วันนี้ (20 ธ.ค.2567) จากกรณีในช่วงฤดูมรสุมคลื่นลมแรงซัดเข้าชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทุก ๆ ปีได้สร้างเสียหายให้กับที่ดินของชาวบ้านแหลมตะลุมพุก และชาวบ้านปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เฉลี่ยปีละ 3 - 5 ม.เพราะยังไม่สามารถสร้างแนวกันคลื่น แม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแล้วก็ตาม หลังถูกคัดค้านจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เนื่องจากที่ดินบางส่วนตั้งอยู่ในป่าชายเลน
นางไพจิต แก้วแหวน ชาวบ้านหมู่ 3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า ที่ดินเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ที่เสียหาย ปัจจุบันถูกความแรงของน้ำทะเลซัดหายไปกว่าครึ่ง เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นรอยต่อกับ หมู่ 6 ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก ความยาวกว่า 8,000 ม.ยังไม่มีแนวกันคลื่น หรือ แนวหินทิ้ง
นางไพจิต เล่าว่า ในช่วงฤดูมรสุมของทุกปี คลื่นลมที่มีความสูง 1 - 3 ม.ซัดเข้าฝั่งทำให้ที่ดินหายลงไปในทะเล เฉลี่ยปีละ 5 ม.นับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันยังไม่กล้าลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพราะเกรงว่าจะถูกคลื่นซัดบ่อกุ้งได้รับความเสียหาย
นายบุญโชค ขำปราง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก กล่าวว่า ปี 2559 ชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล ต้องพลาดโอกาส จากงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา อนุมัติงบผ่านสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังเกิดภัยพิบัติพายุปาบึกพัดถล่ม
สำหรับแก้ไขปัญหาคลื่นกัดเซาะในระยะยาว หลังถูกคัดค้านจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่า พื้นที่บางส่วนตั้งอยู่ในเขตป่าชายเลนจึงไม่สามารถดำเนินการสร้างแนวกันคลื่นได้ ทำให้ชาวบ้านทราบความจริงว่า ที่ดินของที่ถือครองสิทธิ์ นส.3 ก. อย่างถูกต้องประกาศทับที่
ต่อมาใน เดือน ม.ค.ปี 2566 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างแนวกันคลื่น โดยในวันดังกล่าว มีตัวแทนชาวบ้านกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม โดยทุกคนพร้อมใจยกมือสนับสนุนให้มีการก่อสร้าง แต่ดูเสมือนว่า ทุกอย่างยังไม่มีความคืบหน้า เพราะคณะกรรมการกระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังไม่นำเรื่องเข้าพิจารณา ชาวบ้านจึงเตรียมเคลื่อนไหวเข้ายื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็ว ๆ นี้
อ่านข่าว : "บิ๊กป๊อด" ตอบกระทู้สดครั้งแรก แก้กัดเซาะชายฝั่งปากพนัง
"กรมเจ้าท่า" ทุ่มงบเกือบ 220 ล้าน สร้างแนวกันคลื่น จ.สงขลา
ค้านสร้างแนวกันคลื่นหาดท้ายเหมือง หวั่นกระทบหลุมไข่เต่า