ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เศรษฐกิจไทย 2025" มรสุมรอบใหม่ โจทย์ใหญ่ "สงครามการค้า"

เศรษฐกิจ
14 พ.ย. 67
17:00
2,143
Logo Thai PBS
"เศรษฐกิจไทย 2025" มรสุมรอบใหม่ โจทย์ใหญ่ "สงครามการค้า"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“เผาจริง”เป็นวาทะกรรมที่ นักวิชาการ -นักธุรกิจ-นักลงทุน และรัฐบาลได้ออกมาเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเผาจริง ตั้งแต่ช่วงปี 2566-2567 ถึงปัจจุบัน ถือหนักหนาสาหัสพอสมควรจากมรสุมรุมรอบรอบด้าน ปัญหากำลังซื้อภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤตโควิด ภาวะหนี้ครัวเรือน เงินเฟ้อ การท่องเที่ยวที่กระเตื้องเพียงเล็กน้อย และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ มีบริษัทหลายแห่งต้องปิดตัวลง และย้ายฐานการผลิต  รวมทั้งการส่งออกสินค้าด้านการเกษตรที่ยังต้องลุ้นทุกไตรมาส

ยังไม่รวมปัจจัยภายนอก ชนวนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าระหว่างประเทศ นโยบายการค้าของสหรัฐฯหลังโดนัลด์ ทรัมป์ หลังได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัย 2 ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะ มาตรการภาษีและการกีดดันทางการค้า รวมทั้งการนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากต่างประเทศ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวช่วงหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Navigating Economic Challenges : The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง” ว่า การลงทุนในประเทศไทยขาดความต่อเนื่อง เห็นได้จากปี 2566 ที่การลงทุนลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของจีดีพี ส่งผลให้เศรษฐกิจโตลดลง

จีดีพีเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.9% เท่านั้น ขณะที่ในปี 67 คาดว่าจีดีพี จะขยายตัวได้ที่ 2.7% ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา”ณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.7-0.8% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน และสะท้อนไปยังสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ 89-90% ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้าน รถยนต์

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนน่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับผู้ประ กอบการ SME ก็กำลังประสบปัญหามีหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รัฐจำเป็นต้องเร่งนำงบประมาณมาอุดหนุนจุนเจือ เพื่อทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ 65-66% ของจีดีพี หรือเกือบ 12 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 18-19 ล้านล้านบาท จากเพดานหนี้ที่ 70% ของจีดีพี สะท้อนว่าพื้นที่ทางการคลังของรัฐบาลมีอยู่ค่อนข้างจำกัด

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Navigating Economic Challenges : The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง”

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Navigating Economic Challenges : The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง”

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Navigating Economic Challenges : The Future of Fiscal Policy ฝ่าพายุเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายการคลัง”

เน้นวินัยการคลัง ชี้รัฐบาลมีหนี้เพิ่มได้อีกแค่ 3 ลล.

นายพิชัย  กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลยังเหลือความสามารถในการกู้เงินเพิ่มเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มการลงทุนได้อีกราว 3-4% เท่านั้น คิดเป็นวงเงินที่ 3 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี หรือเฉลี่ยรัฐบาลสามารถกู้เพื่อชด เชยขาดดุลได้ปีละ 7.5 แสนล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5%

ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล จำเป็นจะต้องคำนึงถึงวินัยทางการคลังให้มากขึ้น เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินเยอะ สร้างหนี้เยอะ ก็ต้องสร้างวินัยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราตั้งกติกาว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี

วันนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 65-66% โอกาสในการจะกู้เงินเพิ่มในอีก 4 ปีข้างหน้าเหลือน้อยลง คือหมายความว่ารัฐบาลจะมีหนี้เพิ่มได้อีก 3 ล้านล้านบาทเท่านั้น โดยหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 15 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี รัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน

นายพิชัย กล่าวว่า หากรัฐบาล และเอกชน ต้องการจะเห็นตัวเลขจีดีพีขยับขึ้นตามเป้าจะต้องช่วยกันทำให้จีดีพีขยับขึ้นไปเป็น 3-3.2% และอัตราเงินเฟ้อ 2% หรือมากกว่า แม้จะตั้งกรอบไว้ในใจที่ 1.2-1.8% ซึ่งหากทุกฝ่ายช่วยกันก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพคล่องจำนวนมาก แต่ไม่มีการลงทุน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทุกคนทราบดี ไทยจึงเหมือนเศรษฐี ฐานะดีแต่ไม่เห็นอนาคต เพราะไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะเดินไปทางไหน

เดินหน้า Entertainment Complex ดูดเงินนักท่องเที่ยว

ตอนนี้ ไทย กินบุญเก่า แต่เมื่อวันหนึ่งก็ต้องหมดเวลา แม้ภาพการส่งออกจะยังเป็นเครื่องยนต์ที่ทำงานผลักดันเศรษฐกิจได้ แต่หากยังเป็นการส่งออกในรูปแบบเก่า เทคโนโลยีเดิม ๆ ไม่มีการลงทุนใหม่ เครื่องจักรใหม่ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา

ดังนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลจึงเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการลงทุน ทั้งการเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลต้นทุนพลังงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนต่าง ๆ เช่น Entertainment Complex โดยต้องสร้างจุดไฮไลท์ในการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เงินมากขึ้น การวางแผนระบบน้ำ การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่าง ๆ โดยการดำเนินการทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณภาครัฐอย่างจำกัด ดังนั้น การใช้เงินในส่วนนี้ก็ต้องมาจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการโดยบรรจุไว้ในแผนงบประมาณ คือ การเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เดินหน้านโยบายเศรษฐกิจสีเขียว หรือพลังงานสีเขียว และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุน

ขณะเดียวกัน ยังต้องวางระบบการออมเงินในประเทศ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันผู้สูงวัยยังไม่มีเงินออมรองรับจำนวนมาก ตลอดจนลดระบบการทำงานที่ซ้ำซ้อนของภาครัฐ ปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

สงครามการค้า "เข้มข้น" กระทบไทยระยะสั้น

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจมหภาคปี 2025 ว่า การเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจโลกใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัย 2 ซึ่งนโยบายที่ ทรัมป์ ประกาศไว้จะทำตามสัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอเมริกามาก่อน ( America First)การปิดพรมแดนระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก ลดภาษี ลดกฎระเบียบ และที่สำคัญ คือ การขึ้นภาษีนำเข้า สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และทำให้อเมริกากลายเป็นเมืองหลวงคริปโทฯของโลก รวมถึงทำให้สงครามยุติลง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

สำหรับผลกระทบต่อไทยระยะสั้นจะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ และทำให้ค่าเงินสหรัฐกลับไปจุดเดิม ส่งผลให้เงินบาทอ่อนลงไป และทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ ลดช้ากว่าที่คิดไว้ และสะท้อนให้เห็นภาพว่า เงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยลดลงช้าลง และหลังจากนั้นทำให้ค่าเงินสหรัฐที่เคยอ่อนลงไปกลับมาแข็งค่าอีกทีหนึ่ง และส่งผลต่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ด้วย จึงทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงน่าจับตามองสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั่วโลก

หลัง ทรัมป์ รับตำแหน่งการกีดกันทางการค้า สงครามการค้าจะมาเกิดขึ้นและเข้มข้นกว่าเดิม แต่เมื่อสหรัฐลดดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ ดีขึ้น

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งสินทรัพย์จะพองเกินไป ธนาคารกลางก็ต้องคิดหนักจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร หลังจากนั้นเป็นช่วงที่เริ่มต่อสู้ เชื่อว่าหากผ่านไป1-2ปี ตัวเศรษฐกิจของสหรัฐก็จะอีกเฟสหนึ่ง”

2 ยักษ์ใหญ่ “ ขัดแย้ง” โอกาสทองอาเซียน

อย่างไรก็ตาม นายกอบศักดิ์ เชื่อว่า ไทยจะสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนจะเตรียมการอย่างไรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจโลกใหม่จะมองแค่ 4 ปีไม่ได้ แต่ต้องมองให้ทะลุหลังปี 2029 หลังจาก ทรัมป์ หมดวาระ ทำให้โจทย์ของไทย คือ เตรียมการรับมือหลังจากนั้นมากกว่า

ไทยควรทำเรื่องสำคัญ โจทย์ของไทย คือ เศรษฐกิจไทยโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรคิดว่า ทำอย่างไรให้ไทยโตขึ้นอีกครั้งจะปรับโครงสร้างอย่างไร และต้องเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และแก้ปัญหาโลกร้อน และการแข่งขันในตลาดอาเซียนด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดคือ การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่รัฐบาล และบริษัทต่าง ๆ ต้องช่วยกัน

ส่วน ความขัดแย้งทางการค้าของผู้นำโลกทั้งสหรัฐและจีน เป็นโอกาสของอาเซียน จึงต้องพยายามดึงดูดการลงทุนเข้าไทย หยิบฉวยโอกาสอาเซียนมาเป็นของไทยได้อย่างไร และโลกที่กำลังเปลี่ยน ทำอย่างไรให้บริษัทไทยไปอยู่ต่างประเทศ ทำให้ไทยเข้มแข็ง และที่สำคัญที่สุด ใช้ 4 ปีนี้ที่โลกจะสงบขึ้นให้คุ้มค่าที่สุดในการเตรียมการ เชื่อว่า ไทยจะสามารถผ่านความท้าทายก้าวสู่บริบทเศรษฐกิจโลกใหม่ได้

แนะรัฐเร่งทำแผนหลักรับภาวะ “ โลกรวน”

ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน หัวข้อ รับมือโลกรวนอย่างไร ให้เท่าทัน ว่า ปัญหาโลกรวนที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ได้แก่ อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นในแต่ละปี, ภาวะ rain bomb, สภาวะแห้งแล้ง, ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เป็นต้น

ภาวะเหล่านี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ ผลิตภาพ การกระจายประโยชน์ และสร้างภูมิคุ้มกัน

โดยหากยังมีการทำนโยบายแบบเดิม ๆ ไม่คำนึงถึงปัญหาโลกรวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าต้นทุนการดำเนินชีวิต และต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ประเทศที่ยากจนหรือด้อยพัฒนา อาจได้เป็นผู้รับภาระที่มากกว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว กลับเป็นผู้สร้างปัญหาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายวิรไท แนะว่า การที่แต่ละประเทศจะก้าวไปข้างหน้าให้ได้ เมื่ออยู่ภายใต้ภาวะโลกรวน จำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ในส่วนของประเทศไทย ความสามารถในการปรับตัวยังถือว่าต่ำ เนื่องจากระบบการทำงานของภาครัฐยังไม่ดีพอ ส่งผลต่อการปรับตัวของภาคเอกชนที่อาจไม่ทันสถานการณ์

ปัญหาโลกรวน จึงถือเป็นความท้าทายใหม่ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทย

และย้ำว่า ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาโลกรวนมากขึ้น โดยมองว่า ประชากรในประเทศจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถติดตามปัญหาและตั้งรับได้ทันสถานการณ์ ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะให้เกิดทั้งการตระหนก ควบคู่ไปกับการตระหนักในเรื่องนี้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังพึ่งพารายได้ภาคการเกษตร ในขณะที่ภาคเกษตร ถือว่ามีความอ่อนไหวต่อปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก ดังนั้นสิ่งเร่งด่วนที่ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะโดนผลกระทบจากภาวะโลกรวน

นายวิรไท กล่าวว่า การบูรณาการมาตรการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในแต่ละหน่วยงาน มารวมไว้เป็นแผนหลักแผนเดียวของประเทศ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในในระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในจำนวนที่สูงในการลงทุน แต่ก็ถือว่าเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่มีความอ่อนไหวต่อเรื่องนี้

Net Zero ปี 2065 ไทยช้ากว่าประเทศอื่น

นอกจากนี้ การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำตั้งแต่วันนี้ อาจต้องอาศัยการลงทุนที่สูงมาก ประเทศที่อ่อนไหวอย่างไทย อาจต้องใช้เงินเป็นหลักแสนล้านต่อปี และต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องคิดถึงเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น มีเม็ดเงินไว้พร้อมช่วยเหลือ

สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำแผน และคำนวณตัวเงินให้ได้ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ และจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง รัฐบาลต้องกล้ายอมรับว่าไทย ช้ากว่าหลายประเทศค่อนข้างมากในการรับมือกับภาวะโลกรวน

ดังนั้นสิ่งทีรัฐบาลจะต้องปรับวิธีการทำงาน และหาหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้โดยตรง รวมทั้งแก้ปัญหาความล้มเหลวในการประสานงานระหว่างกระทรวง หรือระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานท้องถิ่น หรือระหว่างรัฐกับเอกชน รวมทั้งเปิดให้สถาบันการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย คือ ไทยต้องมีพลังงานสะอาด หรือพลังงานสีเขียว แต่กลายเป็นว่าด้านพลังงานยังไม่ถูกปลดล็อค ขณะที่ไทยกำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ช้ากว่าประเทศอื่นในโลก ซึ่งมีอย่างน้อย 63 ประเทศกำหนด Net Zero ในปี 2050

“หากรัฐบาลไม่ปฏิรูปสาขาพลังงานไฟฟ้า เราจะพากันตาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่เป็นเรื่องจริง ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในมือของสาขาพลังงาน การแข่งขันในเวทีโลก ผู้ประกอบการ นักลงทุนต่างอยากได้ไฟฟ้าสะอาด แต่ทุกวันนี้สาขาพลังงาน ดูเหมือนจะเป็นสาขาที่ตามความต้องการของเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่ทัน”

 

 อ่านข่าว:

“ไทย” ตั้งรับนโยบายทรัมป์ สนค.ชี้จับตาสินค้าต้นทุนต่ำทะลักไทย

ถึงเวลา ? ชาวนาไทยปรับตัวรับเทรนด์โลก ผลิต "ข้าว"คาร์บอนต่ำ

 "ทรัมป์" คัมแบ็ก ปธ.หอการค้าฯ หวั่นกระทบ "ภาษี-กีดกันการค้า"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง