วันนี้ (14 ม.ค.2568) ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุได้ 26,469 วัน เป็น สมมงคล (สะ - มะ – มง - คน) พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
โดยรัฐบาลได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ในวันที่ 14 ม.ค.2568 ซึ่งประกอบด้วย
• เวลา 07.30 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ถวายพระราชกุศล สถานที่ ส่วนกลาง ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาค ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม
• เวลา 09.00 น. พิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติฯ สถานที่ ส่วนกลาง ณ เต็นท์พิธีการ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาค ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม
• เวลา 18.00 น. ชมการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน รามอยุธเยศเศวตฉัตร สถานที่ ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
7 กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคล
โดยรัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 7 กิจกรรม
(1) การจัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ณ สวนสราญรมย์ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม คณะสงฆ์หนเหนือ ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร จัดพิธีสืบพระชะตาหลวง ระหว่างวันที่ 13 - 20 ม.ค.2568 ณ สวนสราญรมย์ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นประเพณีมงคลของชาวล้านนา
ประกอบด้วยกิจกรรม ได้แก่ พิธีฮอมบุญถวายเจ้าเหนือหัว พิธีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ การสาธิตภูมิปัญญาในการจัดเตรียม เครื่องประกอบพิธีกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานพิธี การจัดสาธิตกาดมั่วหรือตลาดพื้นบ้านล้านนา (พิธีฮอมบุญ* คือพิธีร่วมกันทำบุญเป็นกรณีพิเศษ)
(2) การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากรจะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ภายในเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ซึ่งบริเวณพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ผู้เป็นต้นพระบรมราชจักรีวงศ์
(3) การจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร กรมศิลปากรจะจัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ในวันที่ 14 ม.ค.2568 สถานที่จัดการแสดงคือ ณ ลานพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
(4) การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
(5) การจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล ณ ศาสนสถาน อันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดพิธีทางศาสนาและกิจกรรมถวายพระราชกุศล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ ศาสนสถานอันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ หรือเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระเกศ วัดราชบูรณะ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดราชสิทธาราม วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดราชาธิวาส วัดโมลีโลกยาราม วัดยานนาวา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดชนะสงคราม และวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
(6) การจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล สำหรับวัดไทยในต่างประเทศให้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
(7) การจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ความสำคัญของพระราชพิธีสมมงคล
ในวันที่ 14 ม.ค.2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคลเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คํานึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี ในวาระต่าง ๆ เช่น ในวันที่ตรงกับการครองราชย์ มีทั้งโอกาสที่เวียนมาเป็นครั้งแรกมักเรียกว่า "สมมงคล" หมายถึง เสมอกัน หรือ "สมภาคา" บ้าง ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า "ทวิภาคา" บ้าง หรือ "ทวีธาภิเษก" บ้าง จะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีลักษณะนี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระราชกุศลที่บําเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์
นอกจากโอกาสวันดํารงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสําคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพระราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระ และวาระหนึ่งที่สําคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และ วันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้วด้วย ถือเป็นภาพลักษณ์ แสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมือง ให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผน
พระราชประวัติ พระปรีชาสามารถ พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือ ทองด้วง ประสูติในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2279 ตรงกับแรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง จุลศักราช 1098 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พุทธศักราช 2275 - 2301) ทรงเป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลัง ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยกธิดาเศรษฐีจีน ในปีพุทธศักราช 2311
ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ในกรมพระตํารวจหลวง ได้โดยเสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบเจ้าพิมายเป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ ของเขมรและลาวได้สําเร็จอีกหลายครั้ง และในปีพุทธศักราช 2314 ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และพุทธศักราช 2319 ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหึมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลกากร บวรรัตนปรินายกรับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม
ครั้นพุทธศักราช 2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชอัธยาศัยผิดปกติไปจากเดิม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรและพระภิกษุทั้งหลาย พระยาสรรค์จึงก่อกบฏขึ้นแล้วควบคุมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปกักขังไว้ ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายกบฏ เหตุการณ์ดังกล่าวทําให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งยกทัพไปปราบจลาจลที่เมืองเขมรต้องยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูกสําเร็จโทษแล้วมุขอํามาตย์ราชมนตรีและราษฎรทั้งหลายก็พร้อมกันกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ให้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์สืบไป เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2325 ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 47 พรรษา ต่อมาได้ทรงประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2325 และทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีตามโบราณราชประเพณี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายพระนครมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องกับกรุงธนบุรีพระนครแห่งเดิม ด้วยมีพระราชดําริว่าฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะภูมิประเทศเป็นชัยภูมิดีกว่าฝั่งตะวันตก ทั้งการป้องกันข้าศึกและการขยายพระนครในอนาคตซึ่งจะสามารถทําได้โดยสะดวก ในการนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดที่เตรียมสร้างพระนครใหม่ทางฝั่งตะวันออก ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1144 เวลา 06.54 นาฬิกา ตรงกับวันที่ 21 เม.ย.2325
และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร การสร้างพระนครใหม่นี้แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2328 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร พร้อมกับการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 3 วัน พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องด้วยนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรอันเป็นมงคลยิ่งต่อบ้านเมืองว่า "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิท" เรียกโดยย่อว่า "กรุงรัตนโกสินทร์"
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการทะนุบํารุงและรักษาราชอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองและดํารงอยู่อย่างมั่นคง ทรงฟื้นฟูขนบธรรมเนียมและราชประเพณีต่าง ๆ ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประเพณีเทศน์มหาชาติ ประเพณีเสด็จพระราชดําเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐิน เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2352 พระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปฏิบัตินั้น กล่าวได้ว่ามีความสําคัญอย่างยิ่งด้วยเป็นรากฐานและแบบอย่างของการพัฒนาความเป็นชาติไทยสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน
อ่านข่าว :
ขรก.-ปชช.ร่วมขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์หลวง 73 ต้น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว