ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“พล.ร.ต.สมเกียรติ” ถอดหัวใจเขียนหนังสือ “เก็บระเบิดในหัวใจ”

ไลฟ์สไตล์
7 ม.ค. 68
14:27
239
Logo Thai PBS
 “พล.ร.ต.สมเกียรติ” ถอดหัวใจเขียนหนังสือ “เก็บระเบิดในหัวใจ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการ สำหรับหนังสือ “ชายแดนใต้ ภูมิหลังและทางออก” ซึ่ง พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร อดีตเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และอดีตผู้บังคับเฉพาะกิจหน่วยนาวิกโยธินกองทัพเรือ ถอดหัวใจร้อยเรียงและกลั่นกรองทุกตัวอักษรเขียน เพื่อเก็บกู้ระเบิดในหัวใจ ให้ทุกคนมีที่ยืน คืนความสมดุลสู่สังคม” เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา

พล.ร.ต.สมเกียรติ เป็นอดีตนายทหารที่ปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มานาน 4 ปี ระหว่างปี 2553-2556 รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ใน 6 อำเภอ คือ อ.สายบุรี และ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และ อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ตากใบ และ อ.เมือง จ.นราธิวาส

โดยช่วงสถานการณ์ไฟใต้ลุกโชน เมื่อปี 2556 มีฐานะเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน เคยปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่บุกโจมตี “ฐานยือลอ” ของทหารเรือ ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิตจำนวน 16 คน หนึ่งในนั้น คือ “มะรอโซ จันทรวดี” แกนนำกลุ่มติดอาวุธคนสำคัญที่เคลื่อนไหวพื้นที่ อ.บาเจาะ และเขตใกล้เคียง 

พล.ร.ต.สมเกียรติ โอนย้ายมาเป็นข้าราชการพลเรือน เมื่อปี 2560-2561 รับตำแหน่งรองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก่อนขยับขึ้นมาเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. เมื่อปี 2562-2566 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กล่าวได้ว่า พล.ร.ต.สมเกียรติ เป็นอดีตนายทหารที่ผ่านงานในสนามรบ และรับทราบปัญหาในท้องถิ่นเนื่องจากเข้าคลุกคลีกับชาวบ้านในสามจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหนังสือ “ชายแดนใต้ ภูมิหลังและทางออก” ซึ่งผู้เขียนได้ใช้เวลาหลังเกษียณอายุราชการ มาประมวลและกลั่นกรอง ร้อยเรียงเป็นตัวอักษร นานกว่า 1 ปี

โดยนำคลังข้อมูล ปูมหลังและความรู้จากที่เคยอยู่ในบริบทของปัญหาในพื้นที่มานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่เป็นนายทหารระดับผู้บังคับหมวด จนถึงผู้บังคับหน่วย ได้สั่งสมประสบการณ์ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ทำให้เนื้อความในหนังสือเล่มนี้ที่ต้องการ “ปิดช่องว่าง” และ ”ลดระยะห่าง” ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้น่าสนใจไม่น้อย

“หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้พิมพ์ขาย แต่จะมอบให้กับหน่วยงาน หรือ ผู้ที่สนใจเท่านั้น เราหวังว่า สิ่งที่นำเสนอจะเป็นชุดข้อมูลความรู้ ภูมิหลัง และทางออกในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขจัดเงื่อนไขที่เป็นปัญหาให้หมดไป ทุกเรื่องที่เขียน ไม่ได้เอาใจใคร หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่สิ่งที่ต้องการ คือ อยากให้ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา เอาใจเขามาใส่ใจเรา” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าว

หากพลิกเนื้อหาในเล่ม หนังสือจะแบ่งเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 คือ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และการเมือง ปูความรู้ทางประวัติศาสตร์ ใน 4 ช่วงเวลา เริ่มตั้งแต่ การเปลี่ยนสถานะทางการเมืองจากรัฐโบราณสู่ปัตตานี ที่เป็นความภาคภูมิใจของผู้คนในท้องถิ่น, ช่วงรัฐไทยเริ่มเข้ามามีอำนาจ ลดบทบาทเมืองปัตตานี, ปฏิรูปครั้งใหญ่ “ตอนใต้กลายเป็น” มลฑลปัตตานี และสู่ยุค “ประชาธิป ไตย-ชาตินิยม”เพิ่มความขัดแย้ง

ส่วนตอนที่ 2 เป็นทางออกสู่สังคมสันติสุข มี 3 พันธกิจ คือ พันธกิจเก็บกู้ระเบิดในหัวใจ เคลียร์ทางสู่การสร้างสังคมสันติสุข ส่วนพันธกิจที่ 2 ทำให้ทุกคนมีที่ยืน ทั้งผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และผู้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อความปลอดภัย และพันธกิจสุดท้าย คืนความสมดุลสู่สังคมชายแดนใต้ มีการกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครอง และการกระจายทรัพยากรในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ผู้เขียนหนังสือชายแดนใต้ ภูมิหลังและทางออกฯ ระบุว่า ทุกประเด็นที่นำเสนอ หากทุกคนช่วยกันอย่างจริงใจ ก็จะช่วยสามารถเข้าไปดับไฟในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ การแก้ไขปัญหาต้องมองด้วยความเข้าใจ และจริงใจ ...ในอดีตข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง กลายเป็นเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ถูกนำไปปลุกเร้า สร้างความเกลียดชัง ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เติมเชื้อเพลิงปัญหาความไม่สงบ

และประเด็นที่เติมเชื้อไฟตามมา คือ เหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ เมื่อปี 2547 ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่รัฐของเราแม้ไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็มีต้องยอมรับผิดในสิ่งที่กระทำลงไป แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านไปนานแล้ว หลายคนเลือนลางแล้ว แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว เขายังไม่ลืม

อย่างไรก็ตามสำหรับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ในหนังสือเล่มนี้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ได้ไล่เรียงจากแผนที่โบราณที่ระบุถึงนครลังกาสุกะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 ระยะเวลารวม ๆ ถึง 1,900 ปี แต่ถ้านับจากร่องรอยของเมืองโบราณยะรัง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือประมาณ 1,200 ปี

หลังจากนั้นเมืองลังกาสุกะได้ย้ายไปยังกรือเซะ-บานา ใกล้เมืองปาตานี หรือ “ปัตตานี”ในปัจจุบัน เริ่มต้นปี พ.ศ.2043 จนถึง 2194 มีกษัตริย์ สุลต่าน และราชินีปกครอง 10 พระองค์ รวม 150 ปี โดยปัตตานี ได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัฐกลันตัน 78 ปี

ขณะที่ไทยมีปฏิสัมพันธ์กับปัตตานี ประมาณ พ.ศ.2329 หลังจากกองทัพสยามทำสงครามกับพม่า ได้นำทัพมาตีปัตตานี ทำให้รัฐปัตตานีที่เคยเป็นอิสระ แปรสภาพเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรสยาม ซึ่งประเด็นนี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และทำให้เกิดปัญหาตามมาจนถึงปัจจุบัน

หนังสือระบุว่า ประเด็นสำคัญของประวัติศาสตร์ และความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากที่เคยเป็นรัฐโบราณ ลังกาสุกะ มีความเจริญรุ่งเรืองในเส้นทางการค้า ต่อมารัฐไทยเข้ามามีอำนาจ ลดบทบาทเมืองปัตตานี ให้เป็นหัวเมืองชั้นในที่มีข้าหลวงสยามมากำกับ ทำให้ปัตตานีดิ้นรนที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากสยาม

ต่อมาสยามได้แบ่งปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ก็สงบลงระยะหนึ่ง จนเกิดสงครามใหญ่สยามกับหัวเมืองมลายู ในปี พ.ศ.2375 ทำให้ฝ่ายหัวเมืองมลายูแพ้ และหากมองในเชิงยุทธศาสตร์ ฝ่ายหัวเมืองมลายูชนะ เพราะได้ปักหมุดสร้างจิตสำนึกร่วมว่าการทำสงครามขับไล่ชาวสยาม หรือการปลดปล่อยจากสยามเป็นเรื่องของสงครามศาสนาหรือญิฮาด ที่คนมุสลิมต้องทำ และจิตสำนึกเหล่านี้ยังดำรงอยู่จนปัจจุบัน

ปฐมบทของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มต้น เมื่อมีการตั้งมณฑลปัตตานี ถือว่า เป็นการสถาปนารัฐชาติของไทยภายใต้การไม่ยินยอมของบรรดาหัวเมืองในพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนขาดสำนึกร่วมของความเป็นชาติไทย

ต่อมาประเทศไทยหรือสยามเริ่มเข้ามาปฏิรูปการศึกษาและด้านอื่น ๆ ทำให้เกิดเงื่อนไข คนปฏิเสธนโยบายหรือการบริหารจัดการของรัฐ และปี พ.ศ.2475 เข้าสู่ยุคประชาธิปไตย ชาตินิยม ยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง

สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กำเนิดนโยบายชาตินิยมสุดขั้ว ในนามรัฐนิยม 12 ฉบับ แต่ฉบับที่ส่งผลกระทบต่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างรุนแรง คือ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายและภาษาไทย ซึ่งให้เกิดความรู้สึกถูกบีบคั้น

จนกระทั่ง หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อให้รัฐบาลดำเนินการ ทำให้ฝ่ายรัฐมองว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง จนถูกดำเนินคดี 4 ปี หลังจากได้ปล่อยตัวฝ่ายความมั่นคงก็ยังติดตามพฤติกรรม และวันที่ 13 สิงหาคม 2497 ตำรวจสันติบาลสงขลาได้เรียก ฮัจจีสุหลง อับดุลกาเดร์ หรือ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ไปพบ ถือเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย และไม่ได้กลับมาอีกเลย

เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ส่งผลให้เกิดความโกรธแค้นและความขัดแย้งจนก่อตัวของชาวบ้านและกลุ่มขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐหลายกลุ่ม แต่มีเป้าหมายเดียวกันปลดปล่อยปัตตานีจากการปกครองของไทย

กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ คือ พูโล และ บีอาร์เอ็น ได้ใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบเผชิญหน้ากับฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงทำลายเสถียรภาพและความมั่นคง สนับสนุนด้วยการขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมในเวทีโลกให้สนับสนุนการสถาปนารัฐอิสระ หรือการปกครองตนเอง

ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ และการเมืองทำให้คนในพื้นที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองและพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ สูญเสียอิสระและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์และความเชื่อ สูญเสียความเป็นธรรมที่เคยได้รับจากรัฐ มีความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ

“ทุกเหตุการณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐเป็นผู้กระทำ และประชาชนเป็นผู้สูญเสีย ส่วนผู้ทำความผิดมักจะไม่ถูกลงโทษ ไม่ต่างจากปมเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสภอ.ตากใบเลย จุดนี้ทำให้เกิดระเบิดในใจ และเราจำเป็นที่ต้องเก็บกู้ความรู้สึกในหัวใจที่หายไป โดยต้องปรับวิธีคิดและวิธีการ มุมมองในการแก้ไขปัญหาไฟใต้ให้ชัด” พล.ร.อ.สมเกียรติ ทิ้งท้าย

อ่านข่าว : จ่อเรียกปรับ "รถหรู" ซิ่งบนเขาใหญ่ ทำช้างป่าตกใจ

ยันโอมิครอน JN.1 คงอยู่ระบาดในไทย-ไม่พบสายพันธุ์ใหม่

"บัตรประชาชน" ใช้อย่างไรปลอดภัย หากข้อมูลหลุดจะเกิดอะไรขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง