ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อยากให้ลูก LGBTQ+ มีความสุข แค่พ่อแม่เปิดใจ-ยอมรับ

สังคม
11 ม.ค. 68
00:49
0
Logo Thai PBS
อยากให้ลูก LGBTQ+ มีความสุข แค่พ่อแม่เปิดใจ-ยอมรับ

ในช่วงวัยเด็ก หลายคนมักจะแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่ต้องสอดคล้องกับเพศที่กำหนด เช่น เด็กชายบางคนอาจแอบเล่นตุ๊กตา ชอบแต่งหน้า หรือมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนเด็กผู้หญิง ขณะที่เด็กผู้หญิงบางคนก็ชอบเล่นฟุตบอล หรือเตะต่อยมากกว่าการเล่นตุ๊กตา พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้พ่อแม่หลายคนเกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของลูก และบางคนอาจเริ่มสงสัยว่า ลูกจะเติบโตขึ้นมาจะมีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่า LGBTQ+ หรือไม่ และถ้าลูกเป็น LGBTQ+ ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

LGBTQ+ ไม่ใช่ภาวะผิดปกติ

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมและกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น เปิดเผยว่า LGBTQ+ ทางการแพทย์ทั่วโลกมองว่าเป็นภาวะปกติ

ตั้งแต่แรกคลอดเด็กมีอวัยวะที่บ่งบอกถึงเพศกำเนิด ทั้งนี้ตัวตนของเด็กตระหนักได้เห็นความแตกต่างระหว่างหญิง หรือชายได้ พัฒนาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กที่อายุ 3 ขวบ เมื่อลองให้เด็กวัยนี้วาดภาพเด็กหญิง เด็กชาย หรือ พ่อ แม่ เด็กจะวาดออกมาต่างกัน ถ้าเป็นพ่อจะมีลักษณะใส่กางเกงขายาว ผมสั้น แต่ถ้าเป็นแม่ จะใส่กระโปรง รองเท้าส้นสูง ผมยาว ลักษณะนี้เด็กสามารถวาดแตกต่างกันได้ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่สามารถแยกความแตกต่างได้

ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่มีคำว่า Oedipus complex คือ คนที่เป็นลูกสาวจะรักและคลอเคลียกับพ่อ คนเป็นลูกชายจะคลอเคลียกับแม่ ซึ่งเด็กผู้ชายรักและหวงแม่ เด็กชายจะพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อ เพราะเชื่อว่าหากเป็นแบบพ่อแล้วแม่จะรักตน ก็จะกลายเป็นอัตลักษณ์ความเป็นผู้ชาย

ในขณะเดียวกันลูกสาว อยากให้พ่อรัก และกลัวว่าพ่อจะรักแม่มากกว่าตน จึงพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของแม่ เพื่อให้พ่อรักตนเหมือนกับที่รักแม่
ซึ่งสภาวะนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู แต่เกิดขึ้นจากจิตวิทยาพัฒนาการ

เมื่อเติบโตขึ้นจะเริ่มมี รสนิยมกับการแสดงออก (Sexual Orientation)  เช่นเป็นเพศชายแต่รสนิยมไปทางเพศหญิง และไม่แสดงออก หรือรสนิยมด้วยและแสดงออกด้วย จึงได้มีคำว่า LGBTQ+ เกิดขึ้น

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมและกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมและกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมและกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น

ความหลากหลายทางเพศเกิดได้ทุกช่วงวัย

อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) สามารถสะท้อนออกมาได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มแยกแยะความแตกต่างระหว่างเพศได้ชัดเจน โดยบางคนอาจมีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนและเพศของตัวเองเร็ว แต่บางคนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้นถึงจะสามารถเข้าใจและแสดงออกได้ชัดเจน

กลุ่มเด็กที่มี Gender identity ชัดเจนตั้งแต่เด็ก มักจะแสดงออกทางพฤติกรรมที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศได้เร็ว แต่ถ้าหากเด็กยังมีความสับสนหรือแสดงออกในทางที่แตกต่างจากเพศที่เกิดมา การยอมรับและเข้าใจในตัวตนของเด็กอาจต้องใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น เด็กบางคนอาจต้องการเวลาในช่วงวัยเรียนหรือวัยรุ่นเพื่อค้นหาความแน่ใจในตัวเอง

ในหลายกรณี บางคนอาจยังไม่แน่ใจในตัวเองแม้ในวัยผู้ใหญ่ การรับรู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศไม่ได้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย

พ่อแม่ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกเป็น LGBTQ+

พ่อแม่ ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลาน เสมือนเป็นภาวะปกติ ไม่ต้องรีบร้อนที่จะรับรู้ ซึ่งเรื่อง LGBT+ ความชัดเจนจะมีมากขึ้นเมื่อเด็กมีฮอร์โมนเพศ และเมื่อที่เด็กต้องการคำปรึกษา ที่อาจจะมีความไม่สบายใจ ถ้าพ่อและแม่ที่เป็นมิตร และใจเปิดยอมรับ 

ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนถาม ไม่จำเป็นต้องยัดเยียด และไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกผิดว่าเลี้ยงลูกไม่ดี

พ่อแม่บางคนอาจสนับสนุนลูกในเรื่องที่ไม่เหมาะสมหรือเร็วเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความชอบส่วนตัวของเด็ก ตัวอย่างเช่น เด็กที่มีความสนใจในกิจกรรมด้านศิลปะหรือการแต่งหน้า แต่พ่อแม่กลับยัดเยียดให้เด็กต้องเป็นศิลปิน หรือพยายามดึงดูดความสนใจให้กลายเป็นคอนเทนต์ที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย และท้ายที่สุดจะเป็นบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาได้ จะทำให้ปัญหาตามมา ทั้งต่อตัวเด็ก และพ่อแม่เอง และวันที่เด็กมีอำนาจในการตัดสินใจชีวิตของตัวเองตราบาปจะตกที่ใคร และพ่อแม่จะอ้างว่าเป็นการเอาใจลูกแค่นั้นเอง

ความคาดหวังลมๆ แล้งๆ ของพ่อแม่เอง ก็จะกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับลูกๆ ได้โดยไม่รู้ตัว

รศ.นพ.สุริยเดว ระบุว่า ควรเลี้ยงลูกให้เป็นวิถีธรรมชาติ เลี้ยงด้วยจิตวิญญาณ นำไปสู่การเติบโตที่สามารถพึ่งตนเองได้ สามารถอยู่ร่วมกันกับสังคมได้

ถ้าพ่อแม่เข้าใจ สังคมเปิดใจ เด็กก็จะเปิดใจพูดคุย ระบายความตึงเครียด สามารถปรากฏตามรสนิยมและการแสดงออกได้ โดยที่ไม่ถูกล้อเลียนหรือบูลลีจากสังคมที่อาศัย คือทางออกที่ดีที่สุดมากกว่าการยัดเยียด

แม้ว่าสังคมภายนอกไม่ยอมรับความแตกต่าง แต่ถ้าครอบครัวสามารถเป็นสถานที่ที่ให้ความรักและการสนับสนุน เด็กจะรู้สึกว่า บ้านคือที่ปลอดภัยที่สุด พ่อแม่จะเป็นเกราะกำบังแรกที่ช่วยปกป้องลูกจากอันตรายหรือการล่อลวงจากสังคมภายนอก บ้านจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการสร้างพลังใจให้กับลูก

พ่อแม่ด่านแรกปกป้องลูกจากภัยทางเพศ

การสอนเรื่องเพศศึกษาให้กับเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรสอนเพียงแค่คำพูด แต่ต้องเป็นการสอนที่เกิดจากการทำให้เด็กเห็นการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะจากคนในครอบครัว ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สำคัญในการเรียนรู้เรื่องสิทธิและการเคารพร่างกายของตัวเองและผู้อื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการไม่สัมผัสหรือจับอวัยวะบริเวณที่เป็นจุดสงวนของลูก เช่น พ่อกับลูกสาว ในการกระทำที่ถูกต้อง พ่อจะไม่จับหรือสัมผัสบริเวณสงวนของลูก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า การที่ใครมาจับอวัยวะส่วนตัวในลักษณะนั้นคือการล่วงละเมิดหรือการล่อลวงที่ไม่เหมาะสม

การที่พ่อแม่แสดงออกถึงการเคารพซึ่งกันและกัน และให้เกียรติต่อกัน เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่สำคัญในการสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในบ้าน เมื่อเด็กเห็นพ่อและแม่เคารพซึ่งกันและกัน ก็จะเกิดการเรียนรู้ในตัวเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่เคารพสิทธิของผู้อื่นในอนาคต

5 ข้อ ฝากถึงพ่อแม่

1.พ่อแม่ต้องใช้ความรัก และภายในบ้านต้องเป็นสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน รักนั้นตัองร่วมทุกข์ร่วมสุข คือต้องฝึกทักษะชีวิตให้กับลูก ผ่านงานบ้าน เช่นการปัดกวาด ถูบ้าน ซักผ้า ล้างจาน ให้ลูกรู้จักในการรับผิดชอบข้าวของเครื่องใช้ตัวเอง คือความรักที่อยู่ในสายกลาง ไม่สำลักความรัก หรือ ไม่ขาดความรัก และเป็นปฏิสัมพันธ์ภายในบ้านที่ดีต่อกัน

2.พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ซึ่งฟังในที่นี้ มี 3 ระดับ คือ การฟังอย่างเดียว ฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกที่ดี เด็กเกิดความคับข้องใจก็อาจจะเล่าให้เราฟ้ง ฟังด้วยท่าทีที่เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ สะท้อนความรู้สึกที่ดีที่ทำให้คนเล่าอยากจะเล่าต่อได้ ไม่มีการเหน็บแนม ประชดประชัน ดูถูก ด่าทอ ให้อารมณ์ ฟังและเหลาความคิด โดยใช้คำถามปลายเปิด เช่น ตอนนี้รู้สึกอย่างไร คิดเห็นอย่างไร ถ้าเป็นตัวเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งการใช้คำถามปลายเปิดในลักษณะนี้เด็กจะเกิดการเหลาความคิด และหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันได้

3.พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เช่น การรักษาสิทธิของกันและกันในครอบครัว โดยที่พ่อแม่จะต้องขออนุญาตลูกก่อนหยิบข้าวของของพวกเขาหรือเข้าไปในห้องของลูก ซึ่งจะช่วยสอนให้ลูกเข้าใจถึงการเคารพสิทธิส่วนตัวและการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม การรักษาสิทธิทางเพศและการดูแลซึ่งกันและกันในครอบครัวจะทำให้ลูกเรียนรู้ถึงขอบเขตที่ควรมีและปฏิบัติเมื่ออยู่กับผู้อื่น

4. บ้านต้องมีวินัย คือบ้านที่มีการตั้งกฎกติการ่วมกัน ยืดหยุ่นได้อยุ่บนหลักการและเหตุผลไม่ใช้อารมณ์

5. การยอมรับความแตกต่างของลูก เด็กไม่ใช่ผ้าขาว เด็กคือผ้าสีพื้นของเขาเอง แต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์และความสามารถที่แตกต่างกัน พ่อแม่ต้องเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของลูก โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ

อ่านข่าว : 

10 สถานการณ์ : ระเบิดเวลา “อนาคตเด็กไทย”

เตือนภัย "เด็ก" สถิติ 1 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ 346 คดี

ใช้โซเชียลฯ เลี้ยงลูก จิตแพทย์เตือนเสี่ยงเหมือนเปิดประตูบ้านทิ้งไว้

แกะกล่อง "ของขวัญ" สุดปังวันเด็กปี 2568 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง