วันนี้ (9 ม.ค.2568) น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เปิดเผยกรณีที่ก่อนหน้านี้ ปปง. ออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาทั้ง 18 คน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด
แต่ต่อมาพนักงานอัยการคดีพิเศษ มีคำสั่งไม่ฟ้อง น.ส.พีชญา และนายยุรนันท์ 2 ผู้ต้องหา ว่า กรณีนี้ ต้องแบ่งเป็น 2 กรณี คือ คดีอาญาและคดีแพ่ง ซึ่งพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ส่วนคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สิน จะแยกจากกัน และไม่ตัดสิทธิ์บุคคลที่เคยถูกดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน ซึ่งบุคคลสามารถยื่นคำร้องโต้แย้งทรัพย์ในชั้นศาลแพ่งได้ และส่วนนี่จะต้องมีการพิสูจน์ทราบกันข้อเท็จจริงอีกครั้ง
โดยกระบวนการของ ปปง. สิ้นสุดการยึดและอายัดทรัพย์เสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งสำนวนรายการทรัพย์สินไปให้พนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการเสนอ ขอให้ศาลมีคำสั่งชดใช้เฉลี่ยคืนแล้ว
หากโต้แย้งเรื่องการยึดอายัดทรัพย์ ทั้งคู่ก็ต้องไปดำเนินการต่อในชั้นศาลแพ่ง โดย มิน และแซม ต้องแย้งกับศาลแพ่งว่าทรัพย์ไม่ได้มาจากการกระทำผิด หรือเชื่อมโยงกับธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป
รองโฆษก ปปง.กล่างต่อว่า ปปง. ยึดอายัดทรัพย์สินของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาและผู้ต้องหาตามกรอบกฎหมาย เพราะมาตรการปราบปรามการฟอกเงิน เป็นตามหลักสากล เพื่อดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ไว้ก่อน ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่านี้
รวมถึงผลักภาระการพิสูจน์ไปให้ที่คนเป็นเจ้าของทรัพย์มาชี้แจงว่า ทรัพย์ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างไร ซึ่งต่างจากกระบวนการทางอาญา เพราะคดีอาญา เจ้าหน้าที่จะต้องพิสูจน์ แต่มาตรการยึดทรัพย์ทางแพ่ง เป็นตามกฎหมายฟอกเงิน
เช่นที่ผ่านมา หลายคดีพบว่าผู้ต้องหาและผู้ถูกกล่าวหา ไม่ได้กระทำผิดทางอาญา แต่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่ได้มาจากกระทำความผิด เช่น คดียาเสพติด มีคนได้รับทรัพย์จากคดียาเสพติดและถูกตามยึดอายัดทรัพย์ แต่ไม่ได้ถูกสั่งฟ้องเรื่องการค้ายา ปปง.จึงต้องยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมไม่ให้มีท่อน้ำเลี้ยงดำเนินการทางการเงินได้
ซึ่งตามหลักการกฎหมายฟอกเงิน ผู้เสียหายที่ประสงค์จะเข้ารับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย สามารถยื่นคำร้องมาได้ แต่ต้องแสดงหลักฐานตนให้ชัดเจน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือกรณีมอบบุคคลอื่นมาก็ต้องมีใบมอบอำนาจ พยานหลักฐานเส้นทางการเงินว่ามีความเสียหายจำนวนเท่าไร เอกสารการแจ้งความ หรือพฤติการณ์ทางคดีว่าเกิดความเสียหาย เพื่อยืนยันเป็นผู้เสียหาย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการตรวจสอบค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากคดีดิไอคอนฯ มีความเสียหายเป็นวงกว้าง และข้อมูลพยานหลักฐานค่อนข้างมาก จึงต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูล โดยสามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายได้จนถึงวันที่ 17 ก.พ.2568
สำหรับรายคดีของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ปจำกัด กับพวก ปปง. มีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำสั่งที่ ย.214/2567 ย. 222/2567 ย.223/2567 ย.224/2567 และ ย.225/2567 รวมจำนวน 103 รายการ มูลค่าประมาณ 286 ล้านบาท และมีมติให้เพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สิน 40 รายการ มูลค่า 29 ล้านบาท เนื่องจากได้มีผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงหลักฐานว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ถูกดำเนินการ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพราะชี้แจงได้ว่า เป็นทรัพย์ที่ได้มาก่อนจะเข้ามาในกระบวนการของบริษัทฯ
อ่านข่าว : "ชัชชาติ" ชี้กทม.จมฝุ่นถึง 13 ม.ค.นี้ อากาศปิด-เผาพื้นที่เกษตร
ตร.เร่งขอตัว "จ่าเอ็ม" มือยิง "ลิม กิมยา" กลับไทยคาดไม่เกิน 1 เดือน
จับขบวนการคอลเซนเตอร์ ขับรถใช้อุปกรณ์ปล่อยสัญญาณ ส่งลิงก์ SMS ปลอม