรการด้านอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน และอัตราส่วนสำรองเงินสด อัดฉีดทุนสนับสนุนการพัฒนาของตลาดทุน และตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน
ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย
ด้านมาตรการทางการเงิน รัฐบาลเพิ่มเติมมาตรการเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาของรัฐบาลท้องถิ่น ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม ลดภาระหนี้ของท้องถิ่น และช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ในสื่อของตะวันตกมีรายงานพูดกันทำนองว่า เศรษฐกิจจีนจะล้ม ไม่วันนี้ก็ในอนาคต ส่วนตัวที่ทำงานในด้านการทูตกว่า 40 ปี พบคำพูดแบบนี้บ่อย เมื่อมองถึงอนาคต เศรษฐกิจจีน มีอนาคตสดใส ได้เปรียบหลายประเทศ
จีนมีอุตสาหกรรมการผลิตที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในโลก และเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีอุตสาหกรรมครบทุกหมวดหมู่ตามการจำแนกประเภทอุตสาหกรรมของสหประชาชาติ
ประเทศจีนมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่มาก มีมูลค่าถึง 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะการนำเข้ามีสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ข้อได้เปรียบของการมีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่พิเศษคือ ไม่ว่าการลงทุนจะสูงเพียงใด
ตราบใดที่ผลจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถเข้าสู่ตลาดได้ การลงทุนจะได้รับผลตอบแทนอย่างแน่นอน สิ่งนี้เองที่สร้างความมั่นใจให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของจีนคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 14 % ของ GDP ประเทศ
สำหรับประเทศไทย ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง ระบุว่า ไทยเป็นมิตรของจีนที่มีสัมพันธ์ยาวนาน และพัฒนาใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไทยเป็น “เพื่อนบ้าน” ที่ดีมาก เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรือโรคระบาด ฝ่ายไทยสนับสนุนจีนมาตลอด เมื่อเกิดโควิด-19 ก็พิสูจน์ความร่วมทุกข์-สุขระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาของจีนสามารถเป็นโอกาสให้การพัฒนาของไทย
ตัวอย่างที่พูดถึงคือ เมื่อ ต.ค.2566 อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไปเยือนจีน พูดคุยเรื่องการเปิดช่องทางที่จีนจะนำเข้าผลไม้จากไทย
ฯพณฯ หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย
จนถึงเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2567 ผลไม้จากไทยชุดแรก ผ่านพิธีศุลกากรที่ท่าเรือกวนเหล่ย มณฑลยูนนาน เปิดช่องทางนำเข้าผลไม้จากไทยเรียบร้อย ตัวอย่างนี้สะท้อนความสัมพันธ์ และทางการจีนตอบรับข้อเสนอของไทย
ช่วงท้ายของการปาฐกถา เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เล่าว่า เร็ว ๆ นี้ ทุกคนคงทราบจากสื่อว่า เกิดการวิจารณ์เกี่ยวกับสินค้า และทุนของจีน จริง ๆ แล้ว การค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่ได้เกิดปัญหาในทุกเวลา บางทีก็เกิดสภาพต่าง ๆ ตามกลไกตลาด บางทีก็เกิดพฤติกรรมผิดกฎหมายด้วย
สิ่งที่อยากให้ทราบคือ สินค้าที่จีนส่งถึงไทย ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ตอบสนองความต้องการด้านการผลิตเพื่อการส่งออกของไทย ส่วนสินค้าในชีวิตประจำวันที่แข่งขันอย่างดุเดือดกับสินค้าไทย และสร้างแรงกดดันให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย
รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและเครื่องสำอาง คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 10 % ของสินค้าจีนที่ส่งออกมายังประเทศไทย บริษัทจีน 1,000 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจภาคการผลิต มีพนักงานคนไทยถึง 90 % พวกเขาสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างกว้างขวางในท้องถิ่น
ส่วนพฤติกรรมผิดกฎหมายบางอย่าง ฝ่ายจีนสนับสนุนไทยเพื่อตรวจสอบเข้มงวดยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน มองว่า ไม่อยากให้นำปัญหาเฉพาะด้าน อย่างเช่นการละเมิดกฎระเบียบบางประการมาเป็นเหตุของการปฏิเสธความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าในภาพรวมระหว่างจีน-ไทย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงปรากฏการณ์สินค้าจีนราคาถูกที่ไหลไปสู่ตลาดทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย จีนมีมาตรการต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร เพราะสินค้าที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อตลาดท้องถิ่นด้วย
ฯ พณฯ หาน จื้อเฉียง ตอบว่า จีนมีระบบเป็นเศรษฐกิจกลไกตลาด เปิดสู่ภายนอก เราเคารพหลักการเศรษฐกิจในระบบกลไกตลาด
หากภายในกระบวนการแลกเปลี่ยนการค้า การแลกเปลี่ยนภายใต้กลไกตลาดเกิดมีปัญหา อยากหาความช่วยเหลือ จีนยินดีมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ หากเกิดปัญหาการกระทำผิดกฎหมาย ผิดกติกา จีนยินดีร่วมมือกับฝ่ายไทยส่งเสริมมาตรการตรวจสอบ
รายงาน : ธนพงศ์ พุทธิวนิช บรรณาธิการวิดีโอคอนเทนต์
อ่านข่าว : 1 ปี ชงกฎหมาย 84 ฉบับ "พรรคประชาชน" ตั้งเป้าทำงานเชิงรุก-เชิงรับ