ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ
ติดตาม Thai PBS

รมว.สธ.ยัน "ผิง ชญาดา" เสียชีวิต ไม่ได้เกิดจาก "นวดบิดคอ"

สังคม
9 ธ.ค. 67
18:06
4,594
Logo Thai PBS
รมว.สธ.ยัน "ผิง ชญาดา" เสียชีวิต ไม่ได้เกิดจาก "นวดบิดคอ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รมว.สธ. ยัน "ผิง ชญาดา" ไม่ได้นวดบิดคอเสียชีวิต ชี้ ผลตรวจเอ็มอาร์ไอ "ไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน" เผย วินิจฉัยเป็น "โรคไขสันหลังอักเสบ" จนติดเชื้อในกระแสเลือด ขอประชาชนมั่นใจ ไม่เกี่ยวการนวด

วันนี้ (9 ธ.ค.2567) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ถึงกรณีการเสียชีวิตของ "ผิง ชญาดา" ที่ระบุว่ามีสาเหตุมาจากการนวดบิดคอ ที่ร้านนวดแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี ว่า ได้รับรายงานเรียบร้อยแล้ว โดยผู้เสียชีวิตได้มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดเมื่อย เป็นเวลาหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2567 และไปตรวจที่โรงพยาบาล 28 ต.ค.2567 ซึ่งเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง โดยมีการเอ็กซเรย์ และทำเอ็มอาร์ไอ โดยเป็นภาพที่ชัดเจนว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการนวดแผนไทย ซึ่งตนก็อยากให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากรายงานพบว่า วันที่ 6-11 พ.ย.2567 ผู้เสียชีวิต ได้เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.อุดรธานี ได้แอดมิทแผนกกระดูกและข้อ โดยแพทย์ตรวจพบว่า แขนขาอ่อนแรง และตรวจเอ็มอาร์ไอ เพิ่ม พบว่า ไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน ตรวจโดยเจาะน้ำไขสันหลัง สรุปวินิจฉัยเป็น โรคไขสันหลังอักเสบ ซึ่งได้ให้ยารักษา หลังจากนั้นอาการเริ่มดีขึ้นจึงกลับไปพักที่บ้าน แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ยังมีอาการเกร็งกระตุกตามร่างกาย จนวันที่ 22 พ.ย.2567 มีอาการเกร็งและอ่อนแรงมากขึ้น จึงเข้าไอซียู รพ.อุดรธานี มีอาการช็อคจากติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2567 ส่วนรายละเอียดทั้งหมดนั้น ตนขอให้รอฟังจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจ เพราะผลการตรวจเอ็มอาร์ไอ เป็นที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยียืนยัน จึงขอให้ประชาชนสบายใจ

อ่านข่าว : หมอแถลง "ผิง ชญาดา" ไขสันหลังอักเสบ-ติดเชื้อกระแสเลือดตาย

กรม สบส. ร่วม สสจ.อุดรธานี ลงสอบร้านนวด  

ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า เมื่อได้รับทราบข้อมูลการเสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุการรับบริการนวด ก็ได้สั่งการให้ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ประสานงานกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทันที โดยจากการตรวจสอบพบว่า ร้านนวดซึ่งถูกกล่าวอ้างนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เปิดให้บริการนวดตัว นวดเท้า มีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562

และในระหว่างเข้าตรวจสอบพบผู้ให้บริการนวด จำนวน 7 คน โดยผู้ให้บริการทั้ง 7 คน มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นก็พบว่าร้านนวดดังกล่าว มีการดำเนินการตามมาตรฐานตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาเหตุการเสียชีวิต และให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบว่าการให้บริการนวดถูกต้องตามแบบแผนการนวดหรือไม่ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย หรือผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการอีกในอนาคต

อ่านข่าว : กรมแพทย์แผนไทยฯ แนะข้อควรรู้ก่อน "นวด" ห้ามใน 6 อาการ-โรค

กรม สบส. จะดำเนินการเชิงรุกในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการเลือกรับบริการร้านนวด ยกระดับผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีการติดตาม ประเมินผล จัดระเบียบสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดปรับบทลงโทษผู้ประกอบการและหมอนวดเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังในการให้บริการ

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสปา หรือนวดเพื่อสุขภาพนั้น ล้วนเป็นบริการที่มีความใกล้ชิดกับผู้รับบริการ หากขาดการควบคุมคุณภาพมาตรฐานย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บ การแพร่เชื้อโรค หรือมีการล่วงละเมิดทางเพศได้ ดังนั้นจึงต้องเลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้มีการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่

โดยสามารถตรวจสอบจากหลักฐานสำคัญ 3 ประการ ซึ่งจะแสดงไว้ ณ จุดบริการ ได้แก่ 1.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ออกโดยกรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 2.มีการแสดงตราสัญลักษณ์มาตรฐาน สบส. เป็นรูปมือจีบสีทองและดอกกล้วยไม้สีม่วง 3.หากเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทสปา จะต้องมีการแสดงใบอนุญาตของผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอีกด้วย หากตรวจแล้วไม่มีการแสดงหลักฐาน หรือแสดงไม่ครบ ก็ไม่ควรรับบริการเพราะอาจจะเกิดอันตรายได้

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจประชาชนสามารถตรวจสอบใบอนุญาตได้ว่าจริงหรือไม่โดยแสกนดูข้อมูลใน QR Code ในใบอนุญาตว่าตรงกันหรือไม่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านนวดและผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ที่เว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (https://hss.moph.go.th/)

อ่านข่าว : ขอกล้องติดหน้าอก เร่งทำสำนวน 7 ตำรวจรุมทำร้ายผิดคัน ส่ง ป.ป.ช.

จากอำนาจสู่ล่มสลาย ปิดฉาก "อัล-อัสซาด" ครองซีเรียนาน 53 ปี

ปรับค่าแรง 400 บาท กกร.ชี้ 90% ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง