วันที่ 13 ม.ค.2568 ศ.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข้อมูลรายงาน Future of Jobs 2025 ในการเสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี พ.ศ. 2568–2573 โดยอ้างอิงจากการสำรวจ 1,000 บริษัท ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก พบว่า จะมี 5 อาชีพที่จะหายไปอย่างรวดเร็ว คือ
- พนักงานไปรษณีย์
- พนักงานคีย์ข้อมูล
- พนักงานธนาคาร
- พนักงานแคชเชียร์และจำหน่ายตั๋ว
- ผู้ช่วยด้านงานธุรการและเลขานุการบริหาร
ขณะเดียวกัน จะมี 5 อาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ
- ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data
- วิศวกรด้าน Fintech หรือ เทคโนโลยีทางการเงิน
- ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI
- นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความปลอดภัย
โดยปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงตลาดแรงงาน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร และการแบ่งแยกด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ
ศ.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้การปรับหลักสูตรจากการเปิดสอนเพียงระดับปริญญาตรี เป็นการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร หรือ Non-degree ในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการ ของตลาดแรงงาน ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาและเพิ่มทักษะใหม่ เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพที่ตรงต้องความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นแนวทางพัฒนาระบบการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการลดโอกาสตกงานของนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบและเข้าสู่วัยแรงงาน
อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเน้นย้ำว่า นักเรียน นักศึกษา จนไปถึงแรงงาน จะต้องพัฒนาและปรับเพิ่มทักษะ ให้สอดรับกับตลาดแรงงานที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ท่ามกลางประชากรเกิดใหม่มีจำนวนน้อยลง จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้คนทุกกลุ่มปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต
อ่านข่าว :
"บ้านเพื่อคนไทย" ใครมีสิทธิบ้าง เช็กขั้นตอนลงทะเบียน-จองสิทธิ
กสทช.ขีดเส้น OPPO-Realme ลบแอปฯ กู้เงิน 16 ม.ค.นี้
ดรามา! มุ้งสู้ฝุ่น "สมศักดิ์" สกัดกรมอนามัยของบกลางเข้า ครม.