อาคารไม้ 3 หลัง ที่ตั้งเรียงรายบนพื้นที่เนินเขา กับ 11 ห้องเรียน ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ติดชายแดนไทย-เมียนมา โรงเรียนบ้านซิวาเดอ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 195 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีครูและบุคลากรทางการศึกษารวม 18 คน
ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านรอบๆ และบางหมู่บ้านต้องเดินทาง 10 กิโลเมตร การเดินทางไปโรงเรียนในบางช่วงเวลาจึงมีความยากลำบาก โดยเฉพาะในฤดูฝนที่ทางขรุขระและเต็มไปด้วยโคลนต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง อีกทั้งหลายครอบครัวมีข้อจำกัดด้านการขนส่ง หรือไม่มียานพาหนะในการส่งบุตรหลาน จึงตัดสินใจส่งบุตรหลานมาเป็นนักเรียนประจำพักนอน ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนประจำพักนอน 125 คน
มากกว่าคำว่า "ครู"
การจัดที่พักนอนสำหรับเด็กๆ ถือเป็นความพยายามในการให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล
การดูแลเด็กพักนอน นอกจากจะมีครูเวรที่คอยดูแลนักเรียนตลอดแล้ว ครูทุกคนก็ถือเป็นพ่อแม่คนที่สอง ที่รับผิดชอบดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ครูทุกคนจึงต้องมีเด็กที่เป็นลูกในความดูแลเฉลี่ย 7-8 คน
นายณัฐพล วุฒิพุทธศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซิวาเดอ เปิดเผยว่า ตัวผู้อำนวยการโรงเรียนเอง มีเด็กนักเรียนที่เป็นลูก 7 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มาจากหลากหลายชั้นเรียน ที่แต่ละวันต้องคอยถามสารทุกข์สุกดิบ ดูแลเรื่องอาหารการกินและให้คำปรึกษาในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อให้เด็กที่ห่างไกลบ้าน ห่างไกลครอบครัว ได้รับความรัก ความเอาใจใส่
รวมทั้งยังมีโครงการพี่ดูแลน้องที่คอยให้นักเรียนรุ่นพี่ ได้คอยดูแลช่วยเหลือน้องๆ ด้วย
สำหรับเด็กเล็กๆ ชั้นประถมศึกษาที่มาอยู่พักนอน ต้องใช้ชีวิตแบบห่างไกลครอบครัวและพ่อแม่ แรกๆ ซึ่งมักจะรู้สึกคิดถึงบ้านจึงเป็นหน้าที่ของครูที่คอยเอาใจใส่ คอยให้ความอบอุ่น เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว และพูดคุยให้กำลังใจเพื่อให้เด็กๆ ค่อยๆ ปรับตัวและสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ได้
ณัฐพล วุฒิพุทธศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซิวาเดอ
เด็กลี้ภัยสงครามการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
เนื่องจากโรงเรียนอยู่ติดชายแดน จึงมีเด็กเมียนมา 1-2 คนที่หนีภัยสงครามเข้ามาพักกับญาติ ครูณัฐพล กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.การศึกษาเด็กที่อยู่ในประเทศไทย ทางการศึกษาจะไม่มองว่ามีสถานะทางทะเบียนราษฎร แต่ถ้าเห็นเด็กที่เดินอยู่ในชุมชนเป็นประชากรในวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป จนถึง 15 ปี เป็นหน้าที่ของโรงเรียนและครูที่จะนำอบรม โดยที่ไม่ได้มองเรื่องความมั่นคง
แม้แต่เด็กในพื้นที่เมื่ออยู่ในช่วงวัยเรียน จะมีบางครอบครัวที่ครูจะต้องไปตามพูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัว แต่จะมีบางคนที่หลุดออกจากระบบ หรือไม่อยากเรียนต่อ แต่ทางโรงเรียนก็ส่งไปให้ไปอยู่ในระบบ สกร. เพื่อต้องการเพียงแค่ให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ และมีประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง
ในปัจจุบันพ่อแม่ หรือชุมชนให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะสมัยรุ่นปู่ย่าตายาย หรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ บางคนยังไม่สามารถพูดภาษากลางได้ จึงไม่อยากให้ลูกหลานลำบากเหมือนตนเอง
ในส่วนของชุมชนจะให้ความร่วมมือกับทุกกิจกรรมของทางโรงเรียน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือได้แค่แรงกาย และแรงใจ และการสนับสนุน ส่วนจะระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็ไม่สามารถที่จะทำได้
ชาวบ้านหวงแหนโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าโรงเรียนเป็นแหล่งความรู้และโอกาสในการพัฒนาอนาคตของเด็กๆ
สำหรับนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เรียกตนเองว่าปกาเกอะญอจะพูดภาษาถิ่น หรือ ภาษากะเหรี่ยง ที่ครูต้องใช้ถึง 2 ภาษาในการสื่อสาร ทั้งภาษาถิ่นเอง และภาษากลาง ควบคู่กันไป
แรงบันดาลใจจากความขาดแคลน
ครูณัฐพล ในวัย 55 ปี เป็นชาว จ.นครราชสีมา เริ่มบรรจุตำแหน่งผู้บริหารที่โรงเรียนแห่งนี้เมื่อปี 2554 ปัจจุบันเป็นอาชีพข้าราชการครูมาเกือบ 30 ปี
ครูณัฐพลเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เคยสอนอยู่ที่โรงเรียนใน จ.นครราชสีมา ซึ่งมีความสะดวกสบายหลายด้าน แต่เมื่อได้มาบรรจุที่นี่ได้เห็นความขาดแคลนของโรงเรียน จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่น
เราเห็นว่าที่นี่ขาดแคลนมาก เลยตั้งใจว่าจะพัฒนาการศึกษาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้โรงเรียนยังคงเผชิญกับความขาดแคลนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องอาศัยพลังงานจากโซลาร์เซลล์ แต่ความไม่สมบูรณ์เหล่านี้ไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
เคยท้อ แต่ไม่เคยถอย
โดยเฉพาะในฤดูฝนที่ต้องขับรถขึ้นเขาไปยังโรงเรียน ขนส่งอาหารและสิ่งของที่จำเป็นด้วยความทุลักทุเล แต่ทุกครั้งที่รู้สึกท้อใจ ความตั้งใจและแรงบันดาลใจที่อยากเห็นเด็กๆ ได้รับการศึกษาและการดูแลที่ดี ก็ทำให้ก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปได้
แม้บางครั้งจะรู้สึกว่าเด็กบางคน บางรุ่นอาจจะยังไม่เห็นถึงความตั้งใจและความพยายามที่ทำเพื่อพวกเขา แต่ด้วยหน้าที่และจิตวิญญาณของคนเป็นครู เลยไม่เคยย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาที่ดีและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
แม้จะเคยรู้สึกท้อใจในบางครั้ง แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซิวาเดอก็ยืนยันว่าไม่เคยคิดจะย้ายออกจากพื้นที่ไปหาความสะดวกสบายในพื้นที่อื่น เพราะเชื่อมั่นว่าความพยายามที่ทำอยู่ในตอนนี้จะสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กๆ ได้
นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่มองว่าครูจากต่างถิ่นที่มาบรรจุตำแหน่งในพื้นที่นี้มักจะไม่อยู่ได้นาน จึงเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้มุ่งมั่นทำงานต่อไปเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงความตั้งใจที่แท้จริง
สร้างอาชีพปูทางเพื่อเลี้ยงพึ่งพาตัวเองได้
โรงเรียนบ้านซิวาเดอจัดโครงการเพื่อรองรับและส่งเสริมเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับและไม่ได้เรียนต่อ โดยมีการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เน้นให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะในด้านอาชีพ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในอนาคต
เช่น "1 คน 1 อาชีพ" มีเป้าหมายเพื่อฝึกทักษะให้เด็กๆ สามารถมีอาชีพติดตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำขนม การตัดผม หรืออาชีพอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งการปลูกฝังให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานที่สุจริต
ทั้งนี้ทางโรงเรียนยังมีการจัดซื้อด้ายเพื่อฝึกให้เด็กได้ทอเสื้อผ้าไว้สำหรับใส่ไปโรงเรียนในทุกวันอังคาร และวันศุกร์ด้วย
ครูชายขอบผู้เสียสละ-อดทน
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านซิวาเดอ เล่าว่า ด้วยโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มักจะเผชิญกับปัญหาครูลาออกอย่างต่อเนื่อง หลายคนที่มาเห็นสภาพของโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าๆ ต่างรู้สึกท้อแท้จนตัดสินใจไม่มาสอน หรือบางคนทำงานได้เพียง 1-2 เดือนก็ลาออกไป เนื่องจากสภาพการทำงานที่ยากลำบากทั้งในด้านการเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำกัด
คุณสมบัติที่สำคัญของครูชายแดน จึงต้องมีใจรักในการทำงานและมีความอดทนสูง โดยครูต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความยากลำบาก เช่น การเดินทางที่ยากลำบาก ซึ่งในบางช่วงเวลาหรือฤดูกาลอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเดินทางจากบ้านถึงโรงเรียน
นอกจากนี้ อาหารการกินที่โรงเรียนมีให้ไม่ได้หรูหราหรือหลากหลาย และน้ำอุปโภคในบางช่วงเวลาจะมีสีดำในฤดูฝน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องอดทนเพื่อการดำรงชีวิตในพื้นที่นี้ อีกทั้งครูยังต้องเสี่ยงในการติดโรคต่างๆ เช่น มาลาเรีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ครูในพื้นที่ห่างไกลต้องเผชิญ
งบประมาณไม่เท่าเทียม ความเป็นจริงที่ต้องเผชิญ
เหมือนการตัดเสื้อตัวเดียวแล้วให้ทุกคนใส่
คือคำเปรียบเปรยจากครู ที่สะท้อนถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในบริบทของแต่ละพื้นที่
ครูณัฐพล เล่าว่า งบประมาณที่จัดสรรให้โรงเรียนบนดอยและโรงเรียนในพื้นราบนั้นมีจำนวนเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายระหว่างสองพื้นที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในเรื่องการซ่อมแซมและพัฒนาโรงเรียน แต่ค่าขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามความยากลำบากของการเดินทาง เช่น ค่าปูนซีเมนต์ที่พื้นราบกระสอบละ 150 บาท แต่เมื่อขึ้นไปบนดอยราคาจะพุ่งสูงถึง 200 บาท ส่วนบล็อกอิฐจากก้อนละ 7 บาทในพื้นราบ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 20 บาทเมื่อขนส่งขึ้นพื้นที่ห่างไกล
"งบประมาณถามว่าเพียงพอไหม ถ้าเราบริหารในภาวะขาดแคลนก็ถือว่าเพียงพอ แต่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายบนดอยมีมากกว่า"
อยากให้รัฐบาลดูแลอย่างทั่วถึงทั้งการคมนาคมและสาธารณูปโภคเพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเป็นการให้โอกาสทางการศึกษา
"พี่น้องครูที่อยู่ชายขอบพยายามเต็มที่ในการให้โอกาส ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนลี้ภัย แต่ที่สำคัญคือบุตรหลานของคนไทยทุกคนที่ควรได้รับโอกาสทางการศึกษา"
ไม่ใช่แค่อาชีพครู แต่ต้องเป็นครูอาชีพ
ครูณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย การเป็นครูที่แท้จริงนั้นไม่เพียงแค่การถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเท่านั้น แต่ยังต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่เต็มไปด้วยความรักและความทุ่มเทเพื่ออนาคตของเด็กๆ
ถ้าจะเป็นครูมืออาชีพต้องรักในอาชีพครู และพร้อมที่จะทุ่มเทมุ่งมั่นเพื่ออนาคตของเด็กอย่างจริงจัง และจริงใจ
อ่านข่าว :
จากกระดานดำสู่ไวรัลติ๊กต็อก "ครูเฟิร์น" ครูยุคใหม่ในวันครู 2568
"วันครู" หยุดไหม ? เปิดปฏิทินวันสำคัญที่ไม่นับว่าเป็นวันหยุด