คดีดิไอคอนกรุ๊ป ยังเดินไม่ถึงครึ่งทาง แค่เริ่มต้น “วิฑูรย์ เก่งงาน” ทนายความของ บอสพอลและดิไอคอน กรุ๊ป ก็งัดชั้นเชิงทางกฎหมาย มาช่วยลูกความ ถือเป็นสิทธิในการต่อสู้ทางคดีตามกระบวนการยุติธรรม หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับโอนคดีดังกล่าวจากตำรวจสอบสวนกลาง
โดยรับเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคสอง กรณีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน คดีพิเศษที่ 115/2567 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2567 หลังก่อนหน้านี้ ปปง.ได้ยึดอายัดทรัพย์ของกลุ่มผู้บริหาร ดิไอคอน กรุ๊ป บอส 3 บอสดาราและคนอื่น ๆ รวม 18 คน มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนมีมติเป็นเอกฉันท์ คดีพิเศษที่ 119/2567 เห็นชอบแจ้งข้อกล่าวหาต่อกลุ่มผู้ต้องหา 18 ราย และนิติบุคคล 1 ราย คือ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด (โดย “บอสพอล” นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม) เป็นข้อกล่าวหาที่ 2 คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4,5 หรือกฎหมายแชร์ลูกโซ่, พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19, 20
หากดูรูปแบบการต่อสู้ทางคดีของฝั่งดิไอคอน กรุ๊ป ภายใต้การนำของ “วิฑูรย์” นอกจากการเข้าไปรับข้อมูลและคำสั่งการต่อสู้คดีจากบรรดาเหล่าบอสในเรือนจำแล้ว อีกด้านหนึ่ง ยังมีการนำพยานกลุ่มแรก 20 คน เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ โดยชี้แจงว่า กำลังทำบัญชีรายชื่อพยานจำนวน 2,400 คน และขณะนี้อยู่ระหว่างการแยกแยะว่า พยานแต่ละคน เป็นตัวแทนระดับไหน มีลูกทีมในมือเท่าไหร่ และสะดวกเดินทางไปปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ไหนบ้าง
“ถ้าดีเอสไอ ไม่ให้พยานไปให้ปากคำในพื้นที่อื่น ก็ต้องเรียกทั้ง 2,400 คน มาสอบปากคำที่นี่ทั้งหมด แต่ถ้าดีเอสไอตัดพยานออก ตัวเองก็ต้องไปร้องขอความเป็นธรรมกับกระทรวงยุติธรรม แต่เชื่อว่า ดีเอสไอ ไม่กล้าตัดพยานทิ้ง แม้กระทั่งศาลยังไม่ทำ การตัดพยานทิ้ง คือ การไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ปิดปากผู้ต้องหาไม่ให้สู้คดี” ทนายความของบริษัทดิไอคอน กรุ๊ป ระบุ
ระยะเวลาเพียง 20 วัน นับแต่ฝากขังผัดแรกในเรือนจำครบ 12 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18-29 ต.ค.2567 จนถึงขณะนี้ คดียังคงเดินหน้าต่อไป และมีแนวโน้มว่า กลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด อาจจะยังไม่ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี เนื่องจากถูกแจ้งข้อหาแชร์ฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ อีก 1 คดี
จึงต้องมีการขยายระยะเวลาฝากขังจาก เดิมถูกควบคุม 48 วัน เป็น 84 วัน ขณะเดียวกันดีเอสไอ ยังต้องเร่งทำคดีมือเป็นระวิง ด้วยเหตุพยานหลักฐาน และเอกสารในสำนวนคดีล็อตแรก ขณะนี้มีถึง 200,000 แผ่น และต้องสอบปากคำพยานประมาณ 10,000 คน
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผ.อ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยืนยันว่า การสอบสวนพยานและผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันแน่นอน ทั้งพยานและผู้เสียหายสามารถเข้าให้ปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ทุกพื้นที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็นหนังสือส่งเข้ามาได้ จึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ทัน
โดยเฉพาะการสอบปากคำพยาน ต้องมีหลักฐานมากน้อยแค่ไหน เพียงใด ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน แต่เจ้าหน้าที่จะต้องดูจำนวนพยานทั้งหมด ซึ่งทางทนายจะต้องทำบัญชีพยานส่งมา เช่น ผู้เสียหายจำนวน 2,400 คน มีใครบ้าง อยู่ที่ไหน และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นไหน จากนั้นต้องพิจารณาร่วมกันว่า จำเป็นจะต้องสอบทั้งหมดหรือไม่ เช่น ข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกัน หากพยานพันคนตอบเรื่องเดียวกันหมด ก็ไม่จำเป็นต้องสอบทั้งหมด
“การต่อสู้ของทนายและผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 18 คน เป็นสิทธิตามกฎหมาย และคดีนี้มูลค่าความเสียหายสูง หากเขาเชื่อว่า ไม่ได้ทำความผิดจริง ก็ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เช่น มีธุรกิจที่ทำได้จริง มีรายได้ ขายสินค้าได้จริง ก็สามารถใช้คำให้การพยานเท่าที่พิสูจน์ได้ ทั้งหมดอยู่ที่พยานหลักฐานว่า มีคุณค่าในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในประเด็นไหนบ้าง”
พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเจอคดีแชร์ลูกโซ่ในลักษณะแบบดิไอคอน กรุ๊ป และไม่สามารถนำคดีพิเศษที่เป็นคดีแชร์ลูกโซ่อื่น ๆ มาเปรียบเทียบกันได้ ไม่ว่าจะเป็น แชร์ลูกโซ่ฟอร์เร็กซ์-3D และคดีแชร์อื่น ๆ
คดีแชร์แต่ละประเภทจะมีลักษณะเฉพาะมีข้อเท็จจริงต่างกัน แม้ข้อกฎหมายที่ใช้ดำเนิน คดีจะเป็นแชร์ลูกโซ่เหมือนกันก็ตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดี เช่น คดีแชร์ลูกโซ่ฟอร์เร็กซ์ เป็นเรื่องของการเทรด ซึ่งไม่เหมือนการขายสินค้าของดิไอคอนกรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม สำหรับการต่อสู้คดีของกลุ่มผู้ต้องหา ในประเด็นสินค้ามีขายใช้ได้จริงและมีผู้บริโภคจริง ถือเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย เขามีสินค้าจริง มีการขาย มีปิรามิดและโครงสร้างในการขาย ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหาจะนำมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์
แต่พนักงานสอนสวนก็ต้องฟังทั้งสองฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่ตำรวจและดีเอสไอสอบสวนมาแล้ว รวมทั้งพยานฝั่งผู้เสียหาย โดยต้องเอาน้ำหนักมาชั่งทั้งสองฝั่ง และพยานหลักฐานที่มีว่า เขาแก้ข้อกล่าวหาได้หรือไม่ พนักงานสอบสวนก็จะสั่งคดีไปตามนั้น
“การสั่งการสู้คดีจากในเรือนจำของกลุ่มบอส ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริง แต่ในทางคดี ข้อเท็จจริง คือ ตามกฎหมาย ทนายความของผู้ต้องหากับผู้ต้องหา สามารถคุยกันได้อยู่แล้ว ส่วนการวางแผนสู้คดี เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ส่วนจะใช้วิธีการสั่งการจะควบคุมจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของทนายความกับผู้ต้องหา” พ.ต.ต.วรณัน กล่าว
ส่วนการทำคดีดังกล่าวในขณะนี้ นอกจากจะมีการระดมสรรพกำลังของดีเอสไอ เร่งทำคดีให้เสร็จทันล็อตแรกแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเจ้าหน้าที่สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สคส.) เข้ามาช่วยให้ความเห็นทางคดี ในฐานความผิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงฯหรือแชร์ลูกโซ่ ใน 3 ประเด็นหลัก คือ การโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนเท่าไร, มีการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือไม่ และไม่ได้ประกอบอาชีพการซื้อขายจริง แต่นำเงินมาจากที่อื่นมาจ่ายให้กับผู้เสียหายหรือไม่
บทบาทหลักของเจ้าหน้าที่สำนักเศรษฐกิจการคลัง คือ การวิเคราะห์แผนการตลาด และดูในเรื่องดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในช่วงที่สถาบันการเงินให้กู้ในช่วงเกิดเหตุ ...ซึ่งเห็นว่า มีการกระทำในเรื่องอัตราดอกเบี้ยสูง และจากองค์ประกอบทั้งหมด เชื่อได้ว่า เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และฉ้อโกงประชาชน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า พนักงานสอบสวนจะเข้าไปแจ้งข้อหาใหม่กับผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 18 คน ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งผู้ต้องหายังมีสิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ได้ 2 ช่องทาง คือ แก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจา และแก้ข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ถือ เป็นสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์
และเมื่อพนักงานสอบสวน ทำสำนวนเสร็จสิ้นก็จะส่งสำนวนให้อัยการ หากอัยการเห็นด้วยก็สั่งฟ้อง ต้องฝากขังต่อ หรือหากอัยการจะสั่งสอบเพิ่ม ก็เป็นเรื่องของอัยการ ในส่วนของพนักงานสอบสวนทำตามหน้าที่ดูเรื่องสำนวนกับพยานหลักฐานเป็นหลัก
ส่วนการแจ้งการแจ้งข้อหาฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 นั้น จะต้องพิจารณาเป็นรายกรรม ดูรายละเอียดและเส้นทางเงิน อาจต้องใช้เวลาเล็กระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ข้อหาฉ้อโกงประชาชนที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งผู้ต้องหาไว้ ถือว่าเข้ามูลฐานความผิดอยู่แล้ว จึงต้องตั้งพนักงานสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐานเบื้องต้น หลังจากมีการยึดอายัดที่ดินย่าน จ.ปทุมธานี จำนวน 63 ไร่ ซึ่งดีเอสไอได้ทยอยส่งให้กับ ปปง.ไปแล้ว และล่าสุดได้มีการยึดเพิ่มอีกจำนวน 78 ไร่
ข้อมูลล่าสุดจากดีเอสไอ ระบุว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (6 พ.ย.) ดีเอสไอจะประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อวิเคราะห์งบดุล ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์แผนประทุษกรรม ซึ่งตำรวจมีข้อมูลอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว และอีกส่วนหนึ่งดีเอสไอได้มาจากการเข้าไปตรวจค้นในบริษัท เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
“ตอนนี้เราให้ความสำคัญกับข้อมูลในระบบหลังบ้านของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปที่กำลังจะดึงออกมา และต้องเร่งรัดเข้าไปดำเนินการ ขณะนี้ไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวนคดี” พ.ต.ต.วรณัน ทิ้งท้าย
อ่านข่าว : หอการค้าชี้ “ลอยกระทง” อินเทรนด์ เงินสะพัดหมื่นล้าน สูงสุดรอบ 9 ปี
“พริษฐ์” จ่อพบ กกต.28 พ.ย.หารือทบทวนวันเลือกตั้ง อบจ.
งานวัดภูเขาทอง 2567 สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ร่วมประเพณีห่มผ้าแดง