ทีมชาติ "จอร์เจีย (Georgia)" อดีตหนึ่งในสหภาพโซเวียต ได้สร้างประวัติศาสตร์ทางฟุตบอลเมื่อกลางปี 2024 หลังผ่านเข้ารอบน็อกเอาท์ "ยูโร 2024" โดยสามารถคว้าชัยเหนือโปรตุเกส ยักษ์ใหญ่ในวงการลูกหนังโลก ต่อมาช่วงปลายปี พวกเขาได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่ออดีตนักฟุตบอลทีมชาติ สามารถก้าวขึ้นสู่ในตำแหน่ง "ประธานาธิบดี"
โดยอดีตนักเตะผู้นี้ คือ "มิคาอิล คาเวลาชวิลี (Mikheil Kavelashvili)" ศูนย์หน้าจอมเทคนิค ผ่านประสบการณ์ลงสนามให้กับ "แมนเชสเตอร์ ซิตี้" เมื่อฤดูกาล 1995-1997 เขาได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาจอร์เจีย จำนวน 224 จาก 225 เสียง ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ
ท่ามกลางการประท้วงอย่างจากกลุ่มประชาชนที่รับไม่ได้ เนื่องจาก อดีตศูนย์หน้าพรีเมียร์ลีกรายนี้ "ต่อต้านตะวันตก" และกีดกันประเทศไม่ให้ "เข้าร่วม EU" และต้องการกระชับความสัมพันธ์กับ "วลาดิเมียร์ ปูติน" อย่างแน่นแฟ้น
นับเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากเส้นทางฟุตบอลอาชีพของเขายังไปได้สวย เพราะได้รับโอกาสจาก "โลกตะวันตก" ให้เปิดโลกทัศน์ไปแสวงหาความรู้นอกประ เทศ แต่เหตุใดจึงมีท่าที "ต่อต้าน" อย่างออกนอกหน้า ?
"โลกาภิวัตน์" ประตูโอกาส "นักฟุตบอลหลังม่านเหล็ก"
ในปัจจุบันจะได้เห็นนักฟุตบอลจาก "อดีตสหภาพโซเวียต" หรือ "ยุโรปตะวันออก" โชว์ฝีเท้าในลีกใหญ่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น "เฮนริค มคิตารยาน (Henrikh Mkhitaryan)" กองกลางสายรุกสัญชาติอาร์เมเนีย ผู้ผ่านประสบการณ์กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาร์เซนอล และอินเตอร์ มิลาน "อาร์เต็ม โดฟบีค (Artem Dovbyk)" ศูนย์หน้าสัญชาติยูเครน ที่กำลังฟอร์มร้อนแรงกับโรม่า หรือ "ควิชา ควารัตเคเรีย (Khvicha Kvaratskhelia)" ปีกพ่อมดสัญชาติจอร์เจีย ซึ่งสโมสรนาโปลี ขาดไม่ได้ แต่ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็น หาเป็นเช่นนั้นไม่
"เส้นแบ่ง" ของโลกเสรี ที่อยู่ตะวันตก และโลกหลังม่านเหล็ก ที่อยู่ตะวันออก ถือว่าเข้มข้นมาก นักฟุตบอลที่เกิดในโซเวียต ยูโกสลาเวีย หรือเชโกสโลวาเกีย ชั่วชีวิตนี้ไม่มีทางที่จะข้ามพรมแดนอุดมการณ์ เข้ามาหากินในถิ่นเจริญทางฟุตบอล เช่น อังกฤษ เยอรมนี หรือสเปน ได้ หรือในบางประเทศได้มีการจำกัดอายุขั้นต่ำที่จะออกไปค้าแข้งนอกประเทศได้ ส่วนใหญ่อยู่ที่ 27-28 ปี ซึ่งในอดีตถือว่า "แก่เกินแกง" เสียแล้ว
ดังนั้นจึงต้องขอบคุณ "โลกาภิวัตน์ (Globalisation)" ที่ทำให้ผู้คนจากภูมิภาคนี้สามารถที่จะเปิดโลกทัศน์อพยพออกมาตั้งถิ่นฐานในตลาดทุนนิยมเสรีทางฟุตบอลได้
งานวิจัย The Flood from the East? Perestroika and the Migration of Sports Talent from Eastern Europe เขียนโดย วิก ดุค (Vic Duke) เสนอว่า เมื่อโซเวียตดำเนินนโยบาย "Perestroika" คือ การปรับโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจให้โน้มเอียงไปทาง "ทุนนิยม" มากขึ้น เนื่องจากโซเวียตไม่สามารถทัดทานกระแสโลกเสรีได้ไหว จากโลกาภิวัตน์ที่มาจากการโฆษณาทีวี หรือการที่ชาวต่างชาตินำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้ผู้คนในประเทศเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง
พวกเขาต้องการบริโภคสินค้าหรูหรา ตามเทรนด์ รวมถึงต้องการค่าแรงตามความสามารถและสติปัญญา จึงต้องเปิดให้มีการ "เคลื่อนย้ายแรงงานเสรี" ได้ตามความต้องการได้ ไม่ต่างจากวงการฟุตบอล บรรดาพ่อค้าแข้งในโซเวียตแต่ก่อน ไม่ว่าจะมีฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์เพียงใด ย่อมได้รับค่าแรงเท่ากันทั้งหมด จึงขาดแรงจูงใจที่จะโชว์ฟอร์มสุดเร้าใจ เมื่อ Perestroika เกิดขึ้น จึงเกิดการอพยพครั้งใหญ่ (The Great Migration) ของนักฟุตบอลไปยังลีกในยุโรปตะวันตก
คาเวลาชวิลี เป็นผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้ หลังจากที่ใช้ระยะเวลา 7 ฤดูกาล (1988-1995) กับ "ดินาโม ทบิลิซี (Dinamo Tbilisi)" เขาได้ย้ายไปซบอกอุ่น ๆ ของ "แมนฯ ซิตี้" ที่ในตอนนั้นยังเป็นทีมระดับกลาง ๆ ค่อนข้างอยู่ทางท้ายตาราง ยังไม่มีเงินถุงเงินถังเหมือนปัจจุบัน ต้องตะโกนหา "ของดีราคาถูก" ในตลาดลูกหนัง และมาพบกับพ่อค้าแข้งจาก "จอร์เจีย" ซึ่งตรงกับลักษณะทุกอย่าง
และเหมือนดังฝันใฝ่ เมื่อศูนย์หน้าเจ้าของความสูง 180 ซม. ซัดประเดิมสนามตั้งแต่แมทช์เปิดตัว และยังเป็นการตะบันใส่ "แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด" คู่แค้นนิรันดร์ร่วมเมืองอีกด้วย เป็นที่น่าเสียดายว่า เกมนั้น ทีมของหัวหอกหมายเลข 32 แพ้ไป 2-3
แม้ผลงานโดยรวมจะน่าผิดหวัง เพราะพลพรรคเรือใบสีฟ้าต้องกระเด็นตกชั้น และเขายิงได้เพียง 3 ประตู ตลอดการอยู่ใต้ชายคาแห่งนี้ แต่เส้นทางหลังจากนั้น เขาตระเวนหากินกับสโมสรฟุตบอลใน "สวิตเซอร์แลนด์" ไม่ได้หวนกลับไปยังมาตุภูมิอีกเลย ก่อนที่เขาจะหายจากสารบบลูกหนังอย่างเงียบ ๆ และเมื่อปรากฎตัวอีกครั้ง ก็ได้กลายเป็น "นักการเมือง" ไปเสียแล้ว
"ทิ้งวิถีตะวันตก" บนเส้นทางเดิน "ขวาจัด"
ด้วยความที่เป็นนักฟุตบอลที่ผจญภัยอยู่ในลีกอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์มายาวนาน ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่า เส้นทางการเมืองของ คาเวลาชวิลี จะมีทิศทางแบบ "เชิดชูคุณค่าตะวันตก" เฉกเช่นเดียวกับ นักฟุตบอลที่ผันตัวมาเล่นการเมืองผู้อื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็น "จอร์จ เวอาห์ (George Weah)" ประธานาธิบดีไลบีเรีย อดีตศูนย์หน้า เอซี มิลาน และเจ้าของบัลลงดอร์ 1 สมัย ที่มีแนวคิดไปในทางปฏิรูปและเชิดชูสิทธิมนุษยชน หรือ "ฮาคาน ซูเคอร์ (Hakan Şükür)" อดีตศูนย์หน้าตุรกี และ อดีต สส. ที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากอุดมการณ์ขัดแย้งกับ เรเซฟ ไตยิป แอร์โดกัน (Recep Tayyip Erdoğan) ท่านผู้นำอำนาจนิยมสูงสุด
แต่ คาเวลาชวิลี ไม่ใช่แบบนั้น เขามีเจตจำนงชัดเจนมาตั้งแต่เลือกเดินบนถนนสายการเมืองว่า จะเป็นหน้าด่าน "ต่อต้านตะวันตก" และ "ขีดขวางการเข้าร่วม EU" ของจอร์เจีย ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ในปี 2016 พรรคจอร์เจียสุบิน หรือ "Georgian Dream" ที่มีจุดประสงค์ชัดเจน คือ ต้องการนำพาประเทศอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย ได้มาทาบทามเขาให้ลงสมัคร สส. ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งไปทำหน้าที่ตามอำนาจนิติบัญญัติ
เขาได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2020 แต่เล็งเห็นว่า แม้จะมีอุดมการณ์ตรงกันเรื่องของการเข้าเป็นพันธมิตรกับปูติน แต่อุดมการณ์ของพรรค ยังคงเป็นแบบเชิดชูคุณค่าตะวันตก และยังคงต้องการนำพาประเทศเข้าร่วมกับ "สหภาพยุโรป" หรือ "EU" ให้ได้ ตรงข้ามกับความต้องการของคาเวลาชวิลี
ในที่สุด เขาและ สส. บางส่วนก็ออกมาก่อตั้งพรรคพลังประชาชน หรือ People's Power ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านตะวันตกแบบสุดขั้ว ในปี 2022
พรรคของเขาทำการจับมือเป็นพันธมิตรกับ Georgian Dream เพื่อ "เตะถ่วง" อำนาจของประธานาธิบดีที่มีจิตใจฝักใฝ่ตะวันตกไม่ให้ทำงานได้ตามที่หวัง สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างมาก จนทำให้ต้องออกมาเดินขบวนรัว ๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
และเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2024 สิ้นสุดลง ทั้งสองพรรคประสานพลังจนได้เสียงข้างมากในสภา จนกลายเป็นตัวเร่งผลักดันให้ ซาโลเม ซูราบิชวิลี (Salome Zourabichvili) ต้องกระเด็นตกเก้าอี้ และเป็น คาเวลาชวิลี ที่ขึ้นมาแทน
คำครหา "การเมืองเซเลบ" ไร้การศึกษา-กึ๋นบริหาร
ดังจะเห็นได้ว่า การได้เปิดหูเปิดตาสัมผัสคุณค่าแบบตะวันตก ใช่ว่าจะทำให้เกิดการโน้มน้าวให้เปลี่ยนมายึดมั่นสิ่งนี้เสมอไป เพราะบางครั้ง อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เฉก คาเวลาชวิลี ที่ต่อต้านตะวันตกถึงขีดสุด และไม่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าสู่ความเป็นพันธมิตรโลกตะวันตกเช่นกัน
อีกประเด็นหนึ่งคือ การก้าวขึ้นสู่อำนาจของเขานั้น มีแรงกระเพื่อมอย่างหนักหน่วง แม้จะมีความชอบธรรมตามกฎหมาย แต่กลับไร้การยอมรับจากประชาชน นอกเหนือจากประเด็นที่ขัดแย้งกันเชิงอุดมการณ์แล้ว ยังมีประเด็น "การศึกษา" ของเจ้าตัวอีกด้วย
จอร์เจียเป็นอีกประเทศที่ไม่ได้กำหนด "คุณสมบัติ สส." ว่าต้องเรียนจบระดับปริญญาบัณฑิต หรือการศึกษาขั้นพื้นฐานใด ๆ เรียกได้ว่า ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เป็นขวัญใจของผู้คนในพื้นที่ ย่อมสามารถที่จะเข้าไปมีที่นั่งในสภา ได้อย่างไม่ยากเย็น
คาเวลาชวิลี เหมือนกับนักฟุตบอลทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องปากกัดตีนถืบ ใช้ฝีเท้าแลกเงินมาทั้งชีวิต ทำให้เกิดคำครหาว่า ได้เป็นประธานาธิบดีเพราะ "มีผู้ผลักดัน" ไม่แน่ใจว่า จะรู้เรื่องการบริหารประเทศหรือไม่ ต่างจาก จอร์จ เวอาห์ หรือ ฮาคาน ซูเคอร์ ที่ขวนขวาย เตะบอลไปด้วย เรียนไปด้วย จนได้รับปริญญาบัตร จึงไม่ติดปัญหาดังกล่าว
สิ่งนี้ คือ ปัญหาที่เรียกว่า "การเมืองเซเลบ" หรือ "Celebrity Politics" ที่ผู้คนไม่ได้เลือกผู้นำที่ความสามารถ ประสิทธิภาพการบริหาร หรือผลงานทางการเมือง แต่เลือกเพราะ "ถูกใจ" ล้วน ๆ และมักถูกใจประชาชนส่วนใหญ่จะเป็น "ผู้ที่ออกสื่อบ่อย ๆ"
เราจึงได้เห็นอาชีพแปลก ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยว ข้องกับการ เมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งมากมาย โดยเฉพาะ "นักกีฬา" ซึ่งก็เป็นปัญหา ตามมาถึงความคุ้นชินในระบบ หรือความเข้าใจนโยบายหรือเรื่องเทคนิคต่าง ๆ
ทั้งนี้ การศึกษาไม่ได้การันตีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องติดตามว่า ภายหลังกุมบังเหียนของ คาเวลาชวิลี จะนำพาจอร์เจีย ไปในทิศทางใด จะล้มเหลวเหมือนเมื่อตอนเขาค้าแข้ง หรือจะกลายเป็นปรากฏการณ์ได้แบบ "โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy)" อดีตดาวตลกที่นำพายูเครนต้านรัสเซียได้อย่างอยู่หมัด
แหล่งอ้างอิง
- บทหนังสือ The Flood from the East? Perestroika and the Migration of Sports Talent from Eastern Europe ใน The Global Sports Arena Athletic Talent Migration in an Interdependent World
- บทความ Divided Georgia: A Hostage to Polarization
- บทความ Mikheil Kavelashvili used to play for Manchester City. Now he’s Georgia’s far-right president-elect
- บทความ Eastern Europe: Foreign Players in the Football League
- https://shorturl.at/hDT1L
- http://tiny.cc/ThaiPBSGeorgia1
- http://tiny.cc/ThaiPBSGeorgia2
- http://tiny.cc/ThaiPBSGeorgia3
อ่านข่าว