ปฏิเสธไม่ได้ว่า การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ด้วยบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ (Unpredictable) จึงทำให้หลายภูมิภาคต่างหวาดหวั่นแนวต่อนโยบายต่าง ๆ ซึ่งหลายประเทศเคยเผชิญมาแล้ว เมื่อทรัมป์ ขึ้นมากุมบังเหียนในสมัยแรก
"เอเชียตะวันออก" ถือว่า ได้รับผลกระทบหนักที่สุดภูมิภาคแห่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็น "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ลุกลามไปถึง "สงครามชิป" ของสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเรื่อง "ปุ่มกดนิวเคลียร์ใครใหญ่กว่ากัน" ของทรัมป์-คิม รวมทั้งญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบทางการค้าจากแคมเปญ "ทรัมป์ 2.0" ทำให้เสียดุลต่อสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ด้วยความที่มีขนาดตลาดกว่าร้อยละ 25 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก (ประมาณ 2.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4.5 ต่อปี แทบจะมากที่สุดในโลก และประเทศไทยในฐานะคู่ค้ารายสำคัญของภูมิภาคนี้ โดยส่งออกคิดเป็นร้อยละ 21.33 จากจำนวนการส่งออกทั้งหมด
America First เอเชียตะวันออก "ปรับการค้า-ความมั่นคง"
ไทยพีบีเอส ออนไลน์ สัมภาษณ์ "ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ" อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ และกรรมการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นดังกล่าว
"การเถลิงบัลลังก์ของทรัมป์ แม้จะสร้างความกังวลจาก "บุคลิกลักษณะส่วนบุคคล" ของทรัมป์ แต่เมื่อพิจารณา "โครงสร้าง" ของระบบการเมืองสหรัฐฯ จะพบว่า แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต่อเอเชียตะวันออก เนื่องจาก สิ่งที่สหรัฐฯ มีเหนือกว่ามหาอำนาจอื่น ๆ เช่น จีน รัสเซีย หรือสหภาพยุโรป คือ "การสร้างพันธมิตรถาวรอย่างเป็นระบบ" หรือ "Systematic Alliances" ทำให้แม้ผู้นำของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนหน้าไปมากเท่าไร มาจากเดโมแครตหรือรีพับลิกันก็ตาม แต่หลักการที่สหรัฐฯ สร้างเสริมมายาวนานและต่อเนื่องนี้ จะทำให้เกิดความจงรักภักดี และยอมหยวน ๆ ให้ในบางครั้ง" ศ.ดร.นภดล เปิดประเด็น
และวิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ต่อเอเชียตะวันออกในฐานะ "ผู้สร้างสมดุล" ไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ มายาวนาน ทั้งในด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในด้านความมั่นคง เห็นได้จากการเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นในปี 1947 หรือการรบพุ่งในสงครามเกาหลีต่อโซเวียตและจีน รวมไปถึงจีน แม้ปัจจุบันจะมีปัญหาและความขัดแย้ง แต่สมัย "สาธารณรัฐจีน" ที่นำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง มรดกปฏิวัติของ ซุน ยัต เซน สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มสตรีม
ในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จีนถือว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 1 ของสหรัฐฯ จากจำนวนประชากรและกำลังซื้อที่มหาศาล และยังลงทุนและตั้งฐานการผลิตในจีน ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือไต้หวัน ที่สหรัฐฯ ลงทุนใน "เซมิคอนดักเตอร์" และ "ไมโครชิป" สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ยังไม่รวมกับการให้เงินช่วยเหลือทั้งแบบเงินกู้และให้เปล่าต่อทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อช่วยยกระดับเศรษฐกิจให้กลายเป็น "มหาอำนาจกลาง (Middle Great Power)" ของโลก
บทบาทผู้สร้างสมดุลของสหรัฐฯ ในประเด็นความมั่นคงและเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ทำให้เอเชียตะวันออกมีเสถียรภาพและความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้ภูมิภาคนี้มีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก เห็นได้จากจีนและรัสเซีย ที่ต้องสงวนท่าทีเวลาดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อเอเชียตะวันออก เช่นเรื่องนิวเคลียร์หรือการสนับสนุนเกาหลีเหนือ
ศ.ดร.นภดล บอกว่า สิ่งนี้ อาจจะเรียกได้ว่าสหรัฐฯ "สร้างบารมี" ต่อเอเชียตะวันออกอยู่พอสมควร พันธมิตรถาวรจึงเกิดขึ้น ไม่เหมือนกับจีนหรือรัสเซีย ที่เป็นพันธมิตรเพื่อผลประโยชน์และวัตถุประสงค์บางอย่าง พอบรรลุแล้ว ก็แยกย้ายกันไป แต้มต่อนี้ ส่งผลให้ความแตกต่างทางรายละเอียดของแนวนโยบายการต่างประเทศของเดโมแครตและรีพับลิกัน เช่น เดโมแครตจะเน้นการรักษาคุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชน การเป็นพ่อพระรักษาความสงบของโลก ส่วนรีพับลิกันจะเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ปกป้องตลาดของตนเอง แทบไม่มีความหมายในเวทีโลก
การซ้อมรบ การสร้างความร่วมมือทวิภาคี หรือพหุภาคี ย่อมมีมาเรื่อย ๆ แม้แต่อินเดีย ประเทศมีแววเป็นมหาอำนาจ ยังมาร่วมกับสหรัฐฯ ในความร่วมมืออินโดแปซิฟิก จากแต่เดิมที่เป็นเอเชียแปซิฟิกเฉย ๆ
โดยการก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินของทรัมป์ มีความพิเศษจากผู้นำรีพับลิกันทั่วไป คือ "การหันกลับมามองตนเอง" มากขึ้นของดินแดนแยงกี้ จากแนวนโยบาย America First และ Make America Great Again ส่งผลให้เอเชียตะวันออกที่เคยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน ต้องปรับตัวอีกครั้ง รวมไปถึงประเด็นความมั่นคงที่จะต้องดูแลกันเองมากขึ้น
ทรัมป์ "เล่นฉีก" รักษาดุลอำนาจ "เกาหลีเหนือ-ใต้"
นักวิชาการคนเดิม มองว่า แม้จะเข้าใจได้ว่า บทบาทของสหรัฐฯ ใน "ภาพย่อย" จะต่างกันไปตามพรรคการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจ แต่ว่า "ภาพใหญ่" ไม่เปลี่ยนแปลง ในฐานะผู้สร้างสมดุลและพันธมิตรถาวรอย่างเป็นระบบ การเข้ามาของทรัมป์ย่อมสะเทือนสถานะดังกล่าวของสหรัฐฯ ไม่มากก็น้อย
มีความกังวลก็จริง แต่ก็มีทางออก สังเกตจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์สมัยแรก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เหลือเชื่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อ ชินโซะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น ที่ทำให้การลงทุนของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นในดินแดนซามูไร และไม่เสียดุลการค้ามากนัก
แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือ การที่ทรัมป์ยอมเจรจาสันติภาพกับ คิม จอง อึน สุดยอดผู้นำแห่งเกาหลีเหนือ และเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ข้ามเส้นขนานที่ 38 แบ่งระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ เมื่อปี 2018-2019
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะทรัมป์เป็นผู้นำสาย "เล่นฉีก" มีความหวือหวา ไม่สนหลักการ อุดมการณ์ หรือจุดยืนใด ๆ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางของตนเองเสมอตามสมควร
จริง ๆ การเมืองภายในของเกาหลีใต้ การขึ้นมาของประธานาธิบดี มุน แจ อิน ที่อยากให้เกิดสันติภาพสองเกาหลีมีส่วนก็จริง แต่ทรัมป์เองก็รับลูก ยอมเจรจากับคิมถึง 3 ครั้ง และยอมไปเยือนเกาหลีเหนือ แม้การเจรจาจะล้มเหลว แต่แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์มีแนวโน้มจะพูดคุยได้เสมอ หากนำเสนออะไรแปลกใหม่มากพอ
แต่ ศ.ดร.นภดล เตือนว่า ให้ระวัง คิม จอง อึน ไว้มาก ๆ เพราะคิมในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต และการที่คิมยอมคุยกับทรัมป์เพราะบริบททางการระหว่างประเทศของเกาหลีเหนือขณะนั้น "เป็นรอง" สหรัฐฯ อยู่มาก จากการที่รัสเซียคว่ำบาตร ทำให้เกาหลีเหนือหัวเดียวกระเทียมลีบ จำเป็นต้องหาพวกพ้องเพื่อประกันความมั่นคงของตนเอง แต่ตอนนี้ รัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเกาหลีเหนือ ทำให้เกาหลีเหนือกล้าที่จะดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวต่อประชาคมโลก สังเกตได้จากการยิงหัวรบนิวเคลียร์ที่เพิ่มมากขึ้น
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไปเยือนเปียงยาง จากเดิมที่บ่ายเบี่ยงมาตลอด แสดงให้เห็นว่า รัสเซียให้ความสำคัญต่อเกาหลีเหนือมากขึ้น การคว่ำบาตรจึงยุติไปโดยปริยาย และอาจจะทำให้สหรัฐฯ เจรจาสันติภาพในเอเชียตะวันออกได้น้อยลง
ส่วนเกาหลีใต้ พันธมิตรถาวรสำคัญที่เป็นหน้าด่านสำคัญของการเจรจาสันติภาพมาโดยตลอด มีประธานาธิบดีที่ชื่อ ยุน ซ็อก ยอล ที่มีบุคลิกลักษณะแทบจะถอดแบบทรัมป์มาเลย ไม่อภิรมย์กับเพื่อนบ้านทางฝั่งเหนือมากนัก โดยจัดให้เป็นศัตรูคู่อาฆาต ต้องทำลายให้สิ้น ทำให้เป็นงานยากของสหรัฐฯ ไปอีกขั้น
ร.ศ.ดร.นภดล มองว่า การแพ้เลือกตั้งของพรรคเสรีประชาธิปไตยญี่ปุ่น หรือ LDP ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ มายาวนาน ยิ่งทำให้เกิดงานยากในขั้นสูงสุด เพราะขออะไรก็ไม่ได้เหมือนเคย แม้นายกฯ จะชื่อว่า ชิเกรุ อิชิบะ จากพรรค LDP ก็ตาม แต่หากทำอะไรที่ออกนอกหน้ามากเกินไป สภาจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ และยื่นถอดถอนได้โดยง่าย
ดังนั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกจึงต้องเฝ้าระวังการกระทำของคิมให้มาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง วันดีคืนดีจะเกิดความแข็งกร้าว กระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคเมื่อไรก็ไม่อาจทราบได้
อาเซียนอ่อนแอ "อินโดนีเซีย-เวียดนาม" เพื่อนบ้านอันตราย
สิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออก ย่อม "กระทบชิ่ง" กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสองภูมิภาคนี้เป็นคู่ค้ากันมานาน โดยมีผลประโยชน์ต้องกัน เอเชียตะวันออกได้ฐานการผลิตราคาถูกเพื่อส่งออกให้ได้ดุลกับสหรัฐฯ ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ความร่วมมือกับเอเชียตะวันออกเพื่อสร้างการค้าเสรีต่อสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่
แต่ ศ.ดร.นภดล บอกว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีการรวมกลุ่มอาเซียน แต่จริง ๆ กลับอ่อนแอมาก แต่ละประเทศต้องการแข่งขันกันเอง จึงต้องพิจารณาเป็นรายประเทศว่า พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลังทรัมป์ขึ้นปกครองสหรัฐฯ อย่างไร
การขึ้นภาษี กีดกันทางการค้า และดึงทุนสหรัฐฯ กลับมาตุภูมิ จะทำให้กลุ่มทุนสหรัฐฯ หรือกลุ่มทุนเอเชียตะวันออก ที่ลงทุนในจีน ต้องหาฐานการผลิตใหม่ ๆ แน่นอน อาเซียน คือ หนึ่งในแคนดิเดต แต่เขาจะเลือกประเทศที่พร้อมและดึงดูดเท่านั้น ไม่ได้ตัดสินใจจากการมีความร่วมมือในภูมิภาค
ศ.ดร.นภดล ระบุว่า อินโดนีเซียและเวียดนาม มีความพร้อมมากที่สุด เพราะอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่ม G20 รวมถึงมีตลาดขนาดใหญ่มากพอที่จะรองรับการขายในประเทศ ส่วนเวียดนามมีผู้นำมาเยือนมากที่สุด มีการตกลงทางการค้ามากที่สุด ส่งผลให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกได้โดยง่าย ยังไม่นับรวมกับมาเลเซีย ที่มีจุดเด่นเรื่องทุนทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีระดับสูง
ทั้งหมดนี้คือ "เพื่อนบ้านอันตราย" ที่ไทยต้องพิจารณาดี ๆ ว่าจะเอาอะไรไปแข่งขันกับพวกเขา การคิดแบบผลประโยชน์เป็นที่ตั้งของทรัมป์ ไม่มีทางเลยที่จะให้ความสำคัญกับประเทศไทย
ทางรอดไทย "สร้างฐานธุรกิจท้องถิ่น" หนีทุนจีน
ในเมื่อไทยแทบจะไม่มีแสงสาดส่องจากการขึ้นมาของทรัมป์ คำถาม คือ ไทยจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ศ.ดร.นภดล อธิบายว่า นอกจากไทยจะมีความดึงดูดทุนที่หนีจากจีนน้อยแล้ว ตลาดส่งออกไปยังเอเชียตะวันออก ยังส่งสินค้าที่ไม่สามารถทดแทนกับสิ่งที่เอเชียตะวันออกส่งไปยังสหรัฐฯ ได้ หมายความว่า แม้สินค้าเอเชียตะวันออกจะเสียดุล แต่สินค้าไทยที่ราคาถูกก็ไม่สามารถทำให้เอเชียตะวันออกเลือกส่งไปแทนที่สินค้าของตนอยู่ดี
สินค้าที่ไทยผลิตได้มากที่สุดประเภท "สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีปานกลาง" เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป หรือรถยนต์ ยังถูกสินค้าจีนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่มีการประหยัดต่อขนาด หรือ Economies of Scale ที่มากกว่าไทย จากการขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน TEMU ซึ่งทุกคนเห็นราคาแล้วต้องทึ่ง และอาจทำให้ไทยจะเสียดุลการค้าให้แก่จีนเพิ่มมากขึ้นไปอีกขั้น
ดังนั้น แม้จะเสียเปรียบ แต่ไทยต้องหันกลับมาสร้างแรงดึงดูดทุนหนีจีนให้มากยิ่งขึ้น คือ การทำให้ธุรกิจท้องถิ่นของไทย ไม่เสียเปรียบด้านการแข่งขันต่อจีนที่กำลังเพลี่ยงพล้ำต่อนโยบายของทรัมป์ และยังทำให้เกิดการจ้างงานมากยิ่งขึ้นในประเทศ
ศ.ดร.นภดล ทิ้งท้ายว่า ในระยะสั้นแล้ว ไทยไม่มีทางสร้างแรงดึงดูดได้มากพอเหมือนเพื่อนบ้าน แต่ไทยได้เรียนรู้จากการเถลิงบัลลังก์ของทรัมป์ในสมัยแรกแล้วว่า มีลักษณะและสภาพการณ์อย่างไร ซึ่งแนวทางไม่แตกต่างกันมาก และอาจจะหนักกว่าเดิม เพราะเป็นการดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายของทรัมป์ ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่กำหนดวาระไว้ให้เพียง 2 สมัย
ดังนั้น จึงอยู่ที่ผู้กำหนดนโยบายของไทยว่าจะสร้างการเจรจาที่สอดรับกับทรัมป์สมัยสองได้มากน้อยเพียงใด แต่แน่นอนว่า ประเทศอื่น ๆ ย่อมเรียนรู้ไม่แตกต่างกัน