ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทยสภายื่นสอบจริยธรรมแพทย์ รพ.ตำรวจ ปมทักษิณนอนชั้น 14

การเมือง
18 ธ.ค. 67
20:45
1,050
Logo Thai PBS
แพทยสภายื่นสอบจริยธรรมแพทย์ รพ.ตำรวจ ปมทักษิณนอนชั้น 14
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทยสภาส่งหนังสือถึง รพ.ตำรวจ สอบสวนจริยธรรมแพทย์กรณีรักษา "ทักษิณ" หลังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสส่งตัวนอน รพ.ตำรวจ นานครึ่งปี ขีดเส้นส่งเอกสารโดยละเอียด ก่อน 15 ม.ค.68

วันนี้ (18 ธ.ค.2567) แพทยสภาเริ่มกระบวนการสอบสวนจริยธรรมแพทย์ ในกรณีรักษานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกส่งตัวจากทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ มารักษายัง รพ.ตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2566 จนถึงวันที่ได้รับการพักโทษในวันที่ 18 ก.พ.2567 ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกี่ยวกับความโปร่งใสในการวินิจฉัยและดูแลรักษา เนื่องจากระยะเวลาการรักษายาวนานผิดปกติ จนประชาชนตั้งคำถามว่าการดำเนินการนี้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ป่วยเกินความจำเป็นหรือไม่

คณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติว่าคำร้องดังกล่าวมีมูล จึงส่งต่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจดำเนินการพิจารณา โดยได้ขอข้อมูลและคำชี้แจงจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเอกสารการรักษา รายละเอียดกระบวนการตรวจวินิจฉัย และความเห็นจากแพทย์ผู้รับผิดชอบทุกคน รวมถึงการพิจารณาการปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในประเด็นด้านจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ

อ่านข่าว : มวลชนกดดัน ป.ป.ช.เร่งไต่สวน 12 ขรก.เอื้อ "ทักษิณ" นอนชั้น 14

เรื่อง ขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาจริยธรรรม

เรียน นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
(รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.พระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330)

ตามที่สำนักงานเลขาธิการแพทยภา ได้รับคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามคำร้องที่ 235,256/2566 และ 23/2567 เกี่ยวกับกรณีเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ผู้ป่วยรายนายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับการรักษาในทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ต่อมาวันที่ 23 ส.ค.2566 ถูกส่งต่อการรักษาไปยัง รพ.ตำรวจ และจนกระทั่งผู้ป่วยได้เดินทาง ออกจาก รพ.ตำรวจ กลับมายังบ้านพัก เนื่องจากได้รับการพักโทษตามประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ โดยผู้ป่วยได้รับการพักโทษ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2567 ซึ่งตั้งแต่ที่ผู้ป่วยได้รับโทษจนถึงวันที่ได้รับการพักโทษ ผู้ป่วยถูกควบคุมตัวและรักษาตัวอยู่ภายใน รพ.ตำรวจ มาโดยตลอด กลายเป็นข้อสังเกต ของประชาชนถึงการทำหน้าที่ของแพทย์ รพ.ตำรวจ ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ป่วยทั้งที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ แพทย์ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ออกใบวินิจฉัยโรคและรับรองให้ผู้ป่วยไปพักรักษา ที่ รพ.ตำรวจ เป็นความเท็จหรือไม่

คณะกรรมการแพทยสภาในการประชุม ครั้งที่ 10/2567 วันที่ 10 ต.ค.2567 พิจารณาแล้วมีมติ คำร้องมีมูล ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ดำเนินการพิจารณาจริยธรรม

คณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ พิจารณาแล้ว ขอเรียนให้ทราบว่า

1. ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติว่า "บุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยทำเรื่อง ยื่นต่อแพทยสภาได้" ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ร้องถือว่าเป็นบุคคลอื่นตามความในมาตรานี้ และผู้ร้องได้ดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แพทยสภาจึงมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ได้

2. ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 คณะกรรมการสอบสวนฯ อาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 37 ซึ่งกำหนดให้อนุกรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีอำนาจเรียกบุคคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ และมีหนังสือแจ้งให้บุคคลใด ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุเพื่อประโยชน์ แก่การสืบสวนสอบสวน

3. แพทยสภาได้มีหนังสือขอหารือเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไปยังสำนักงานข้อมูลข่าวของราชการ ได้รับการความเห็นว่า "เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่แพทยสภา โดยคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยในทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ และส่งต่อไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว เพื่อใช้ในการพิจารณาสืบสวนสอบสวนจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ถือเป็นการขอข้อมูล ข่าวสารส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์แก่การสืบสวนและสอบสวน ประกอบกับอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เวชกรรมและอนุกรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (6) และ (8) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับ การพิจารณาจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม..."

อ่านข่าว : มติ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน 12 จนท.รัฐเอื้อ "ทักษิณ" นอน รพ.ตำรวจ

ดังนั้นคณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพิจารณาจริยธรรมในคำร้องนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 ขอให้ท่านชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งส่งเอกสาร พยานหลักฐานหรือวัตถุพยานเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาจริยธรรม ดังนี้

1. คำชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดการเข้ารับการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยราย นายทักษิณ ชินวัตร ทั้งหมดโดยละเอียด

2. ขอทราบ ชื่อ-สกุล แพทย์ทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยราย นายทักษิณ ชินวัตร โดยให้แจ้ง ชื่อ-นามสกุล และ เลขใบประกอบวิชาชีพ

3. คำชี้แจงจาก บุคคลในข้อ 2. เกี่ยวกับกระบวนการตรวจ การวินิจฉัย การดูแลรักษาในผู้ป่วยราย นายทักษิณ ชินวัตร โดยละเอียด

4. กรณีนี้เนื่องจากผู้ป่วยราย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ต้องขังที่ส่งตัวไปรักษาตัวนอกเรือนจำ นานเกินกว่า 30 วัน ตามที่กำหนดในข้อ 7 ของกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งมีการกำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ มีทำหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ ดังนั้น จึงขอความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

5. กรณีนี้เนื่องจากผู้ป่วยราย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ต้องขังที่ส่งตัวไปรักษาตัวนอกเรือนจำนานเกินกว่า 60 วัน ตามที่กำหนดในข้อ 7 ของกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอก เรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งมีการกำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ มีทำหน้าหนังสือขอความเห็นชอบ จากอธิบดีพร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ ดังนั้น จึงขอความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

6. กรณีนี้เนื่องจากผู้ป่วยราย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ต้องขังที่ส่งตัวไปรักษาตัวนอก เรือนจำนานเกินกว่า 120 วัน ตามที่กำหนดในข้อ 7 ของกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งมีการกำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ มีทำหนังสือขอขอความเห็นชอบจากอธิบดีพร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ ดังนั้นจึงขอความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

7. สำเนาใบส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาต่อ สำเนาเวชระเบียน สำเนาบันทึกการผ่าตัด สำเนาบันทึกการให้ยาระงับความรู้สึก สำเนาบันทึกการพยาบาล สำเนารายงานทางการแพทย์ และ เอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัย ผลการตรวจทางรังสี และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ผู้ป่วยราย นายทักษิณ ชินวัตร โดยให้ระบุหมายเลขหน้าเอกสารดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ลงนามรับรองสำเนาเอกสารทุกหน้าด้วย ทั้งนี้ ขอตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2566 ที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อการรักษาไปรักษาใน รพ.ตำรวจ จนกระทั่งผู้ป่วยถูกจำหน่ายออกจาก รพ.ตำรวจ ซึ่งถือว่าเกี่ยวข้องกับการพิจารณาจริยธรรมในครั้งนี้

8. ข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ในการพิจารณา

โดยขอให้ท่านทำคำชี้แจงพร้อมพยานหลักฐานที่สนับสนุนคำชี้แจงนั้น เป็นลายลักษณ์อักษรตามประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณา กรุณาจัดทำคำชี้แจงเป็นตัวพิมพ์ภาษาไทย เว้นแต่เป็นคำศัพท์เทคนิคเฉพาะ โดยส่งคำชี้แจงพร้อมพยานหลักฐานดังกล่าวไปยังคณะอนุกรรมการสอบสวน ชุดเฉพาะกิจ ณ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา อาคารมหิตลาธิเบศร ชั้น 12 ชอยสาธารณสุข 4 กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ภายในวันที่ 15 ม.ค.2568

อ่านข่าว : "ทวี" ลั่นพิสูจน์ความจริง 12 จนท.ปมป.ป.ช.ไต่สวนเอื้อทักษิณชั้น 14

ข่าวที่เกี่ยวข้อง