วันนี้ (18 ธ.ค.2567) การประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจาก 9 ประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 19 (COP-19) ได้ข้อสรุปร่วมกันในการเดินหน้าตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อติดตามตรวจสอบและประเมินผลโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควัน ฉบับที่ 2 โดยสำนักงานจะอยู่ที่อินโดนิเซีย
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า หนึ่งในแผนจัดการจากปัญหาหมอกควันข้ามแดนของไทย คือขอความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทเอกชนไม่รับซื้อพืชผลทางการเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาพื้นที่เกษตรหรือป่าไม้
ไทยกำลังเดินตามมาตรการที่เข้มงวดของสิงคโปร์ ที่ได้รับผลกระทบควันไฟป่าข้ามแดนจากอินโดนิเซีย โดยเมื่อปี 2557 มีการออกกฎหมายควบคุมกลุ่มธุรกิจสวนปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียที่มีที่ตั้งในสิงคโปร์ ซึ่งในส่วนของไทยจะผลักดันผ่านกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อประชาชน
ภาคเหนือตั้งแผนรับมือฝุ่นข้ามแดน 2568
สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดนของไทย เกษตรกรหลายจังหวัดภาคเหนือเริ่มเผาเศษวัชพืชและฟางข้าว เพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาใช้มาตรการห้ามเผาในเดือน ม.ค.2568 โดยแผนรับมือปีนี้ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ระบุว่า ได้ประสานประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้กลไกความร่วมมือพื้นที่ชายแดน ขอความร่วมมืองดเผาร่วมกัน โดยเมียนมาประสานผ่านคณะกรรมการประสานชายแดนไทย-เมียนมา (TBC)
ขณะที่ลาวประสานผ่านระดับอำเภอคือ เชียงแสน เชียงของและเวียงแก่น หารือระดับเจ้าแขวง แลกเปลี่ยนปัญหาไฟป่าระหว่างประเทศ ซึ่งปีนี้จะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้น
ส่วนกองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งศูนย์บัญชาการเฝ้าระวังแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควันภาคเหนือ บูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประสานกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน เพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นข้ามแดนร่วมกัน
อ่านข่าว
"สันธนะ" เปิดจดหมาย "สุนทร" จากเรือนจำ อ้างตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์
แพทยสภายื่นสอบจริยธรรมแพทย์ รพ.ตำรวจ ปมทักษิณนอนชั้น 14
ศาลเลื่อนอ่านคดี "เอกราช ช่างเหลา" ยักยอกสหกรณ์ครู 11 ก.พ.68