ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เยาวชน-ยาเสพติด-ติดเชื้อ HIV-หลุดนอกระบบ ปัญหาใหญ่ในนครศรีธรรมราช

การเมือง
22 พ.ย. 67
11:14
101
Logo Thai PBS
เยาวชน-ยาเสพติด-ติดเชื้อ HIV-หลุดนอกระบบ ปัญหาใหญ่ในนครศรีธรรมราช
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ถนนเกือบทุกสาย ในพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช เต็มไปด้วยป้ายหาเสียง แต่นโยบายต่าง ๆ ของผู้สมัครส่วนใหญ่ พบว่า การแก้ปัญหาเยาวชนออกนอกระบบ หรือ ยาเสพติด ก็ยังมีน้อยมาก

นายกันตณัช รัตนวิก ผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน ระบุว่า จากการสำรวจร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดในโรงเรียน 63 แห่ง ของ 18 อำเภอ พบว่า นักเรียนอายุ 13-15 ปี กว่า 1,900 คน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เคยดื่มเหล้าเบียร์ ถึงร้อยละ 38.2 กัญชา ร้อยละ 8.2 มีการสูบบุหรี่ ร้อยละ 5.7 น้ำกระท่อม ร้อยละ 2.1 และยังพบตัวเลขที่น่าตกใจว่า ร้อยละ 89.7 เคยดื่มจนเมา และร้อยละ 10.3 เมาจนครองสติไม่ได้

และจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคที่ 11 ที่รายงานโดยมูลนิธิรักษ์ไทย พบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 15-24 ปี ติดเชื้อ HIV มากถึง 8,896 คน ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในเขตภาคใต้ตอนบน ที่มีผู้ติดเชื้อรวม 31,677 คน

นอกจากนี้ข้อมูลในปี 2564 พบปัญหาเด็กออกนอกระบบ ตั้งแต่อายุยังน้อยคือ ช่วงประถมศึกษา 1,336 คน จากจำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบรวม 13,788 คน

แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าในช่วงที่ผ่านมา ภาคการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น หรือการเมืองภาคใหญ่ ก็แทบจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพชีวิต หรือมีนโยบายเฉพาะเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้มากนัก

“แม้ผู้สมัครหลายคน จะบอกว่า มีนโยบายส่งเสริมด้านการศึกษา แต่การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน แต่การศึกษาเพียงอย่างเดียวมันก็ไม่พอ แต่ยังมีองค์ประกอบอีกมากมาย ฐานสำคัญคือครอบครัว แต่ตอนนี้การเมืองที่จะทำงานเรื่องครอบครัว เรื่องสังคม เรื่องความเปราะบางของเด็กน้อยมาก การเมืองควรเข้ามาดูแลเรื่องของครอบครัว เรื่องคุณภาพของเด็ก ศักยภาพการศึกษาในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น” นายกันตณัช กล่าว

ผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน ระบุว่า สาเหตุหลักๆ ของปัญหาเยาวชนมาจากปัญหาในครอบครัว ทั้งการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปัญหาความยากจน และการเข้าถึงยาเสพติดที่ง่ายขึ้น

โดยเฉพาะยาเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย เช่น บุหรี่ น้ำกระท่อม หรือ กัญชา ทำให้เด็กที่อายุน้อย ตั้งแต่ ประถมจนถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อายุประมาณ 15-18 ปี ก็จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งจากการเสพในสื่อออนไลน์ ครอบครัว และสังคม

การแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับฐานราก จึงต้องเริ่มที่ครอบครัว โดยภาครัฐ หรือภาคการเมืองระดับท้องถิ่น ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ทั้งการดูแลเด็กเปราะบาง หรือครอบครัวเปราะบาง ซึ่งแต่ละพื้นที่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุข เช่น รพ.สต.หรือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็มีข้อมูลของคนกลุ่มนี้อยู่แล้วในแต่ละชุมชน

เช่น กลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มคนที่ติดยาเสพติด หรือมีภาวะจิตเวช ซึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช มีมากกว่า 25,000 คน แต่พบว่า มีเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง แค่ประมาณ 900 คนเท่านั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เพราะการเติบโตของเยาวชน คือการกระจกสะท้อนสังคมของคนนครศรีธรรมราชในอนาคต

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

อ่านข่าว : กกต.หวัง ปชช.ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นายก อบจ.สุรินทร์ ไม่น้อยกว่า 55 %

จับตา ศาลรัฐธรรมนูญ "รับ-ไม่รับ" คำร้องปม "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง

"ทนายอาคม" เข้าเยี่ยม "ทนายตั้ม" ขอข้อมูลคดีโอนทรัพย์สิน "เจ๊อ้อย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง