เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2567 หลังมีข่าวการระบาดของเชื้อโนโรไวรัส นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน 2 แห่งที่มีรายงานท้องเสียกันทั้งโรงเรียนรวม 1,436 คนนั้น แต่หลังการตรวจเชื้อพบมีคนที่ติดเชื้อโนโรไวรัสจริง ๆ เพียง 2 คนเท่านั้น ที่เหลือเกิดจากการติดเชื้อ อี.โคไล และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย โดยสาเหตุเชื่อว่าเชื้อปนเปื้อนมากับน้ำและน้ำแข็ง เท่ากับจริง ๆ แล้ว เชื้อโนโรไวรัสบ้านเรา ไม่ได้มีผู้ป่วยเยอะมากเหมือนที่จีนเพิ่งเผชิญมา
อ่านข่าว : กรมอนามัยยัน "โนโรไวรัส" ระบาดในระยองเป็น "ข่าวปลอม"
แต่ไม่ใช่ว่าจะตัดความเสี่ยงการระบาดของเชื้อโนโรไวรัสไปได้ทีเดียว เพราะโนโรไวรัส ยังคงเป็นหนึ่งในเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังอยู่ เชื้อตัวนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ พบได้ทุกปีก็จริง แต่ยังไม่มีวัคซีนหยอดป้องกันแบบโรตาไวรัส เนื่องจากมีเชื้อหลายสายพันธุ์การจะพัฒนาวัคซีนอาจจะซับซ้อนอยู่บ้าง
ล่าสุดทางรองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี ก็ออกมาเตือนประชาชนดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาว เพราะด้วยสภาพอากาศที่มีความชื้นและเย็น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัสที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้
แต่กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษก็คือกลุ่มเด็ก จากข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถิติของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสปี 2561-2567 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 729 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ช่วงอายุที่ติดมากที่สุด ก็คือกลุ่มเด็กเล็กวัย 0-4 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ
แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ภาพรวมของการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในบ้านเรา ปีหนึ่ง ๆ มีคนท้องร่วงกัน 600,000-700,000 คน ปี 2566 ป่วย 680,000 กว่าคน เสียชีวิต 2 คน ส่วนปี 2567 มีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่ากลางย้อนหลัง 5 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 13 ธ.ค. พบผู้ป่วยแล้วกว่า 740,000 คน เสียชีวิต 2 คนเช่นกัน แต่ว่าในจำนวนผู้เสียชีวิต ไม่ได้เกิดจากโนโรไวรัส
แต่ที่น่าสนใจ ถ้าดูเฉพาะปี 2567 แนวโน้มผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากโนโรไวรัสช่วงเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก ที่ 1,240 คน จากส่วนใหญ่จะพบที่หลักร้อย โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น
โดยเหตุระบาดสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. - 13 ธ.ค. อยู่ที่ 85 เหตุการณ์ โดยเชื้อก่อโรค 56 เหตุการณ์ แต่ที่มีโรคมากกว่า 1 ชนิด มี 41 เหตุการณ์
เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่ที่พบมากที่สุด คือ ซัลโมเนลลา รองลงมาเป็น อี.โคไล ส่วนโนโรไวรัส เป็นอันดับ 3 ที่ไล่เรียงมาเพื่อที่จะชี้ว่าไม่ต้องตระหนกมากนักกับเชื้อโนโรไวรัส แต่ก็ลดการ์ดไม่ได้เหมือนกัน เพราะเชื้อตัวนี้ติดง่าย ทนความร้อน ทนน้ำยาฆ่าเชื้อ
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ระบุว่า อาการส่วนใหญ่ ก็เหมือนกับโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไปคือ ท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำอย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันรุนแรงได้
เชื้อโนโรไวรัส ไม่มียาเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการ ส่วนการป้องกันโนโรไวรัสที่ดีที่สุด คือ ใช้หลัก กินสุก กินร้อน ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร จะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
อ่านข่าว : โนโรไวรัสระบาดหนัก! สั่งปิด รร.ในจีน หลัง นร.-เด็กเล็กป่วยนับสิบ
เฝ้าระวัง "โนโรไวรัส" ระบาดโรงเรียน
การล้างมือให้สะอาดก่อนดื่มนม เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรคติดต่อ ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคนตรงอุทิศ ของเทศบาลนครพิษณุโลก ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจทำให้เด็กมีอาการเจ็บป่วยได้
เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโนโรไวรัส ในส่วนของที่ศูนย์ฯ ไม่พบการแพร่ระบาดและไม่มีผลกระทบอย่างไร เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ดูแลเด็ก ๆ เป็นอย่างดี ในเรื่องสุขภิบาล อาหารการกิน โดยเด็กจะต้องแยกช้อนกินร้อนล้างมือทำความสะอาด อาหารที่ปรุงก็จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
เช่นเดียวกับครูที่ รร.แสงสวรรค์ อ.เมืองนครสวรรค์ ก็มีมาตรการด้านสุขอนามัยอย่างเข้มข้น หลังมีกระแสข่าวการแพร่ระบาดโนโรไวรัสที่มักพบการระบาด ในช่วงฤดูหนาว และพบในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำ
นางปัทมา นามโลมา ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงสวรรค์เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนแสงสวรรค์มีเด็กนักเรียนที่เป็นนักเรียนกินนอนและไปเช้าเย็นกลับกว่า 100 คน อายุ 2 - 13 ปี ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนก็เข้มงวดกับการสวมหน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาโดยตลอด ล่าสุดมีมาตรการเพิ่ม หลังกรมอนามัยขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโนโรไวรัส
ทางโรงเรียนได้เน้นให้แม่ครัวดูแลทำความสะอาดวัตถุดิบ และ ปรุงอาหารสุกใหม่ทุกมื้อ พร้อมกำชับให้ครูดูแลให้เด็กล้างมือด้วยน้ำสะอาดด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังทำกิจกรรมในระหว่างวัน นอกจากนี้ยังเพิ่มมาตรการเช็ด ถู ปัดกวาด ห้องเรียน และล้างพื้นที่เป็นคอนกรีตภายในบริเวณโรงเรียนตลอดทุกวัน
ส่วนที่ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ วัดวิเวกธรรมคุณ ต.เมือง อ.เมืองเลย ซึ่งมีนักเรียนกว่า 40 คน อายุระหว่าง 2-6 ปี ครูผู้ดูแลจะพาเด็กล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังทำกิจกรรม รวมถึงก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังมีกระแสข่าวว่า พบการระบาดเชื้อโนโรไวรัสในช่วงนี้และอาจระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เพราะกลุ่มเด็กเล็กมีความเสี่ยงมากที่สุด ส่วนของใช้ส่วนตัวของเด็ก อาทิ ขวดน้ำดื่ม ช้อน ชาม หรือ ที่เด็กนำมาจากบ้าน จะถูกแยกไม่ใช้ร่วมกัน
อ่านข่าวอื่น :