"บัตรประจำตัวประชาชน" เป็นเอกสารราชการที่ออกให้ใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตน พิสูจน์ และยืนยันตัวบุคคลในการติดต่อราชการขอรับบริการหรือสวัสดิการ จากหน่วยงานของรัฐรวมทั้งยังใช้ประกอบการทำธุรกรรม ทำนิติกรรม ต่าง ๆ เช่น การสมัครงาน การขอเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมกับธนาคาร
ในยุคที่ "มิจฉาชีพ" โผล่ขึ้นเป็นดอกเห็ด ข้อมูลส่วนบุคคลมีค่าและสำคัญเพราะอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ถูกหรือผิดได้ หากตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่หวังดี เช่น การแอบอ้างตัวตน การหลอกลวง หรือการโจรกรรมข้อมูล ฉะนั้นการปกป้องข้อมูลของเราจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะ "บัตรประชาชน" บัตรสำคัญที่ทุกคนพกติดตัว
- ถ่ายรูปข้อมูลบัตรประชาชน ผิด PDPA หรือไม่? เจ้าของมีสิทธิแค่ไหน
- ตำรวจยศ "ร.ต.ต." มีอำนาจตรวจบัตร ปชช. - เอกชนเจ้าตัวต้องยินยอม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
- มีสัญชาติไทย
- ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
- มีอายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี
บัตรประชาชนใบแรกของแต่ละคน ต้องทำเมื่ออายุเท่าไร
กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับ
บัตรประจำตัวประชาชน มีอายุ 8 ปี เมื่อบัตรหมดอายุผู้ถือบัตรต้องทำบัตรใหม่ โดยยื่นคำขอภายใน 60 วัน
ด้านหน้า บัตรประจำตัวประชาชน
เลขบัตรประชาชน 13 หลัก คืออะไร สำคัญแค่ไหน
"ตัวเลข" บน "บัตรประชาชน" เป็นฐานข้อมูลสำคัญ เนื่องจากบนหน้าบัตรจะระบุทั้ง ชื่อ นามสกุล รวมถึง วัน เดือน ปีเกิด รูปภาพใบหน้า และที่อยู่ของเรา ที่สำคัญมี "หมายเลข 13 หลัก" อยู่บนนั้น แต่หลายคนยังไม่รู้ความหมาย ของตัวเลขแต่ละหลัก วันนี้มาทำความเข้าใจกัน
สำหรับข้อมูล 13 หลักนั้นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แบ่งออกเป็นเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แบ่งออกเป็น 5 ส่วน
ส่วนที่ 1 มี 1 หลัก
หลักที่ 1 เลขตัวแรกบนบัตรประชาชน หมายถึง ประเภทบุคคล ซึ่งแบ่งเป็น 8 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- ประเภทที่ 1 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติ ไทย ได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2527)
- ประเภทที่ 2 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2527)
- ประเภทที่ 3 ได้แก่คนไทยและคนต่างด้าวที่ มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ในสมัยเริ่มแรก (1 ม.ค. - 31 พ.ค.2527)
- ประเภทที่ 4 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวแต่แจ้งย้ายเข้า โดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก (1 ม.ค. - 31 พ.ค.2527)
- ประเภทที่ 5 ได้แก่ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่น ๆ
- ประเภทที่ 6 ได้แก่ ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฏหมาย แต่จะอยู่ในลักษณะชั่วคราว
- ประเภทที่ 7 ได้แก่ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย
- ประเภทที่ 8 ได้แก่ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว - คนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทย
ส่วนที่ 2 มี 4 หลัก
ตัวเลข หลักที่ 2 มี 4 หลัก หมายถึง รหัสของสำนักทะเบียนที่เจ้าของบัตรมีชื่อในทะเบียนบ้าน โดยหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงจังหวัด ส่วนหลักที่ 4 และ 5 หมายถึง อำเภอ /เขต/เทศบาล/เมืองพัทยา
ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 รวมกันมี 7 หลัก
หมายถึง ลำดับของบุคคลในแต่ละประเภทของแต่ละสำนักทะเบียน
ส่วนที่ 5 มี 1 หลัก
สุดท้าย ตัวเลข หลักที่ 13 คือ ตัวเลขตรวจสอบความถูกต้อง ของเลขประจำตัวประชาชนทั้งหมด
ด้านหลังบัตรประจำตัวประชาชน
มาถึงตรงนี้ หากพลิกดูอีกด้านของ "บัตรประจำตัวประชาชน" ของแต่ละคน ก็จะมีตัวเลขอีกชุดหนึ่งอยู่ด้านหลัง นั้นคือ "เลขรหัสกำกับบัตร" ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ กรมการปกครองใช้ในการควบคุม "การจ่ายบัตรประจำตัวประชาชน" ที่แจกจ่ายให้กับที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาลและเมืองพัทยา
ในอดีตหลายคนคุ้นชินที่จะถ่ายบัตรประชาชน ทั้งด้านหน้า ด้านหลังบัตร เพื่อใช้เป็นเอกสารในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ปัจจุบันการถ่ายหลังบัตรประชาชนนั้น อาจไม่จำเป็นเพราะด้านหลังของบัตรจะมีตัวเลข ที่เรียกว่า "Laser ID" ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ การสมัครลงทะเบียนรับสิทธิต่าง ๆ จะใช้เลขชุดนี้ ในการยืนยันตัวตนร่วมกับเลขบัตรประชาชน
หากข้อมูลส่วนนี้หลุดไปอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ถูกนำไปสวมรอยทำธุรกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้เจ้าของบัตรเสียหายได้ อาจไม่ต่างกับการที่เลขบัตรเครดิตหลุดไปพร้อมกับ CVV หลังบัตร
เหตุผลที่ข้อมูลบัตรประชาชน สำคัญ
1. การยืนยันตัวตนในระบบราชการและธุรกิจ บัตรประชาชนเป็นเอกสารที่ใช้ยืนยันตัวตน เช่น นำไปทำธุรกรรมทางการเงิน เปิดบัญชีธนาคาร การสมัครงาน และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากรัฐ
2. ธุรกรรมทางการเงิน หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ใช้ในการผูกบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต หรือการกู้ยืมเงิน หากข้อมูลนี้หลุด อาจถูกนำไปใช้ในธุรกรรมการเงินที่ผิดกฎหมาย เช่น การเปิดบัญชีม้า
3. เข้าถึงสิทธิสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของข้อมูล ข้อมูลบัตรประชาชนเชื่อมโยงกับสิทธิต่าง ๆ เช่น ประกันสังคม สิทธิในโครงการรัฐ (เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) หรือ การรักษาพยาบาล
4. ถูกใช้ในอาชญากรรมไซเบอร์ หากข้อมูลบัตรประชาชนรั่วไหล อาจถูกใช้ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อสร้างโปรไฟล์ปลอม ทำการหลอกลวง หรือสมัครบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต
5. ความเชื่อมโยงกับข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ข้อมูลบัตรประชาชนมักใช้ร่วมกับข้อมูลอื่น เช่น วัน เดือน ปีเกิด ที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเมื่อรวมกันอาจนำไปสู่การโจรกรรมข้อมูลได้
ส่งบัตรประชาชนทางไลน์ อันตรายหรือไม่
ในการส่งสำเนาบัตรประชาชนทางช่องทางไลน์ควรทำเท่าที่จำเป็น และควรระมัดระวังอย่างมาก ควรส่งให้กับบุคคลที่เชื่อถือได้เท่านั้น เนื่องจากข้อมูลในบัตรประชาชน อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ยกตัวอย่างเช่น
- การแอบอ้างตัวตน - ใช้ข้อมูลเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร กู้ยืมเงิน หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว
- การหลอกลวง - นำข้อมูลไปใช้หลอกลวงบุคคลหรือองค์กรอื่น
- การถูกขโมยข้อมูล - หากแชทไลน์ของคุณหรือปลายทางถูกแฮก ข้อมูลอาจตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี
หากหลีกเลี่ยงได้ แนะนำให้ส่งด้วยช่องทางที่ปลอดภัยกว่า เช่น ส่งไฟล์ที่เข้ารหัสทางอีเมล หรือยื่นเอกสารด้วยตัวเอง นอกจากนั้นอีกอย่างที่ควรระมัดระวังคือ การเผยแพร่รูปบัตรประชาชน ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์
เช็กจุดเสี่ยง ข้อมูลบัตรประชาชนรั่วไหล
1. ถ่ายภาพบัตรประชาชนก่อนเข้าใช้บริการสถานบันเทิง : กรณีสถานบันเทิงถ่ายบัตรประชาชน-ใบหน้าลูกค้า ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้ ถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
2. ถ่ายภาพบัตรประชาชนส่งทางออนไลน์ : ก่อนทำการส่งรูปบัตรประชาชนไปยังคู่สนทนา ต้องเป็นบัญชีที่รู้จัก เซ็นสำเนาถูกต้องกำกับไว้เสมอ เขียนข้อความกำกับให้ชัดเจน และไม่ถ่ายหลังบัตรประชาชนส่งให้เด็ดขาด
3. ถ่ายสำเนาบัตรประชาชนด้านหลัง : ไม่ถ่ายหลังบัตรประชาชนส่งให้ใครเด็ดขาด เพราะด้านหลังของบัตรจะมีรหัส ที่สามารถใช้ในการยืนยันตัวตนได้ หากไปอยู่ในมือมิจฉาชีพแล้ว อาจถูกขโมยตัวตนไปใช้ทำธุรกรรมบางอย่างโดยที่คุณไม่ยินยอม
4. ใช้บัตรประชาชนสมัครสมาชิกสินค้า-บริการ : ให้ระวังการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่จำเป็นในการสมัครสมาชิก และควรเช็กว่าบริษัทให้บริการดังกล่าวมีนโยบายการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิกหรือไม่
5. แลกบัตรประชาชน : เพื่อผ่านเข้า-ออก หมู่บ้าน อาคาร ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลเจ้าของข้อมูล และดูแลปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บไว้ เพื่อป้องกันการเข้าถึงที่ไม่ถูกต้องหรือการโจมตีทางไซเบอร์
6. นำเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลมา Reuse หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนต้องมีนโยบายป้องกันและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมายพีดีพีเอ PDPA โดยจะต้องนำเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลไปทำลายและห้ามนำกลับมา Reuse
7. ไม่ทำลายเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลก่อนทิ้ง ใช้ปากกาปิดข้อความบนกระดาษที่มีข้อมูลส่วนบุคคลหรือใช้เครื่องทำลายเอกสาร ก่อนทิ้งถังขยะทุกครั้ง
8. ร้านถ่ายเอกสาร ขอให้ร้านถ่ายเอกสารลบ/ทำลาย ข้อมูลส่วนตัวที่ยังคงอยู่ในเครื่องพิมพ์ หรือเอกสารสำเนา ที่ทำเป็นหลักฐานได้ ทุกครั้งที่ใช้บริการ
"ข้อมูลบัตรประชาชน" เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกับ ตัวตน สิทธิ และธุรกรรมต่าง ๆ ของเจ้าของบัตร การดูแลและป้องกันไม่ให้ข้อมูลนี้รั่วไหลเป็นสิ่งที่จำเป็น นั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายทางการเงิน กฎหมาย หรือเรื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ฉะนั้นอย่าละเลย หรือ มองข้ามเรื่องความปลอดภัย
ฉะนั้นจากนี้อย่าลืมเอ๊ะกับทุกสิ่ง ใช้สำเนาบัตรประชาชนได้อย่างปลอดภัย นั้นเพราะ "มิจฉาชีพ" จ้องหาทางหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเราอยู่ ดังนั้นป้องกันไว้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เราต้องเกิดความเสียหายตามมาในอนาคต
อ่านข่าว : ไวรัส HMPV ที่ระบาดในจีน จะระบาดไปประเทศอื่นได้หรือไม่