ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชนิดใหม่ของโลก "แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ" ในป่าตะวันตก

สิ่งแวดล้อม
27 ธ.ค. 67
16:58
253
Logo Thai PBS
ชนิดใหม่ของโลก "แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ" ในป่าตะวันตก
ข่าวดี! พบแมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละชนิดใหม่ของโลกในป่าตะวันตกแห่งเดียวที่ จ.กาญจนบุรี โดยดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล นักกกีฏวิทยาจากศูนย์วิจัยแมลงและปรสิตวิทยา มหาวิทยาลัยยุยตัน เวียดนาม

วันนี้ (27 ธ.ค.2567) นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานแถลงข่าวรายงานการพบแมลงชนิดใหม่ของโลก แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ (Prodasineura sangkhla)

โดยมี ดร.แก้วภวิกา จิตธรรมมา อิกเนเชียส นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานและ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล นักกีฏวิทยาจากศูนย์วิจัยแมลงและปรสิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยยุยตัน (Duy Tan University) ประเทศเวียด นาม ที่ได้ร่วมศึกษาการพบแมลงปอชนิดใหม่ของโลก จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี  

สำหรับแมลงปอ แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ พบที่น้ำตกตะเคียนทอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี บริเวณใกล้ชาย แดนไทย–เมียนมา 

โดยแมลงปอเข็มชนิดใหม่นี้ อยู่ในสกุล Prodasineura หรือเรียกว่าสกุล แมลงปอเข็มท้องเข็ม "สังขละ (sangkhla)” คือ ชื่อชนิดใหม่

โดยการตั้งชื่อชนิดครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเน้นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ โดยชื่อ "sangkhla" ได้รับการตั้งตามชื่ออำเภอสังขละบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบ

แมลงปอชนิดนี้ คำว่า "สังขละ" มีรากศัพท์จากภาษาไทยและภาษาพม่า หมายถึง "ความหลากหลาย" หรือ "การผสมผสาน" ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในอำเภอสังขละบุรี เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนหลากหลายวัฒนธรรมเช่นเดียวกับการเป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด

โดยเฉพาะแมลงปอเข็มในสกุลหางเข็ม (Prodasineura) ที่พบในพื้นที่นี้จำนวนมากถึง 4 ชนิด ได้แก่ Prodasineura autumnalis (แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ) P. laidlawii (แมลงปอเข็มท้องเข็มเอราวัณ) Prodasineura sp. (แมลงปอเข็มท้องเข็มส้ม) และชนิดใหม่ที่รายงานครั้งนี้ จากรายงานการพบแมลงปอเข็มในสกุลนี้ทั้งหมด 6 ชนิดในประเทศไทย

ความโดดเด่นของ "แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ"

สำหรับ แมลงปอเข็มท้องเข็มสังขละ สามารถจำแนกชนิดจากแมลงปอเข็มท้องเข็มชนิดอื่น ๆ จากลักษณะดังนี้ ตัวผู้ อกและส่วนท้องมีสีขาว ส่วนปลายท้องและรยางค์ปลายท้องสีฟ้า

ส่วนตัวเมีย อกส่วนหน้า (Prothorax) มีโครงสร้างคล้ายเขาที่เป็นลักษณะเฉพาะ สามารถแยกได้จากแมลงปอสกุลเดียวกัน และมีแถบขาวบนส่วนหัว (Vertex) และลวดลายที่อกส่วนหน้า (Pronotum)

ขณะที่นักวิชาการ ระบุว่า บทบาททางนิเวศวิทยาของแมลงปอเข็มคือ การเป็นตัวห้ำ ช่วยควบคุมประชากรแมลงขนาดเล็ก และเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพที่ดีของน้ำการพบแมลงปอเข็มครั้งนี้ จึงแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติและระบบนิเวศ

ไทม์ไลน์การค้นพบแมลงปอชนิดใหม่

  • พ.ค.2567 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยุยตัน ประเทศเวียดนาม โดย ดร.ทศพล มีหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ ขอเข้าชมตัวอย่างแมลงปอในห้องเก็บตัวอย่างแมลงป่าไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคมถึง 9 มิ.ย.พร้อมด้วยนักวิจัยติดตาม 1 ท่าน คือ
    Dr. Phan Quoc Toan
  • เดือนมิ.ย.2567 นักวิจัยทั้งหมดได้เดินทางไปยังจุดที่พบตัวอย่าง เพื่อดูสภาพแวดล้อมและแหล่งอาศัยพร้อมทั้งถ่ายภาพแมลงปอชนิดใหม่ดังกล่าว และภาพแหล่งอาศัยสำหรับประกอบการเขียนผลงานตีพิมพ์
  • เดือน ส.ค.2567 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยุยตัน โดยดร.ทศพล ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ ขออนุญาตใช้ตัวอย่างแมลงปอจากห้องเก็บตัวอย่าง เพื่อตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการแมลงปอชนิดใหม่ของโลก โดยมี นางแก้วภวิกา จิตธรรมมา อิกเนเชียส เป็นผู้ประพันธ์บทความร่วม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง