ลงใต้ครั้งแรกไปแล้ว สำหรับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี แม้เคยมีเรื่องใหญ่อย่างคดีตากใบหมดอายุความ ที่มีเสียงเรียกร้องให้ลงไปขอโทษชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เพราะตำรวจไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดไปลงโทษหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลยแม้แต่คนเดียว
ตามด้วยสถานการณ์ท่วมใหญ่ ปลายเดือนพ.ย.2567 ที่ผ่านมา ตรงกับช่วงที่นายกฯ นำคณะไปประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ และแม่สาย จ.เชียงราย มีถ่ายภาพเซลฟี่สบายๆ ปรากฏให้เห็นทางโซเชียล กลับกรุงเทพฯ ยังไปช็อปปิ้งกับครอบครัวและเพื่อนๆ แถวสามย่าน ขณะที่คนปักษ์ใต้จมทุกข์อยู่กับน้ำ
แม้จะอ้างว่า ส่งรัฐมนตรีลงไปในพื้นที่แล้ว แต่ย่อมไม่เหมือนนายกฯ ลงไปเอง ข้ออ้างเรื่องจะทำให้ข้าราชการต้องมารอต้อนรับ แทนที่จะช่วยคนน้ำท่วม แต่ความจริงแล้ว รัฐมนตรีลงไปข้าราชการ ก็ต้องมารอต้อนรับอยู่ดี
ไม่แน่นักว่า ข้าราชการที่อ้างว่า ต้องเสียเวลามาต้อนรับนายกฯนั้น แท้จริงแล้ว คือกลุ่มเดียวกับที่ลงไปช่วยน้ำท่วมชาวบ้านหรือไม่
ลงใต้ไปให้กำลังใจ แจกถุงยังชีพ ที่สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ผลเป็นไปตามคาด คือได้รับการต้อนรับ มีชื่นชมให้กำลังใจจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ ไม่ได้มีอะไรน่ากลัว หรือต้องคอยหวาดผวา ว่าจะมีภัยอันตรายจากคนภาคใต้ หรือก่อหวอดชุมนุมประท้วงขับไล่ ไม่ต้อนรับ
อันจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของนายกฯ อย่างที่ทีมงานของนายกฯ ส่วนหนึ่งเกรงว่าจะเกิดขึ้น และน่าจะเป็นเหตุให้นายกฯ ไม่ยอมลงพื้นที่ภาคใต้เลย กระทั่งถูกแซะและแชร์ว่อนโซเชี่ยล วลี “ไม่ละเลยคนใต้ เพราะสามีเป็นคนใต้” จนหลายคนสงสัยว่า เป็นตรรกะแบบไหน
ความจริงนครศรีธรรมราช บ้านเกิดและพื้นเพเดิมสามีนายกฯ นายปิฎก สุขสวัสดิ์ เมื่อครั้งนายกฯ ยังเป็นเพียงหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เคยร่วมคณะพรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรมและเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ “ครอบครัวเพื่อไทย แหลงจริง ทำได้ คนใต้หรอยแรง” เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565
ร่วมกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพรรค นายชัยเกษม นิติศิริ หนึ่งในแคนดิเดทนายกฯพรรคเพื่อไทย โดย น.ส.แพทองธาร ปราศรัยประกาศตัวเป็นสะใภ้คนคอน อ้อนขอคะแนนชาวปักษ์ใต้ลงคะแนนให้ เพื่อให้แลนด์สไลด์ จะได้ สส.เกิน 250 คน เพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ แต่เลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ สส.เลยแม้แต่คนเดียว
ภาคใต้จึงเป็นเสมือนดินแดนต้องห้ามของพรรคเพื่อไทย ที่แม้จะเคยได้ สส.หนึ่งคน คือนายกฤษ ศรีฟ้า เลือกตั้งปี 2548 แต่เป็นเพราะคะแนนนิยมส่วนตัว จากการเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและช่วยเหลือผู้คนในเหตุการณ์สึนามิถล่ม เมื่อปลายปี 2547 หลังจากนั้น ไม่เคยปักธง สส.ได้เลย
อันเป็นผลจาก 2 เหตุการณ์สำคัญเป็นอย่างน้อย คือเหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อเดือนเมษายน 2547 เฉพาะที่มัสยิดกรือเซะ มีคนตายถึง 34 คน และเหตุการณ์ตากใบ เดือนตุลาคม ปี 2547 เช่นกัน มีผู้เสียชีวิตทั้งจากสลายการชุมนุม และระหว่างถูกลำเลียงไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี รวมถึง 85 คน ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในรัฐบาลนายทักษิณ
เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวมุสลิม ที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเป็นเรื่องที่มีคนจำนวนไม่น้อยไม่สบายใจอย่างมาก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับแต่งตั้งจากนายกฯ มาเลย์ นายอันวาร์ อิบราฮิม ให้เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า
ตัวอย่าง มุมของนายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกต 2 ประเด็นที่ต้องจับตา 1.การแต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษา จะถือเป็นการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศของไทยหรือไม่
และประเด็นที่ 2 คือกรณีกรือเซะ ตากใบ รวมถึงเรื่องปราบยาเสพติดให้โทษ ที่มีการฆ่าตัดตอน มีชาวไทยมุสลิมได้รับผลกระทบ และเกี่ยวข้องจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ได้ตั้งคำถามกลับไปยังนายกฯ มาเลย์ด้วยว่า ได้ตระหนักถึงหัวอกของชาวมุสลิมมาเลเซีย ด้วยกันบ้างหรือไม่ กับการแต่งตั้งนายทักษิณ
ซึ่งถูกโยงกับ 2 เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่า มีเสียงวิพากษ์เรื่องนี้ในมาเลเซียไม่น้อย โดยเฉพาะปมการตั้งอดีตผู้นำประเทศอื่น ไปเป็นที่ปรึกษา แทนที่จะตั้งคนที่มีความรู้ความสามารถในประเทศมาเลเซียเอง โดยไม่เคยมีปรากฏมาก่อน
บทบาทที่ปรึกษาประธานอาเซียนของนายทักษิณ จึงถูกเชื่อมโยงมาถึงลูกสาวในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ต้องแบกรับแรงกดดันดังกล่าวเต็มบ่า โดยต้องแสดงบทบาทให้เห็นถึงความมุ่งมั่นจริงใจ ที่จะแก้ไขและเยียวยาจิตใจ ผู้คนที่ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรง และโดยอ้อม การลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งแรก จึงเป็นไปได้ที่อาจเป็นการทดสอบและชิมลาง ต่อท่าทีปฏิกิริยาของคนในพื้นที่สอดแทรกอยู่ด้วย
เมื่อการตัดสินใจลงพื้นที่ภาคใต้อย่างเฉียดฉิว เพราะเป็นช่วงปลายมรสุมแล้ว และปรากฏมีเสียงตอบรับขับสู้อย่างดีจากคนในพื้นที่ อาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความมั่นใจ และขยันลงพื้นที่ภาคใต้บ่อยครั้งขึ้น ไม่ต่างจากไปภาคอื่น และอาจได้เห็นนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ รวมทั้งเทงบให้ภาคใต้มากขึ้น เพื่อหวังลบล้างบาดแผลทางจิตใจ และเพื่อเอาชนะใจคนใต้ในอนาคตข้างหน้า ถึงขั้นคาดหวังการปักธง สส.ในภาคใต้
หากทำได้ จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่ทำได้ดีกว่าสมัยพ่อ ทั้งยังจะเพิ่มดีกรีความสำคัญให้มีมากกว่า แค่เป็นสะใภ้คนใต้เท่านั้น
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : ผบ.ตร.ปัดตั้งธงคดี สจ.โต้ง - สั่งตั้ง คกก.สอบตำรวจที่เกี่ยวข้อง
"ทักษิณ" นอน รพ.ตำรวจ แพทยสภายังไม่ฟันแพทย์ผิดหรือไม่
นทีสีคราม มหันตภัย "สึนามิ" โหดร้ายเกินมนุษย์จะคาดเดา