เมื่อปี 2023 ภาพยนตร์เรื่อง "Seoul-ui bom" ที่สร้างจากเหตุการณ์ในอดีตของเกาหลีใต้ได้รับความสนใจอย่างมาก เป็นเรื่องเล่าถึงการลอบสังหาร ปธน.ปาร์ค ชุงฮี ในปี 1979 ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารโดยทหารและการปกครองภายใต้กฎอัยการศึก
ดังนั้นเมื่อ "ยุน ซอก-ยอล" ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึกผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เมื่อคืนวันที่ 3 ธ.ค. ข้ามเข้าวันที่ 4 ธ.ค.2024 ประชาชนจำนวนมากต่างตกใจและโกรธแค้น เพราะกลัวว่าเกาหลีใต้ในยุคประชาธิปไตยอาจย้อนกลับไปสู่ยุคเผด็จการที่โหดร้ายอีกครั้ง
ใครจะคิดว่าในยุคปัจจุบันนี้จะมีการประกาศกฎอัยการศึกอีก? แต่มันเกิดขึ้นจริง และทุกคนต่างตกใจ
ชุน อินบอม อดีตนายพลกล่าวกับ CNN
ย้อนรอยเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยที่สั่นคลอน
หากยุนต้องออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี จากการที่ 6 พรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติถอดถอน นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้เผชิญชะตากรรมอันขมขื่นในประวัติศาสตร์ผู้นำที่เต็มไปด้วยรัฐประหาร การลอบสังหาร และการถูกขับไล่
หลังจากเกาหลีใต้ได้รับเอกราชจากญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีคนแรกถูกบีบให้ลี้ภัยในปี 1960 จากการรัฐประหารครั้งแรกของ พล.อ.ปาร์ค จุงฮี ในปี 1961
- 16 พ.ค.1961 พล.อ.ปาร์ค จุงฮี นำกำลังทหารหลายพันนายบุกกรุงโซล ทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้
- นายพลปาร์ค เข้าควบคุมประเทศนานถึง 18 ปี ใช้อำนาจกดขี่ฝ่ายต่อต้านและระงับเสรีภาพของประชาชนหลายครั้งด้วยการประกาศกฎอัยการศึก
- แม้ยุคของปาร์คจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ความโหดร้ายทางการเมืองทำให้เขาถูกลอบสังหารในปี 1979 โดยหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของเขาเอง
การรัฐประหารครั้งที่ 2 ของ ชอน ดูฮวาน ปี 1979
- หลังการเสียชีวิตของนายพลปาร์ค เมื่อเดือน ต.ค.1979 พล.อ.ชอน ดูฮวาน ใช้กำลังทหารและรถถังยึดอำนาจในเดือน ธ.ค.ปีเดียวกัน
- ปี 1980 ชอนประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองกวางจู เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200 คน และกลายเป็นแผลในใจของชาวเกาหลีใต้
1987 ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
- เกิดการประท้วงใหญ่ในปี 1987 บีบให้รัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.ชอน ยอมรับการเลือกตั้งโดยตรง
- 1990 นายพลชอน ถูกดำเนินคดีฐานทำรัฐประหารและสังหารหมู่ในกวางจู เขาถูกตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ได้รับการอภัยโทษในเวลาต่อมา
- พล.อ.โร แตวู เพื่อนสนิทของนายพลชอน ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในยุคประชาธิปไตย แต่ยังมีข้อครหาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจจากรัฐบาลทหาร
ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งแต่แตกแยก
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 เกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเลือกตั้งที่โปร่งใส และการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในประเทศยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการแบ่งขั้ว
"ปธน.โรห์ มูฮยอน" (2003–2008) จบชีวิตตัวเองขณะถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชันหลังพ้นตำแหน่ง ขณะที่ "ลี มยองบัก" ผู้สืบทอดตำแหน่ง ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในคดีทุจริต
"ปาร์ค กึนฮเย" ลูกสาวของ ปาร์ค ชุงฮี ซึ่งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากผู้ช่วยคนสำคัญและเพื่อนของเธอใช้อิทธิพลในทางมิชอบ เธอถูกตัดสินจำคุก 24 ปีในข้อหาทุจริตและใช้อำนาจในทางมิชอบแต่ต่อมาเธอได้รับการอภัยโทษ
การเมืองเกาหลีใต้มีความเข้มข้น กดดัน เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ พรรคการเมืองมักผูกโยงกับตัวตนของผู้นำมากกว่ายึดโยงกับอุดมการณ์หรือนโยบาย
ลีฟ เอริก อีสลีย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซลได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนมีบทบาทสำคัญและสื่อมุ่งเน้นเรื่องอื้อฉาว ประธานาธิบดีมักเผชิญความยากลำบากในการรักษาความนิยม
อนาคตประชาธิปไตยในแดนโสมขาวที่ไม่แน่นอน
ความเคลื่อนไหวของยุนทำให้ประชาชนรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับยุคเผด็จการและตั้งคำถามถึงเสถียรภาพของประชาธิปไตยที่เคยแลกมาด้วยเลือดในอดีต ท่ามกลางการจับตาดูของโลก เกาหลีใต้กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่อาจชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองของประเทศอีกครั้ง
ขณะนี้ การพิจารณาถอดถอนยุนอยู่ในขั้นตอนสำคัญ หากเขาถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ "นายกรัฐมนตรี ฮัน ดักซู" จะขึ้นมาทำหน้าที่แทน แต่คำถามคือ เกาหลีใต้จะสามารถรักษาระบบประชาธิปไตยที่ประชาชนต่อสู้มานานกว่า 40 ปีให้ผลิใบต่อไป ได้หรือไม่ ?
ที่มา : CNN, AP
อ่านข่าว :
ไทม์ไลน์ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศ "กฎอัยการศึก" ก่อนสภาโหวตคว่ำ
เกาหลีใต้สอบสวน "ข้อหากบฏ" บุคคลเกี่ยวข้องประกาศกฎอัยการศึก
ฝ่ายค้านเกาหลีใต้ยื่นญัตติถอดถอน ปธน.แล้ว - รมว.กลาโหม ขอลาออก