ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โทษประหาร" ยกเลิกหรือคงอยู่ โฆษกศาลฯ ชี้ต้องศึกษาให้รอบด้าน

อาชญากรรม
21 ธ.ค. 67
18:42
238
Logo Thai PBS
"โทษประหาร" ยกเลิกหรือคงอยู่ โฆษกศาลฯ ชี้ต้องศึกษาให้รอบด้าน
ที่ประชุม ครม. เมื่อ 17 ธ.ค. ตีกลับข้อเสนอ กสม. ที่เสนอให้แก้ไขปรับปรุง กม.ที่มีโทษประหารชีวิต โดยระบุว่าศาลยุติธรรม มีความเห็นเพิ่มเติม ความผิดบางชนิดที่ยังจำเป็นต้องมีโทษประหารอยู่ ด้านผู้เสนอให้ยกเลิกมองว่าเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

วันนี้ (21 ธ.ค.2567) สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอของ กสม.ที่ส่งไปยัง ครม. มี 2 ส่วน คือ

  1. ขอให้ไม่ออกกฎหมายใหม่ที่มีโทษประหารชีวิต
  2. ขอให้แก้ไขกฎหมายที่มีบทลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว

และเสนอให้รณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงสาเหตุที่ต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต การเสนอเรื่องนี้ เป็นบทบาทหน้าที่ของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือ ICESCR

ภายใต้กติกาฉบับนี้ มีประเด็นเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตด้วย และปีหน้าไทยจะทำหน้าที่ในคณะมนตรีความมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ จึงยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

โฆษกศาลยุติธรรม ชี้ยกเลิกโทษประหารต้องศึกษาให้รอบด้าน

ด้าน รัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล  โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า กรณีนี้ศาลไม่ได้คัดค้านข้อเสนอ แต่เห็นว่าต้องศึกษาให้รอบด้าน เพราะต้องคำนึงผลกระทบของจำเลย และ ผู้เสียหายในคดี ซึ่งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ กรอบการขับเคลื่อน ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา

มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดโทษทางอาญา หรือใช้บังคับกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิต รวม 16 ส่วนงาน ซึ่งศาลยุติธรรมไม่ได้คัดค้านการยกเลิกโทษประหาร แต่แสดงความเห็นว่า ต้องศึกษาให้รอบคอบ รอบด้าน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เพราะในมุมมองโทษประหารชีวิต จะยกเลิกหรือไม่ ย่อมเกิดผลกระทบกับจำเลย และผู้เสียหายในคดี

โทษประหารชีวิต ยังมีความจำเป็นหรือไม่ ในมุมมองของนักอาชญวิทยา รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต มองเป็น 2 มุม มุมแรก เห็นว่าคดีฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ฆาตกรต่อเนื่อง และ ความผิดฐานข่มขืน ยังเป็นเรื่องร้ายแรง ที่กระทบความรู้สึกทั้งครอบครัวผู้เสียหายและสังคมไทย

แต่อีกมุมผู้กระทำผิด หรือ จำเลย มีสิทธิ์มีชีวิตอยู่ตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มประเทศที่ยกเลิกโทษประหาร มุ่งเน้นลงโทษโดยแก้ไขนิสัย ฟื้นฟู และมูลเหตุจูงใจ เช่น ครอบครัวจำเลย และ สิ่งแวดล้อม ส่วนประเทศไทย ที่ผ่านมา แม้มีโทษประหารชีวิต แต่การนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังขาดประสิทธิภาพ

เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยไม่เชื่อว่าหากยกเลิกโทษประหารชีวิตในคดีร้ายแรง จะทำให้สังคมดีกว่าเดิม

ข้อมูลจากศาลยุติธรรม เดือน ส.ค.2567 มีนักโทษที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต รออยู่ในเรือนจำ 393 คน ในจำนวนนี้มีบางคน ยื่นขอพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เช่น นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ นักโทษคดีฆาตกรรม นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ลดโทษจากประหารชีวิต เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต

ส่วนนักโทษที่ถูกบังคับโทษ ตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิต ครั้งหลังสุด เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 เป็นคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยา

อ่านข่าวอื่น :

พิธา-ทักษิณ ลุยเชียงใหม่ ช่วยหาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

ไทยพร้อมรับมือ! สหรัฐฯ พบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 จากสัตว์เลี้ยง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง