ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อ “ทิศทางสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ : ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน” เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 6 จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
การบรรยายเกิดขึ้นก่อนหน้าวันเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 ช่วงหนึ่งของการบรรยาย ดร.อาร์ม อธิบายว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 หลายคนประเมินสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่ำเกินไป นักวิเคราะห์มองว่า คามาลา แฮร์ริส มีโอกาสสูง บางคนบอกว่า เป็นใครก็ไม่สำคัญ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายล้วนไม่ชอบจีน
ดร.อาร์ม ให้มุมมองว่า โอกาสที่ทรัมป์ จะชนะมีสูง ถ้าทรัมป์ชนะ สภาพนโยบายไม่เหมือนทรัมป์ ยุคแรก โดยทรัมป์หาเสียงไว้ว่า ขึ้นกำแพงภาษีจีน 4 เท่าจากนโยบายเดิม ขึ้นภาษีทั่วโลก 10% แต่คนไม่ได้มองนโยบายนี้ว่า จะเป็นเรื่องจริงจัง มองว่า เป็นการหาเสียงที่ทรัมป์ พูดไปตามที่อยากพูด
อย่างไรก็ตาม ดร.อาร์ม มองว่า ทีมนักคิดออกแบบนโยบายให้ทรัมป์ ชื่อ โรเบิร์ต ไลท์ธิเซอร์ (Robert Lighthizer) ผู้แทนการค้าสมัยทรัมป์ และผู้เขียนหนังสือ No Trade is Free โรเบิร์ต ไม่เคยโดนปลดสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่มีหลายคนโดนปลด
แม้แต่ทีมของทรัมป์ ยังทนทรัมป์ไม่ได้ และหย่าขาดเมื่อทรัมป์ ไม่ยอมรับผลเลือกตั้งเมื่อครั้งก่อน หลายคนไม่ทำงานกับทรัมป์ ขณะที่โรเบิร์ต เป็นคนหนึ่งที่เหลืออยู่ และได้รับคาดหมายว่า จะเป็น รมว.คลังคนต่อไปของสหรัฐฯ
โรเบิร์ต เขียนอธิบายในหนังสือว่า จุดประสงค์ของนโยบายมี 4 ข้อ
เลิกโลกาภิวัตน์ (Globalization)
ให้โรงงานต้องกลับมาตั้งในสหรัฐฯ
สมดุลการค้ากับจีนและโลก
หย่าขาดจากจีน
เหล่านี้เป็นนโยบายที่แตกต่างจากฝั่งแฮร์ริส โดยแฮร์ริส ต้องการกระจายความเสี่ยง ค้าขายกับที่อื่น ลดค้ากับจีน แต่ไม่ใช่เลิกค้าขายกับจีนโดยปริยาย ขณะที่ทีมเศรษฐกิจของไบเดน มองว่า การตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ทำไม่ได้ เพราะค่าแรงแพง ธุรกิจอยากตั้งโรงงานในพื้นที่แรงงานราคาถูก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ (สมัยโจ ไบเดน) พูดว่า แยกเรื่องความมั่นคง และอุตสาหกรรมทางยุทธศาสตร์อย่าง “ชิป” และรถ EV แต่ที่เหลือจะค้าขายกับจีน
ขณะที่ทีมของทรัมป์ บอกว่า หย่าขาดจากจีน และให้โรงงานกลับมาในสหรัฐฯ ทรัมป์ ไม่ต้องการให้โรงงานรถยนต์จีนตั้งในเม็กซิโก และไม่มีปัญหากับ TikTok ส่วนไบเดน ไม่ต้องการการตั้งโรงงานจากจีน เพราะกังวลเรื่องความมั่นคง
ดร.อาร์ม มองว่า การย้ายโรงงานในสหรัฐฯ ยุคนี้ ไม่ได้ใช้คน ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติได้ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่คาดคิดไม่ถึงอยู่
สงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี
สงครามการค้ารอบแรก นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากหน้าแตก เพราะทำสงครามแล้วเจ็บ แต่ไม่เจ็บหนัก การเปลี่ยนจากจีนไปเวียดนาม สหรัฐฯ ยังได้ประโยชน์
หากทรัมป์ ทำอย่างที่พูด จะทำให้เกิดสภาพตัดลดอัตราส่วน GDP 0.7 % จากยุโรป และตัด 2% จากจีน ทุกคนเจ็บหมด แต่จีนเจ็บมากกว่า
ดร.อาร์ม เล่าว่า ฝั่งจีน เชื่อว่าทรัมป์ จะชนะ และปรับยุทธศาสตร์ของจีนไปแล้ว ซึ่งการปรับเปลี่ยนนั้นได้ส่งผลกระทบไปแล้วเมื่อสินค้าจีน และทุนจีน ทะลักสู่ตลาดโลก
“ถึงทรัมป์ ไม่กลับมา ทรัมป์ ไม่ตาย เขาพูดเอง ไม่ลงเลือกตั้งแล้ว ครั้งนี้ครั้งสุดท้าย ถ้าทรัมป์ แพ้ พรรครีพับลิกันจะได้คนปกติกลับมา ผมบอกไม่มีทาง เพราะมีทายาทอสูร ชื่อ เจ.ดี. แวนซ์ รอง ปธน.เขาชนะแน่ในรอบต่อไป เพราะเป็นทรัมป์ ในเวอร์ชันคนมีการศึกษา” ดร.อาร์ม กล่าว
เมื่อปัจจัยแวดล้อมผลักให้สหรัฐฯ ก้าวไปในทางตรงข้ามของโลกาภิวัฒน์ แล้วจะเผชิญสถานการณ์นี้อย่างไร เมื่อเศรษฐกิจจีนไม่ดีต่อเนื่อง (ซึ่งทำให้สินค้าจีนทะลักสู่ตลาดโลก)
ผลกระทบต่อไทย และอาเซียน ภูมิภาคอื่นทั่วโลก เมื่อทรัมป์ นะ และทำตามนโยบายที่พูด ดร.อาร์ม ระบุว่า จะเกิดความกดดันต่อเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กระทบนโยบายธนาคารกลาง เรื่องดอกเบี้ย ทำให้ทบทวนดอกเบี้ย มีแนวโน้มเดินในทิศทางลดดอกเบี้ย
วนจีนต้องชูธงโลกาภิวัฒน์ ค้าขายกับประเทศอื่น เกิดทั้งการต้อนรับ และปิดกั้น ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะไม่แน่นอน สถานการณ์มีขึ้น-ลง เป็นยุคของ “ความไม่แน่นอน” การส่งออกไปสหรัฐฯ การลงทุนจากสหรัฐฯ อาจชะลอตัว
ดร.อาร์ม สรุปว่า ภาพความเป็นไปได้ทั้งหมด เมื่อโลกเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่ใช่ 20 ปีของการค้าเสรี โลกาภิวัฒน์ และสันติภาพ แต่เป็นโลกของดวงอาทิตย์ 2 ดวง มหาอำนาจ 2 ฝั่ง เอากันไม่ลง แข่งขันกันทั้งสงครามการค้า และเทคโนโลยี โดยมีเดิมพันเป็นความมั่นคง และมั่งคั่ง
บริบทสถานการณ์ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ทุบจีนภายใน 1 ปี หรือจีนจะมาแทนสหรัฐฯ ภายใน 1 ปี แต่จะสู้กันอย่างน้อย 30 ปี กล่าวได้ว่า ภูมิทัศน์เศรษฐกิจ - การเมืองโลก เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเป็นเทรนด์ระยะยาว
แนวทาง 3M ของไทย เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ดร.อาร์ม ให้มุมมองถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ด้วยแนวคิด “3M”
Middle - ดร.อาร์ม มองว่า ไทยได้ประโยชน์มหาศาลจากอำนาจต่อรอง ไม่ควรกลัวการคุยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเริ่มจากเข้าใจผลประโยชน์ของไทยว่าอยู่ตรงไหน เข้าใจว่าเราเองต้องการอะไร ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า ฝ่ายไทยเข้าใจแค่ไหน
Mainland Southeast Asia - อาเซียนถือเป็นหัวใจท่ามกลางสัมพันธ์ของมหาอำนาจ ทั้งสองฝ่ายต้องการอาเซียน บริบทนี้ทำให้ไทยต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ แล้วเริ่มมองว่า ทำไมไม่โตไปกับอินโดนีเซีย เวียดนาม ไม่ควรคิดว่า จะเป็นคู่แข่งอย่างไร ควรคิดว่า จะเชื่อมโยงกับเขาอย่างไร
(Risk) Mitigation - กระจายความเสี่ยง บริบทนี้มักมีคำถามว่า ไทยควรเลือกฝั่งไหนระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
คำตอบจาก ดร.อาร์ม คือ เชื่อมทั้งสองทาง โดยนักวิชาการมองว่า จริง ๆ สมัยนี้เป็นยุคทองของประเทศที่เหลือ ทั้งสองฝั่งต้องการประเทศที่มาแทน มีคำถามว่า ไทยเคยคิดถึงประเทศที่เหลือหรือไม่? เคยคิดถึงลาตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่อาเซียน ไทยมียุทธศาสตร์เหล่านี้ไหม ขณะที่โลกทัศน์การต่างประเทศ หรือเศรษฐกิจของไทย ส่วนใหญ่มักพูดถึง “จีน - ยุโรป”
รายงาน : ธนพงศ์ พุทธิวนิช บรรณาธิการวิดีโอคอนเท้นต์ ไทยพีบีเอสออนไลน์
อ่านข่าว : “บุญทรง” ปรากฎตัวครั้งแรกหลังพักโทษ รายงานตัวคุมประพฤติเชียงใหม่
ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน "ต้มยำกุ้ง" มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้