วันนี้ (20 ธ.ค.2567) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดี โจทก์ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่
- กรมการขนส่งทางบก
- อธิบดีกรมการขนส่งทางบก
- สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5
- ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5
- นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หลังโจทก์ไม่ได้รับป้ายภาษีรถยนต์ประจำปี 2568 (หรือตามที่เข้าใจทั่วไป ป้ายวงกลม) แม้จะชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว โดยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการออกป้ายภาษีคือ ผู้ฟ้องคดีค้างชำระค่าปรับจราจรจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการเชื่อมโยงค่าปรับจราจรกับการออกป้ายภาษีรถยนต์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบังคับให้เจ้าของรถยนต์ต้องยอมชำระค่าปรับทั้งที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการโต้แย้งข้อกล่าวหา นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าว ยังส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีถูกจำกัดสิทธิในการใช้รถยนต์อย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากหากนำรถยนต์ออกใช้โดยไม่มีป้ายภาษีที่ถูกต้อง ผู้ฟ้องคดีจะเสี่ยงต่อการถูกปรับข้อหาใช้รถยนต์ที่ไม่มีหลักฐานแสดงการเสียภาษี
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการออกป้ายภาษี โดยออกเพียงใบเสร็จรับเงินที่ใช้แทนป้ายภาษีได้ไม่เกิน 30 วัน พร้อมระบุเหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีค้างชำระค่าปรับจราจรนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี
การชำระภาษีรถยนต์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวรถยนต์โดยตรง ขณะที่การชำระค่าปรับจราจรเป็นเรื่องของบุคคลผู้กระทำผิด การเชื่อมโยงทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกันจึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนที่ใช้รถ
ศาลยังได้ยกตัวอย่างคำพิพากษาในคดีที่เคยมีมาก่อนหน้า (คดีหมายเลขแดงที่ 1855/2563) ซึ่งระบุว่าการออกประกาศที่เชื่อมโยงการชำระค่าปรับจราจรกับการออกป้ายภาษีรถยนต์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย การนำแนวปฏิบัติดังกล่าวมาใช้จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของรถยนต์ และเป็นการบังคับทางอ้อมให้ต้องชำระค่าปรับจราจรโดยไม่มีทางเลือก
ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกป้ายภาษีรถยนต์ประจำปี 2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี นอกจากนี้ยังสั่งให้หน่วยงานของรัฐ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งคำนวณจากค่าภาษีรถยนต์รายเดือนที่ผู้ฟ้องคดีสูญเสียสิทธิ์ในการใช้รถตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยให้มีดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ
คดีนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการ โดยการนำเรื่องค่าปรับจราจรซึ่งเป็นความรับผิดส่วนบุคคลมาเชื่อมโยงกับการออกป้ายภาษีรถยนต์ ซึ่งเป็นภาระของตัวรถ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของรถยนต์ และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน นอกจากนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ยังอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
อ่านข่าวอื่น :