ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รักษาดุลสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ยุทธศาสตร์ไทยตอบโต้ “ทรัมป์” ยุค 2.0

ต่างประเทศ
18 พ.ย. 67
12:46
14
Logo Thai PBS
รักษาดุลสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ยุทธศาสตร์ไทยตอบโต้ “ทรัมป์” ยุค 2.0

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมารอบนี้ยังใช้นโยบายกดดันเศรษฐกิจผ่านการขึ้นภาษี สะท้อนยุทธศาสตร์อเมริกาต้องมาก่อน หรือ "America First" มุ่งปกป้องผลประโยชน์สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาประเทศคู่ปรับยักษ์อย่างเช่นจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด การขึ้นภาษีนี้สร้างอำนาจต่อรองให้สหรัฐฯ ในการเจรจาต่อรองทางการค้า แม้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ และตลาดการเงินทั่วโลกก็ตาม

สำหรับไทย การที่สหรัฐฯ ใช้นโยบายกดดันเชิงเศรษฐกิจเช่นนี้ส่งผลให้ไทยต้องพิจารณายุทธศาสตร์การตอบโต้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยควรสร้างความหลากหลายในตลาดส่งออกเพื่อไม่ให้พึ่งพาสหรัฐฯ และจีนมากเกินไป

นอกจากนี้ การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศในเอเชียอื่น ๆ อาจช่วยให้ไทยมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและมีอำนาจต่อรองในภูมิภาคได้มากขึ้น

สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย โดยในปี 2023 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นำเข้า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ไทยมีดุลการค้าเกินดุลราว 24,000 ล้านดอลลาร์  สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์เกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไทย สหรัฐต้องการลดการขาดดุลการค้ากับไทย

ในด้านการลงทุนโดยตรง สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในนักลงทุนหลักที่ช่วยสร้างงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งสองประเทศมีกรอบความตกลงการค้าและการลงทุน (TIFA) ที่ช่วยลดอุปสรรคและขยายโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และยังช่วยเสริมอำนาจต่อรองเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค

ทางด้านยุทธศาสตร์ทหาร ไทยมีอำนาจต่อรองที่สำคัญกับสหรัฐฯ ด้วยสถานะพันธมิตรนอกนาโต้ที่มีความร่วมมือใกล้ชิด เช่น การฝึกคอบราโกลด์ซึ่งเป็นกิจกรรมฝึกร่วมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทหารที่ยาวนาน ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ทำให้สหรัฐฯ ใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการหรือจุดสนับสนุนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในภูมิภาค

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ได้ง่ายกว่าหลายประเทศในภูมิภาค จึงมีศักยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในการสร้างความมั่นคงให้ภูมิภาคโดยไม่ต้องเลือกข้างอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และจีน การเน้นยุทธศาสตร์ตอบโต้แบบรอบคอบ โดยใช้การเจรจาและการทูตแบบสมดุล จะช่วยให้ไทยรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

ประเด็นสุดท้าย ไทยต้องสร้างสัมพันธภาพกับสมาชิกสภาคองเกรสให้ได้ ทั้งสภาสูงและสภาล่าง เพราะบรรดาผู้แทนราษฎรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตามเป็นผู้ออกกฎหมายที่จะมีผลดีหรือร้ายต่อไทยในอนาคต

ต้องยอมรับไทยไม่มีเงินทองมากมายในการจ้างกลุ่มล็อบบี้ยิสต์แพงๆ ในกรุงวอชิงตันแบบประเทศอิสราเอลที่มีนาน ฉะนั้นเราต้องใช้สัมพันธ์ส่วนตัวและคุณประโยชน์ที่ไทยสามารถตอบสนองให้ยุทธศาสตร์และผลประโยชน์สหรัฐได้

อ่านข่าว :

"ไบเดน" จับมือ "ทรัมป์" ยินดีคืนบัลลังก์ทำเนียบขาว

รู้จัก "DOGE" ทรัมป์ตั้ง 2 มหาเศรษฐีขุนพลปฏิรูปราชการสหรัฐฯ

ลอกคราบ "ทรัมป์" สมัยสอง "เอเชียตะวันออก-ไทย" กระอัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง