ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชาวสวนยาง" หวังการเปลี่ยนแปลง หลังเลือกตั้ง นายก อบจ.นครศรีธรรมราช

การเมือง
14 พ.ย. 67
15:47
1,344
Logo Thai PBS
"ชาวสวนยาง" หวังการเปลี่ยนแปลง หลังเลือกตั้ง นายก อบจ.นครศรีธรรมราช
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“เราอยากให้คนที่มาหาเรา ทำให้ได้เหมือนที่รับปากเราวันนี้ ไม่ใช่เป็นนายกฯ แล้วก็ลืม” นายวิศิสต์ สุชาฎา ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช สะท้อนความรู้สึก

เมื่อถามถึง ความคาดหวังต่อการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้บริหาร อบจ.นครศรีธรรมราช ที่จะเลือกตั้ง ในวันที่ 24 พ.ย.นี้

นายวิศิสต์ เล่าว่า ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ชาวบ้านช่วยกันปลุกปั้น ก่อตั้งสหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา ใน อ.บางขัน ไม่ง่ายเลย เริ่มตั้งแต่การรวมตัวกันช่วงแรกแค่ประมาณ 40 กว่าคน จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200 คน

โดยพยายามบริหารจัดการ และดึงงบประมาณในโครงการต่าง ๆ ของรัฐระดับประเทศ เข้ามาบริหารสหกรณ์ จากเดิมจะรับซื้อน้ำยาง แล้วนำมาทำยางแผ่นรมควัน เพื่อขายต่อตลาดกลาง แต่วิธีการนี้ไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เพราะพ่อค้าคนกลางเป็นคนกำหนดราคา

ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาแปรรูป ซึ่งตลอดเส้นทางการต่อสู้นับสิบปี แทบไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากงบประมาณส่วนท้องถิ่น การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และสมาชิก อบจ.นครศรีธรรมราช ทำให้หลายคนคาดหวังว่า ท้องถิ่นจะเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรอย่างจริงจัง

ปัญหาคือความจริงใจ หลายๆ โครงการของรัฐ เพื่อแก้ปัญหายางพารา มาเพียงแป๊บเดียวก็หายไป และการค้าขายกับหน่วยงานรัฐ แทนที่ควรช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง ก็ยากมาก มีเงื่อนไขมาก จนไม่สามารถทำได้ ทุกวันนี้บางผลิตภัณฑ์ เราต้องขายผ่านเอกชน และเอกชนไปทำสัญญากับรัฐอีกทีในราคาที่แพงกว่า

ถ้าจะให้พูดกันแบบตรงไปตรงมา หากมาสั่งสินค้าตรงผ่านสหกรณ์โสตประชา แล้วคิดจะเอาส่วนต่าง คงไม่มีสิทธิ์ เพราะพวกเราไม่มี เราเอื้อผลประโยชน์ให้ไม่ได้ ถ้าไปเอาของเอกชน ก็จะได้เงินทอนมา

นายวิศิสต์กล่าวต่อว่า ตนพูดเรื่องจริง แม้จะดูเหมือน จะไปว่าเขา แต่เมื่อไหรที่เขาจริงใจจริง ๆ พูดกันอย่างจริงใจ พูดแบบเปิดอก ผมเชื่อว่า การแก้เรื่องยางพาราไม่ยาก ไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนให้เกษตรกรไร่ละ 1-2 หมื่น เหมือนเวลาลูกหิวข้าวแล้วร้องที่หนึ่ง เราก็โยนให้กินทีหนึ่ง

มันเหมือนเอาเงินไปละลายทิ้งในมหาสมุทร ทั้งที่เรื่องยางแก้ไม่ยาก แต่วันนี้ แค่ไม่แก้เท่านั้นเอง

นายวิสูตร สุชาฎา ปธ.สหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เรามีหลายอย่าง อย่างยางชะลอความเร็ว ยางกั้นล้อเราก็มี แทนการจะหล่อซีเมนต์กั้นล้อที่จอดรถทั่วไปในสถานที่ราชการ

ซึ่งหาก อบจ.บอก ทุก อบต.ให้ช่วยกันส่งเสริมเกษตรกร เอายางไปใช้ ก็ได้อยู่แล้ว แต่กลับไม่มีใครเห็นเลย ตนก็แปลกใจ ตลอดหลายปีไม่มีใครเห็น หรือว่าเราไม่มีงบประมาณคืนไปให้เขา แค่อยากบอกว่า ถ้าลงมาดู ลงมาศึกษาแบบจริง ๆ จัง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา เราก็มีเยอะ สามารถปรับใช้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้หลายทางอย่าง

ในแต่ละปี อบจ.นครศรีธรรมราช จะมีงบประมาณประจำปีมากกว่า 1,100 ล้านบาท ทำให้การแข่งขันในครั้งนี้ดุเดือด ท่ามกลางความคาดหวังของหลายฝ่าย ว่างบประมาณจำนวนมากนี้จะถูกนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ หรือแก้ไขปากท้องของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ขณะที่การแข่งขันรุนแรงช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้ กกต.นครศรีธรรมราช ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ที่จัดการเลือกตั้ง ต้องมีความโปร่งใส และทำงานอย่างระมัดระวัง ไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และปิดทุกช่องทาง ที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดการเลือกตั้ง เพราะ พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิใช้เหตุผลในการตัดสินใจ

“อยากให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่รับเงินซื้อเสียง หรือขายสิทธิ ไม่อยากให้ตัวเงินมามีอิทธิพลจูงใจ แต่อยากตัดสินใจเลือกด้วยความคิด การตัดสินใจของตัวเองอย่างมีเหตุผล ชอบใครก็เลือกคนนั้น” นายศรีธรรม ราชแก้ว ประธาน กกต.อบจ.นครศรีธรรมราช กล่าว

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกครั้งนี้ มากกว่า 1,200,000 คน ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 63.55 แต่ความตื่นตัวทางการเมืองสูง ทำให้ กกต.เชื่อว่า จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70 แต่ก็ยังเป็นห่วงเรื่องบัตรเสีย เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีมากกว่า 26,000 ใบ

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

อ่านข่าว : 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง