วันนี้ (8 ม.ค.2568) ความคืบหน้าเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.1 ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ม.ค.ตามเวลาท้องถิ่น และตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกอีกประมาณ 150 ครั้งในช่วง 9 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
สื่อทางการจีนรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตในทิเบตล่าสุด เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 126 คนและมีผู้บาดเจ็บอีก 188 คน แต่ไม่มีรายงานพบผู้เสียชีวิตที่อื่น ขณะที่ทางการจีนประกาศปิดจุดชมวิวยอดเขาเอฟเวอร์เรสจากทางฝั่งจีน เพื่อความปลอดภัย
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน สั่งเจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อมส่ง จาง กั๋วชิง รองประธานาธิบดีจีน เข้าไปสั่งการการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัย หลังจากแผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนัก และมีอาคารบ้านเรือนเสียหายหรือพังถล่มไปกว่า 3,600 หลัง ซึ่งบ้านเรือนที่พังเสียหายส่วนใหญ่สร้างจากหิน ดินและไม้
แผ่นดินไหวขนาด 7.1 ส่งผลให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายมากกว่า 3,600 หลัง ซึ่งส่วนใหญ่สร้างจากหิน ดินและไม้
ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ที่เขตทิงกรี ห่างจากยอดเขาเอฟเวอร์เรส บริเวณพรมแดนจีนและเนปาลประมาณ 80 กิโลเมตร และเกิดลึกลงไปใต้ดิน 10 กิโลเมตร โดยแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ไกลถึงประเทศรอบข้างของจีน ทั้งภูฏาน เนปาลและพื้นที่ตอนเหนือของอินเดีย โดยชาวเนปาลในกรุงกาฐมาณฑุต่างตื่นตกใจและอพยพออกมาด้านนอกอาคารเพื่อเฝ้าระวังเหตุการณ์
อ่านข่าว : แผ่นดินไหวทิเบต 7.1 ตาย 53 คน บ้านนับพันถล่ม
ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยบันทึกภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือน ทั้งเศษอิฐเศษปูนจากอาคารที่พังถล่มลงมาจนสร้างความเสียหายต่อยานพาหนะ กำแพงในร้านอาหารแตกร้าว ถนนเต็มไปด้วยเศษหิน รวมถึงนักเรียนในโรงเรียนออกมารวมตัวที่สนามขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว
หลังเกิดเหตุทหาร ตำรวจ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยมากกว่า 3,400 คนและบุคลากรทางการแพทย์อีกกว่า 340 คน ระดมกำลังเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ ซึ่งกลางดึกที่ผ่านมาอุณหภูมิลดลงเหลือ -6 องศาเซลเซียสและคาดว่าจะลดต่ำลงถึง -16 องศาเซลเซียส โดยรัฐบาลกลางจัดส่งความช่วยเหลือ รวมถึงเต็นท์ ผ้าห่มและอุปกรณ์ป้องกันความหนาว
ภาพถ่ายจากวิดีโอแสดงให้เห็นผนังของร้านอาหารในทิเบตแตกร้าว หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2025
Jost Kobusch นักปีนเขาชาวเยอรมนี ซึ่งกำลังปีนเขาเข้าเอฟเวอเรสต์ในช่วงเวลาเกิดเหตุ เล่าว่า ขณะเกิดเหตุเขาพักอยู่ที่แคมป์ที่ระดับความสูง 5,700 เมตร และตื่นขึ้นมาเพราะแรงสั่นสะเทือน ก่อนจะออกมานอกเต็นท์พบว่ามีหิมะถล่มลงมาและมีธารน้ำแข็งแตกออกเป็นก้อน จึงตัดสินใจปีนลงมาที่เชิงเขา ซึ่งนักปีนเขาคนนี้เคยรอดชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขณะปีนเขาเอฟเวอเรสต์มาแล้วเมื่อปี 2015
ด้านสมาชิกรัฐสภาทิเบต ซึ่งลี้ภัยอยู่ในอินเดีย ระบุว่า จีนต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุแผ่นดินไหวที่มีสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ เนื่องจากจีนแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง รวมถึงการทำเหมืองและการสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนที่ราบสูงทิเบตด้วย
ข้อมูลจากสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ชี้ว่า บริเวณจุดเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6 ขึ้นไปมาแล้ว 10 ครั้งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
อ่านข่าว
พายุหิมะถล่มสหรัฐฯ หนาวสุดขั้วจากปรากฏการณ์ Polar Vortex