สาระและเนื้อหาก็เป็นไปตามคาด คือ ไปอยู่ต่างประเทศนาน 17 ปี กลับมาทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง ชาวบ้านยากจนลง น้ำกินน้ำใช้ไม่มี ฝุ่นหมอกควัน พีเอ็ม 2.5 ยาเสพติดแพร่ระบาดไปทั่ว เจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินเป็นหนี้เป็นสิน แถมโดนแก๊งหวยลาวหวยฮานอยหลอก เพราะมีการล็อคเบอร์เฉพาะที่คนแทงน้อย ขณะที่พนันออนไลน์ก็มาก แต่รัฐบาลจะเอาขึ้นมาบนดิน จะได้เก็บเงินภาษีเข้ารัฐได้
สำหรับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ต้องแก้ไขให้ผู้คนมีเงินมีรายได้เหมือนสมัยก่อน เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ ตอนนี้รัฐบาลของลูกสาว กำลังเดินหน้าเต็มที่ แต่ไม่วายโดนด่าเช้าด่าเย็น ไม่รู้จะด่าอะไรนักหนา อีกทั้งเตรียมจะรื้อฟื้นโอท็อป 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล และหนุนการสัมปทานตัดถนนไฮเวย์ตั้งแต่ชายแดน จีน ลาว และไทยของกลุ่มทุนจีน จะทำให้มีเจริญและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งหมดที่นายทักษิณปราศรัยบนเวที ด้วยความฮึกเหิม แถมโชว์เบ่งกล้ามอวดชาวเชียงรายในวัย 75 ปี ในทางการเมืองแล้ว ถือเป็นการเรียกเสียงเชียร์และเพิ่มความคะแนนนิยมที่ขาดหายไปช่วงที่เขาไม่อยู่ได้
แต่สำหรับคอการเมืองพันธุ์แท้ อีกจำนวนหนึ่ง กลับมองว่า ที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องปัญหาเดิม ๆ ที่นายทักษิณและรัฐบาล ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย เคยใช้หาเสียงและตีปี้บประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ความยากจน ที่นายทักษิณเคยประกาศตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 หลังการเลือกตั้งปี 2548 ว่า จะเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยให้หมดภายใน 3 ปีครึ่ง แต่ไม่ทันได้แสดงศักยภาพ ก็โดนรัฐประหารปี 2549 เสียก่อน
นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยา นายยงยุทธ ติยะไพรัช ปราศรัยหาเสียง เลือกตั้งนายก อบจ.
นายทักษิณยังตอกย้ำเรื่องศักยภาพ ความสามารถ และความสัมพันธ์กับผู้คนอีกมากมาย รวมทั้งในต่างประเทศ ดังที่พูดย้ำบนเวทีว่า เมื่อเขาสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ จะเจรจาประสานหาทางแก้ปัญหากับผู้มีอำนาจ และผู้เกี่ยวข้องเรื่องต่าง ๆ
ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เรื่องยาเสพติด การค้าขายลงทุน ทั้งย้ำด้วยว่า ขณะนี้ เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน นายอันวาร์ อิมราฮิม แล้ว มีภารกิจสำคัญต้องไปพูดคุยแก้ปัญหาหลายเรื่อง ฉะนั้น สิ่งที่เคยเห็นความรุ่งโรจน์ ในช่วงที่ตนเป็นนายกฯ จะกลับมาภายในปี 2570
แต่บทบาทของนายทักษิณ ในอีกด้านหนึ่ง ได้ทำให้ผู้คนที่อาจถูกมองว่า อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายทักษิณและรัฐบาล ตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์ว่า นายทักษิณทำเกินเบอร์และไร้ขีดจำกัด ไม่ยอมรับตัวบทกฎหมาย
ในจำนวนนี้รวมทั้ง นายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ 2 สมัย และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งบารมีทางการเมืองในอดีต ที่ออกโรงทวงถามรัฐบาล ปล่อยให้นายทักษิณ ทำบ้านเมืองปั่นป่วนได้อย่างไร และเตือนว่า อย่าย่ามใจคิดว่าคุมได้หมด เพราะประชาชนรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร
แต่ท่าทีของคนเหล่านี้ ก็ถูกตอบโต้จากคนในพรรคเพื่อไทยว่า เป็นตัวถ่วงขัดขวางความเจริญและการเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศชาติ รวมทั้งตอบโต้นายชวนว่า ยังฝังจิตฝังใจในกรอบความคิดเดิม ๆ ที่มีต่อนายทักษิณ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูนโยบายหลัก 18 ข้อในการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 ของพรรคเพื่อไทย นอกจากนโนบายเรือธง ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทแล้ว ยังชูสโลแกน “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” คือ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570
ก่อนในโค้งสุดท้าย ประกาศในปีแรกเพิ่มเป็นวันละ 400 บาท และทุกครอบครัว ต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท ส่วนผู้จบปริญญาตรี มีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่สามารถทำได้ จนถึงขณะนี้ แม้แต่ค่าแรง ที่เดิมทีจะได้วันละ 400 แต่เอาจริง กลับได้เพียง 4 จังหวัด กับ 1 อำเภอเท่านั้น
การปล่อยของและวาดฝันของนายทักษิณครั้งนี้ ด้านหนึ่งจึงถูกมองว่า เป็นเพียงการหาเสียงเพื่อหวังให้ลงคะแนนสนับสนุนนายก อบจ.และส.อบจ.ของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น โดยหยิบยกปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวช่วย บวกกับหลักจิตวิทยา และความรู้ความเชี่ยวชาญด้านมวลชน ที่นายทักษิณถนัดเข้าไปช่วยเสริม ในช่วงคะแนนนิยมในตัวนายทักษิณ อยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นสำคัญ
อีกทั้งนายทักษิณ ยังได้เปรียบคู่แข่งจากทั้งพรรคประชาชน และพรรคภูมิใจไทย ในพื้นที่ภาคเหนือ คือสามารถ “อู้คำเมือง” ได้ ทั้งยังพูดภาษาของชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ ทำตัวเนียนเข้าถึงแบบไร้รอยต่อ
นายทักษิณจะใช้โมเดลนี้ สำหรับการหาเสียงช่วยผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ในอีกหลายพื้นที่ รวมทั้งที่นครพนม ฐานเสียงสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ที่มีบ้านใหญ่ “โพธิ์สุ” ของ “สหายแสง” นายศุภชัย โพธิ์สุ ที่ส่งลูกสาวลงรักษาเก้าอี้นายกอบจ. แต่เป็นพื้นที่เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย
นอกจากนายทักษิณจะไปช่วยหาเสียง 18 ม.ค.แล้ว ยังจะมีนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปช่วยหาเสียง 12 มกราคมนี้ด้วย
ถือเป็น “พระยาเหยียบเมือง” ของจริง เพราะทั้งพ่อลูกจะประสานร่วมมือกันหวังยึดเมืองจากค่ายสีน้ำเงิน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว :