ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แผนการเล่น "3-4-3" ชนวน "แมนยู" ตกต่ำ จุดรั่ว "รูเบ็น อโมริม"

กีฬา
4 ม.ค. 68
16:50
631
Logo Thai PBS
แผนการเล่น "3-4-3" ชนวน "แมนยู" ตกต่ำ จุดรั่ว "รูเบ็น อโมริม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

สุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้นค่อนข้างสูง หลังผ่านครึ่งทางของการแข่งขัน จากผลงาน "แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด" ในมือของ "รูเบ็น อโมริม (Ruben Amorim)" หลังทำสถิติ "แพ้ 3 แมทช์รวด" ในพรีเมียร์ลีก แบบยิงประตูไม่ได้ รั้งอันดับที่ 14 ของตารางคะแนน 

แม้หลายฝ่ายจะออกมาวิเคราะห์หาสาเหตุ ทั้ง การหนีเสือปะจระเข้ ได้กุนซือที่ "มือไม่ถึง" เข้ามาคุมทัพ ไม่ต่างจากสมัย "เอริก เทน ฮาก (Erik Ten Hag)" ซึ่งมีปัญหานักเตะกระด้างกระเดื่อง "เล่นไล่โค้ช" จากกรณีของ มาร์คัส แรชฟอร์ด (Marcus Rashford) และ โยชัว เซิร์กซี (Joshua Zirkzee) แต่สิ่งหนึ่งที่แทบไม่กล่าวถึง คือ แผนการเล่น "3-4-3" ที่กุนซือวัย 39 ปี นำมาติดตั้งให้แก่ลูกทีม

แผนนี้ "อันโตนิโอ คอนเต้ (Antonio Conte)" รังสรรค์ให้ "เชลซี" คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016-17 และ "โธมัส ทูเคิล (Thomas Tuchel)" ที่พาพลพรรคสิงห์บลูเถลิงแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2020-21 รวมถึง "ซิโมเน อินซากี (Simone Inzaghi)" ที่พา "อินเตอร์ มิลาน" กลับมาคว้าแชมป์ กัลโช ซีเรีย อา อย่างยิ่งใหญ่มาแล้ว

หากพิจารณารายละเอียดจริง ๆ จะพบว่า แผนการเล่นดังกล่าว มีข้อเสียเปรียบอย่างมากมาย หาก "ทำไม่ถึง" ต่อให้เป็นเทพเจ้าด้านแผนการเล่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะเสกให้ทีมที่ร่อแร่แบบพลพรรคปิศาจแดงพุ่งขึ้นมาจากโซนอันตรายได้

"โยฮัน ครัฟฟ์" กับ "บาร์เซโลนา" 3-4-3 ระห่ำโลก

ประวัติของแผน 3-4-3 เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1990 โดย "โยฮัน ครัฟฟ์ (Johan Cruyff)" พัฒนามาจากแผนการเล่น 4-3-3 สมัยเขาเป็นนักเตะ "อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม (AFC Ajax)" ด้วยเล็งเห็นว่า แผน 4-3-3 นั้น แผงกองกลางในเกมรับจะมีเพียง 1 ตำแหน่ง ที่ต้องรับภาระหนักเกินไป จึงได้ปรับมาให้กองหลังเหลือเพียง 3 ตำแหน่ง และเติมผู้เล่นแดนกลางเป็น 4 ตำแหน่ง

โดยด้านในจะเป็นคู่กลาง "Double-pivot" หรือ คู่กลางพลังไดนาโม วิ่งไม่มีหมด ทั้งตัดเกม ทำเกม หรือเติมขึ้นไปทำประตู ส่วนด้านกว้างจะเป็น "Wing-back" หรือ แบ็คซ้าย-ขวา ที่เติมขึ้นไปเล่นเกมรุก และเข้าบีบในแดนกลาง เพื่อแย่งบอล ทำเกมด้านข้างให้ 3 กองหน้า บางครั้ง แบ็คสองฝั่งต้องลงมาช่วย 3 กองหลังในเกมรับ

แผนการเล่นนี้ เหมาะสมกับ "ทีมใหญ่" ที่คุณภาพนักเตะอยู่ในระดับสูง เพราะเป็นการเล่นเกมโหมบุกอย่างหนัก เพื่อยิงประตู และชิงความได้เปรียบในแดนกลาง ครัฟฟ์ เล็งเห็นว่า "บาร์เซโลนา (FC Barcelona)" ที่เขาคุมทัพ ไม่เหมาะกับระบบ 4-3-3 ที่ทำเกมบุกไม่ค่อยได้ และแผงหลังที่ยืน 4 ตำแหน่งและไม่ค่อยแน่น จึงได้ติดตั้ง 3-4-3 อย่างถาวร

ปรากฏว่า พลพรรคอาซูลกรานา ครองความยิ่งใหญ่ในแผ่นดินสเปนได้อย่างท่วมท้น คีย์แมนสำคัญมีอยู่ 3 ตำแหน่ง อย่างแรก ในแผงหลัง 3 คน ไม่ได้สักแต่ว่าเล่นเกมรับอย่างเดียว แต่กองหลังตรงกลาง สามารถที่จะเป็น "เพลย์เมกเกอร์ (Playmaker)" ลำเลียงบอล จ่ายบอล ทำเกม รวมถึงเติมขึ้นมายิงไกล และลูกเตะฟรีคิกได้ เรียกได้ว่า "ครบเครื่อง" สุด ๆ ซึ่งกองหลังผู้นี้มีนามว่า "โรนัลด์ คูมัน (Ronald Koeman)"

ส่วนแดนกลาง "เป็ป กวาร์ดิโอลา (Pep Guardiola)" เรียกได้ว่าสมองเพชร เป็น "Single-pivot" คู่หูของเขาแทบไม่ต้องมาช่วยในตำแหน่งนี้ ทำให้เกมรุกของทีมสะดวกในการเล่นมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เป็ปยังมีทักษะการครองบอลที่หาตัวจับยาก ทำให้การขึ้นเกมตรงกลางของ "บาร์ซา" ไหลลื่นไม่มีสะดุด ไม่เสียบอลง่าย ๆ และเป็นการหลอกล่อให้คู่แข่งเปิดช่องให้ทำเกมรุกอีกด้วย

และท้ายสุด ศูนย์หน้าที่มีการยิงประตูสุดคมกริบ ในทีมชุดนี้มี 2 คน คือ "ฮริสโต สตอยคอฟ (Hristo Stoichkov)" และ "ไมเคิล เลาดรูป (Michael Laudrup)" โดยเป็นสองกองหน้าคนละสไตล์ สตอยคอฟ เป็นสายความเร็ว คล่องแคล่ว ไปกับบอลได้ดี ส่วนเลาดรูป เป็นสายคลาสบอล เล่นบอลสวยงาม คลาสสิค คู่ต่อสู้จับทางยาก ทั้งสองช่วยกันถลุงตาข่ายมากกว่า 40 ประตู รวมทุกรายการ

ยอดทีมจากแคว้นคาตาลันในมือของครัฟฟ์ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ที่สุด คือ การคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 1992-93 ชนะ ซามพ์โดเรีย ยอดทีมจากอิตาลีไป 1-0 จากประตูโทนของคูมัน ถือเป็นการคว้าถ้วยรายการนี้เป็นสมัยแรกของสโมสร ประกาศศักดานอกแผ่นดินสเปนอย่างยิ่งใหญ่

หลายต่อหลายทีมทั่วตะวันตก ต่างคัดลอกแผนการเล่นนี้ไปใช้งาน และบางทีมสามารถต่อยอดความยิ่งใหญ่ได้ เช่น "อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม (AFC Ajax)" ที่นำทัพโดย "หลุยส์ ฟาน กัล (Louis Van Gaal)" หรือ "จารย์หลุยส์" บรมกุนซือแห่งยุค ที่ไปไกลกว่าครัฟฟ์ โดยคว้าแชมป์ทั้ง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และ ยูฟ่า คัพ ในฤดูกาล 1991-92 และ 1994-95

โดยฟาน กัล ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นเล็กน้อย เพราะเขาไม่มีกองหลังฟ้าประทานแบบคูมัน ที่สามารถทำเกมได้ จึงได้เปลี่ยนให้ แดนกลาง Double-pivot ของทีม ทำหน้าที่นี้แทน ทำให้แจ้งเกิด "แฟรงค์ ไรจ์การ์ด (Frank Rijkaard)" และ "คาเรนซ์ เซดอร์ฟ (Clarence Seedorf)" และถือเป็นต้นกำเนิดของตำแหน่งที่เรียกว่า "Deep-lyinng Playmaker" หรือ กองกลางที่สามารถสร้างสรรค์เกมได้ในแดนตนเอง ไม่ต้องวิ่งเยอะ แต่เล่นอย่างมีประสิทธิภาพ

"แบ็ครั่ว-กลางยวบ" จุดตกต่ำรวดเร็วของแผนหลัง 3

แม้จะเคยครองความยิ่งใหญ่ในยุค 1990 แต่แผนการเล่น 3-4-3 กลับเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว เพราะการเล่นในลักษณะนี้ มีข้อเสียเปรียบอย่างน้อย 2 อย่าง คือ "สูญเสียการควบคุมด้านกว้างในสนาม" และ "เกมแดนกลางครอบครองไม่ได้"

ประการแรก ด้วยการใช้งาน Wing-back เพียง 2 ตำแหน่งซ้าย-ขวา ในการรักษาพื้นที่ด้านกว้าง หมายความว่า แบ็คสองฝั่ง "รับภาระหนัก" เกินไป ไม่มีตำแหน่งที่คอยสกรีนให้ยามเติมเกมบุก และหากลงมาช่วยเกมรับมาก จะทำให้ทีมขาดผู้เล่นในกรอบเขตโทษคู่แข่ง การบุกจะขาดตอน อีกทั้งต้องรับผิดชอบช่วยเหลือผู้เล่นในแดนกลางอีก ทำให้ผู้เล่นตำแหน่งแบ็คซ้าย-ขวา ต้องมีความสามารถหลากหลาย มันสมองทางฟุตบอลอย่างเดียวไม่พอ ต้องมี "ความฟิต" ในระดับสูงอีกด้วย

ประการต่อมา แดนกลางของแผน 3-4-3 มีเพียง 2 ตำแหน่ง ในยามที่แบ็คเข้าช่วยไม่มีปัญหา แต่หากต้องชงเองกินเอง จะเสียเปรียบแดนกลางคู่แข่ง ที่ส่วนใหญ่มี 3-4 ตำแหน่งอย่างมาก โดยเฉพาะ หากว่า "ความฟิต" ไม่ถึงเกณฑ์ เสียบอลกลางสนามมาคือหายนะ ทำให้ตำแหน่งนี้ มีสมองอย่างเดียวไม่ได้เช่นกัน

ที่มา: Tifo

ที่มา: Tifo

ที่มา: Tifo

ดังจะเห็นได้ว่า ข้อเรียกร้อง (Requirement) ในแผน 3-4-3 มีความหยุมหยิมมาก หากไม่ใช่นักเตะที่มีทั้ง "พรสวรรค์ และ พรแสวง" จริง ๆ ไม่สามารถลงเล่นในตำแหน่งเหล่านี้ด้วยฟอร์มสุดโหดได้ ทำให้ฟุตบอลในยุค 2000 เป็นต้นมา เลือกที่จะไม่ใช้บริการแผนการเล่นนี้ เพราะทีมจะขาดความสมดุล เป็นช่องเป็นฉากให้คู่ต่อสู้ "สวนกลับ (Counter-attack)" ทางด้านกว้างได้โดยง่าย

แต่ก็มีหลายสโมสรในยุคร่วมสมัย ที่เลือกใช้ 3-4-3 ยืนพื้น แต่ส่วนมากไม่ประสบความสำเร็จ มีเพียงเชลซี เท่านั้น ที่ใช้งานและได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง แต่อย่าลืมว่า พลพรรคสิงโตน้ำเงินคราม มีสุดยอดนักเตะพรแสวงในตำแหน่งกองกลาง และมีแบ็คสองฝั่งที่ความฟิตเกินร้อย ได้แก่ "เอ็นโกโล ก็องเต้ (N’golo Kante)" กองกลางที่วิ่งสู้ฟัด ไม่มีหมด เข้าปะทะหนัก "มาร์กอส อล็องโซ (Marcos Alonso)" และ "วิคเตอร์ โมเซส (Victor Moses)" แบ็คซ้าย-ขวา ที่วิ่งขึ้นสุดลงสุด แถมยังเติมไปทำประตูได้บ่อยครั้ง

อาจจะนับรวม อินเตอร์ มิลาน ชุดคว้าแชมป์ลีกอิตาลี ฤดูกาล 2023-24 และรองแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2022-23 เข้าไปด้วย แต่อย่าลืมว่า พวกเขามีนักเตะตรงสเป็คกับแผน ไม่แตกต่างจากเชลซี คือ "นิโคโล บาเรลา (Nicolo Barella)" ในแดนกลาง ส่วนแบ็คซ้าย-ขวา "เฟเดริโก ดิมาร์โก (Federico Di Marco)" และ "เด็นเซล ดุมฟรีส์ (Denzel Dumfries)" และอาจจะรวมศูนย์หน้าที่จบสกอร์สุดคมดั่งดาบคาตะนะ นามว่า "มาร์คัส ตูราม (Marcus Thuram)"

กุนซือฟุตบอลในขณะนี้ จึงเลือกใช้งานแผนการเล่น "4-2-3-1" ที่มีความสมดุลมากกว่า และไม่ได้เรียกร้องให้นักเตะมีความสามารถมากมาย หน้าที่รับผิดชอบไม่เยอะ ทำให้สามารถที่จะ "ลดสเป็ค" ลดคุณภาพนักเตะ ทำให้ประหยัดเงิน ทีมเล็ก ๆ สามารถ้แผนนี้ต่อกรกับทีมใหญ่ และทีมใหญ่เองก็สามารถใช้แผนนี้ยืนพื้น เพื่อทำให้ง่ายต่อการฝึกซ้อม ไม่ต้องกังวลว่านักเตะที่ซื้อมาแพง ๆ จะเล่นตามแผนได้หรือไม่

อโมริม "ดันทุรัง" หรือ บรรดานักเตะ "ไร้คุณภาพ"

ทั้งนี้ สำหรับแผนการเล่น 3-4-3 แทบจะ "สูญพันธุ์" ไปจากสารบบฟุตบอลร่วมสมัย เนื่องจากความ "เยอะ" ของคุณสมบัตินักเตะที่ต้องการให้เข้ากับการเล่น หลายต่อหลายทีมจึงเลือก "ตามกระแส" โดยหันมาใช้งานแผน 4-2-3-1 ที่ความเรื่องมากแทบจะไม่มี

กลับมาที่ อโมริม และความตกต่ำของแมนฯ ยูไนเต็ด ตกลงแล้ว เป็นเพราะแผน 3-4-3 ไม่เหมาะกับผู้เล่นที่มี แต่อโมริม "ดันทุรัง" หรือเป็นเพราะ นักเตะที่พลพรรคเร้ดเดวิลมีอยู่ "คุณภาพย่ำแย่" ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สมกับอยู่ทีมใหญ่กันแน่

นอกจากนี้ กุนซือทุกคนย่อมต้องมีแผนการเล่นเฉพาะตัว หรือ Signature ของตนเองเสมอ อโมริมก็เช่นกัน เพียงแต่พรีเมียร์ลีก มีวิธีการเล่นที่ "รวดเร็ว (High Tempo)" มากกว่าลีกอื่น ๆ ในยุโรป โดยการทำเกมรุก จะต้องจบให้ได้ครั้งเดียว ไม่เช่นนั้นคู่ต่อสู้จะสวนกลับด้วยความรวดเร็วเช่นกัน แผน 3-4-3 ที่มีช่องว่างทางด้านกว้างระดับมหาศาล เป็นช่องเป็นฉากที่คู่แข่งใช้ทำเกมรุกใส่พลพรรคผีแดงเสมอ เห็นได้จากความพ่ายแพ้ใน 3 แมทช์ล่าสุด

อย่างไรก็ตาม แมนฯ ยูฯ เป็นทีมที่มีปัญหากับตำแหน่งแบ็คซ้าย-ขวา มาตลอด มีนักเตะหลายต่อหลายคนที่เข้ามา และก็ออกไปด้วยผลงานสุดบู่ ดังนั้น การเลือกใช้แผน 3-4-3 ที่มีข้อเรียกร้องในตำแหน่งนี้ด้วยคุณภาพสูง ทำให้กลายเป็น "ข้อเสียเปรียบ" ของทีมตั้งแต่อยู่ในมุ้ง "ดิโอโก ดาโลต์ (Diogo Dalot)" ฟอร์มผีเข้าผีออก ส่วน "อาหมัด ดิยัลโล (Amad Diallo)" ที่ได้รับคำชมอย่างมาก ก็ไม่ได้เป็นแบ็คอาชีพ และทำให้เห็นว่าเขาเล่นในตำแหน่งศูนย์หน้ากึ่งปีกได้แจ่มกว่าแบ็คเป็นไหน ๆ

อีกทั้ง ในตำแหน่งกองหลัง 3 ตำแหน่ง โดยเฉพาะ เซ็นเตอร์แบ็คฝั่งซ้าย พลพรรคปิศาจแดงมีนักเตะที่สูงเพียง 175 เซนติเมตร นามว่า "ลิซานโดร มาร์ติเนส (Lisandro Martinez)" สังเกตได้ว่า ความพ่ายแพ้ของแมนฯ ยูฯ เกิดขึ้นจากการเสียประตูโดย "ลูกเตะมุม" ไปกว่าครึ่ง และส่วนใหญ่เป็นการ "หลุดตัวประกบ" ของมาร์ติเนส

แม้ เซ็นเตอร์ตัวเล็ก จะสามารถเล่นได้มีประสิทธิภาพ แต่ในฟุตบอลร่วมสมัย กองหลังต้องครบเครื่องกว่านั้น แม้นเขาจะออกบอลจากแนวลึกดีก็ตาม ซึ่งผู้ที่ทั้งสูงใหญ่ และทำเกมจากแดนหลังได้ ก็มี "เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค (Virgil Van Dijk)" กัปตันทีมของ "ลิเวอร์พูล (Liverpool)"

เท่ากับว่า ความดื้อบนพื้นฐานคุณภาพนักเตะที่ร่วงระนาวของทีม ส่งผลกระทบอย่างน้อยในระยะ 1-2 เดือนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขนาดอโมริมยังยืดอกยอมรับว่า พลพรรคผีแดงมีโอกาสที่จะตกชั้นไม่มากก็น้อย และถึงจะเป็นเช่นนี้ กุนซือวัย 39 ปี ที่เคยพา "สปอร์ติง (Sporting CP)" ยิ่งใหญ่ในโปรตุเกสมาแล้ว กลับไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแผนการเล่นง่าย ๆ

แมนฯ ยูฯ เป็นทีมใหญ่ เชื่อได้เลยว่า การปล่อยให้ตกชั้น เป็นไปได้ยากมาก ๆ เพราะหมายถึงรายได้สโมสรลดลง ทั้งจากสปอนเซอร์ และหุ้น ดังนั้น จึงต้องกลับมาพิจารณาสถานการณ์ของทีมเป็นหลัก หากอโมริมยังคงดื้อแพ่งเช่นนี้ต่อไป ไม่แน่ว่า เขาอาจจะเป็นอีกรายที่ต้องโบกมือลา สนาม โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด "โรงละครแห่งความฝัน" อย่างไม่มีวันหวนกลับก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง