วันนี้ (6 พ.ย.2567) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยที่บอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา คนอเมริกันให้ความสนใจการเลือกตั้งค่อนข้างมาก ซึ่งรัฐแมสซาชูเซตส์มีคะแนนเสียงเลือกตั้ง 11 เสียง เนื่องจากมีผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร 9 คนและวุฒิสมาชิก 2 คน เช่นเดียวกับรัฐส่วนใหญ่ ซึ่งฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นของพรรคเดโมเครต
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะนี้เป็นนักวิชาการด้านประชาธิปไตยชั่วคราว หรือ Visiting Democracy Fellow มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้ไปสังเกตการณ์จุดลงคะแนน
อ่านข่าว : เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หมู่บ้านแรกนับคะแนน "ทรัมป์-แฮร์ริส" เท่ากัน
ภาพจาก นริศรา คินิมาน
นายพิธา กล่าวว่า ในฐานะอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทย มองการเมืองสหรัฐอเมริกามีทั้งเหมือนและแตกต่างกันกับไทย เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในแต่ละพื้นที่ มีรัฐสวิงเสตทที่มีความเข้มข้นลึกลงไปแต่ละพื้นที่ ซึ่งเหมือนกับการเลือกตั้งไทยในบางพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูสีกัน ขณะที่นโยบายทั้ง 2 พรรคที่จะเกี่ยวข้องกับไทย ส่วนตัวมองว่ามีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นโยบายเศรษฐกิจ ภาษี นโยบายต่างประเทศ ซึ่งแต่ละพรรคมีความแตกต่างกัน
อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังมองว่า ไทยได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง เช่น ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไทยก็ควรเตรียมความพร้อมไว้
เสียงคนไทยในสหรัฐฯ กังวลหลังเลือกตั้ง
ความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง สืบเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ม.ค.2021 กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อการจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อประท้วงการลงมติรับรองผลคะแนนที่ชี้ขาดว่า โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้าเกิดเหตุวุ่นวายนี้ทรัมป์ได้กล่าวปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนหลายพันคนใกล้ทำเนียบขาว โดยย้ำอีกครั้งว่าเขาไม่ยอมรับความพ่ายแพ้และอ้างว่าถูกโกงชัยชนะ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนไปรวมตัวที่อาคารรัฐสภา
อ่านข่าว : ทรัมป์-แฮร์ริส เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใครชนะ “โลกระส่ำ”
ขณะที่บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งปี 2024 ที่ตึงเครียด ทำให้คนไทยในสหรัฐฯ เกิดความกังวล
นิจภารัตน์ พงศ์พีระชัย คนไทยในรัฐแมริแลนด์ ระบุว่า มีความกังวลบ้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปีมีเหตุยิงเกิดขึ้น จึงคิดว่าหากใครคนใดคนหนึ่งได้เป็น ปธน.ก็อาจจะมีคนไม่พอใจ อีกทั้งตนเองอยู่ใกล้กับวอชิงตัน ดีซี ก็รู้สึกเป็นกังวลอยู่พอสมควร
ขณะที่อานุภาพ สินธุสายชล เภสัชกรคนไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า รู้สึกกังวลเช่นกันและคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น แต่เชื่อว่าทางการน่าจะมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
แต่หากพูดเรื่องนโยบายของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2024 แม้ของฝ่ายหนึ่งดูจะเป็นมิตรต่อคนไทยในสหรัฐฯ มากกว่า แต่สำหรับคนไทยที่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันแล้ว นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสหรัฐฯ กลับน่าสนใจมากกว่า
คามาลา แฮร์ริส และโดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
อ่านข่าว : วิกฤตผู้อพยพ-สงคราม ปัจจัยสำคัญเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
อานุภาพ กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากเห็นที่สุดคือความมั่นคงของผู้นำ อยากเห็นเสียงที่ค่อนข้างชัดเจนและแน่นอน แล้วทำตามนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจมั่นคงขึ้น เพราะขณะนี้หลายคนฝันถึงการเป็นชนชั้นกลาง (Middle Class) ที่ตั้งตัวได้จากคนที่ไม่มีอะไรเลย เป็นคนที่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
ขณะที่ เซท ชาตร์ ดวงใส คนไทยในรัฐเท็กซัส เชื่อว่าคนไทยหลายคนที่เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาแล้วอาจจะหางานมากขึ้น ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ค่อนข้างสนับสนุน American First หรืออเมริกาต้องมาก่อน ดังนั้นก็อาจจะช่วยหางานให้คนอเมริกันก่อน รวมถึงเรื่องการลดหย่อนภาษีและเศรษฐกิจที่อาจทำให้คนไทยที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ แล้วอยากได้ตรงนี้ด้วย
ส่วนเรื่องผู้อพยพก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทรัมป์เคยประกาศว่าจะเนรเทศผู้อพยพตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ก็อาจทำให้คนไทยที่อยู่ที่นี่หรือคนอเมริกันเองค่อนข้างกลัว เพราะว่าอาชญากรรมส่วนใหญ่ที่เกิดในขณะนี้คือเกิดจากคนที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
อ่านข่าว
สหรัฐฯ-จีน โจทย์ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47
กระแสแผนปฏิรูป "ทรัมป์" เตรียมจูงมือพันธมิตรเปลี่ยนแปลงประเทศ
มองจุดยืน "ทรัมป์-แฮร์ริส" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ กับความขัดแย้งทั่วโลก