ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดสาเหตุยอดอ้อยเผาพุ่ง ส่งสัญญาณก่อนเปิดหีบอ้อย

ภูมิภาค
16 ม.ค. 68
16:26
28
Logo Thai PBS
เปิดสาเหตุยอดอ้อยเผาพุ่ง ส่งสัญญาณก่อนเปิดหีบอ้อย
สถานการณ์อ้อยไฟไหม้ปีนี้ส่อเพิ่มขึ้นตามปริมาณอ้อยที่คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตในปีการผลิต 2567/68 เพิ่มเป็น 92 ล้านตัน ขณะที่เกษตรกรเผาอ้อยเพื่อลดต้นทุน จี้รัฐจ่ายเงินตันละ 120 บาทแลกตัดอ้อยสด

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เคยออกมาเปิดเผยรายชื่อโรงงานน้ำตาล 6 แห่งที่รับซื้ออ้อยถูกเผาในปริมาณ สูง คือ 1. โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี รับซื้ออ้อยถูกเผา 58.8%, 2.โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี รับซื้ออ้อยถูกเผา 41.68%, 3.โรงงานมิตรกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ รับซื้ออ้อยถูกเผา 35.66%

4.โรงงานน้ำตาลเอราวัณ จ.หนองบัวลำภู รับซื้ออ้อยถูกเผา 27.05%, 5.โรงงานไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จ.สกลนคร รับซื้ออ้อยถูกเผา 26.99% และ 6.โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น รับซื้ออ้อยถูกเผา 20.06%

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ใน จ.อุดรธานี หลังตรวจสอบพบว่ามีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 410,000 ตัน ทำให้รถอ้อยตกค้างกว่า 2,000 คัน หลังมาจอดรอขายอ้อยโดยไม่รู้ว่าจะได้ขายเมื่อไหร่และอ้อยเสี่ยงเน่าเสีย คาดว่ามูลค่ามากกว่า 54 ล้านบาท

ขณะที่ จ.อุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่สำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่างบอกว่า ปีนี้มีอ้อยเผาในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะหากย้อนไปปลายเดือน ต.ค.2567 เริ่มมีกระแสข่าวที่ส่งสัญญาญว่าปีการผลิต 2567/2568 เกษตรกรอาจเผาอ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะราคาอ้อยตกต่ำลง

อ่านข่าว : เบื้องหลังลงดาบ "ปิดโรงงานหีบอ้อย" รับซื้ออ้อยเผาเกินลิมิต

วันที่ 31 ต.ค.2567 ไทยพีบีเอส ได้รับข้อมูลจากชาวไร่อ้อยใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ระบุว่า ปีนี้ต้นทุนการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจากราคาปุ๋ย อีกทั้งในพื้นที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งและค่าจ้างแรงงานตัดอ้อยก็ปรับขึ้น

สวนทางกับราคาอ้อยที่ต่ำลง มีการประมาณการราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2567/2568 มีราคาเพียง 1,100 บาทต่อตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นของปีที่ผ่านมา (2566/67) ที่มีราคาอยู่ที่ 1,420 บาท ซึ่งลดลงกว่า 300 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอ้อยปี 2567/2568 อยู่ที่ประมาณตันละ 1,400 บาท จึงมีแนวโน้มที่เกษตรกรจะตัดอ้อยเผาเพื่อลดต้นทุน

ขณะที่ผู้รับจ้างตัดอ้อยใน อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า การตัดอ้อยสดจะตัดยากและช้ากว่าตัดอ้อยไฟไหม้ เพราะต้องเสียเวลาสางใบ เมื่อเทียบราคาตัดอ้อยสดอยู่ที่ตันละ 240 บาท แต่หากเป็นอ้อยไฟไหม้ ค่าจ้างตกตันละ 130 บาท หลายพื้นที่จึงลักลอบเผาอ้อย เนื่องจากเกษตรกรต้องการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิต แม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้เกษตรกรตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท แต่บางคนไม่ได้มีโควตากับโรงงานน้ำตาลโดยตรง เมื่อไม่ได้รับเงินสนับสนุน บางส่วนจึงเผาอ้อยและขายให้กับนายทุนที่เปิดลานรับซื้อ

ข้อมูลจาก สอน. พบว่า ประเทศไทยจะมีผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2566/2567 อยู่ที่ 82 ล้านตัน มีอ้อยไฟไหม้เกือบร้อยละ 30 และคาดการณ์ว่าปีการผลิต 2567/2568 จะเพิ่มเป็น 92 ล้านตัน ทำให้บางฝ่ายกังวลสถานการณ์อ้อยไฟไหม้ปีนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นตามปริมาณอ้อย

ประกอบกับข้อมูลจากนายสิทธิบูรณ์ รัชตะสุวิโรจน์ ประธานสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรจะเผาอ้อยหรือไม่เผา นอกจากราคาแล้ว เงินช่วยเหลือค่าตัดอ้อยสดตันละ 120 บาทก็เป็นปัจจัยสำคัญ

ในช่วงเดือน ธ.ค.2567 ชาวไร่อ้อยใน จ.เลย เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือค่าตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท ปีการผลิต 2566/2567 ตามที่รัฐบาลเคยเห็นชอบในมาตรการจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดแทนการเผา เพื่อลดฝุ่นมลพิษ PM2.5 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งหากไม่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือส่วนนี้อาจทำให้เกษตรกรหันไปเผาอ้อยเพื่อลดต้นทุน

นี่คือการทวงสัญญาจากรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2566 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรมในขณะนั้น เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท คาดว่ามีชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 คน

ทั้งนี้ โครงการฯ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อยและส่งผลต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น โดยการสนับสนุนตัดอ้อยสดครั้งนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 เพี่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวไร่อ้อย แต่สุดท้ายก็ไม่มีการพิจารณาและจ่ายเงินจริง

อ่านข่าว : "แพทองธาร" ขันน็อตรายกระทรวงแก้ฝุ่น PM2.5 รายงานตรง

นายบรรจง สุขกุล ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ จ.เลย กล่าวว่า หลังทราบข่าว ครม.เห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดในปี 2566 เขาตัดสินใจกู้เงินซื้อเครื่องจักรสางใบอ้อยและรถตัดอ้อย เพื่อจะไม่ต้องตัดอ้อยเผา เพราะหากมีเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท เขาจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท สุดท้ายปีนี้ยังไม่ได้เงินและเขาต้องแบกรับหนี้สิน

มีข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก "โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย" อ้างได้รับข้อมูลว่า บางพื้นที่มีการบิดเบือนตัวเลขอ้อยสดและอ้อยเผาที่โรงงานน้ำตาลรับซื้อ และขอให้ สอน.สุ่มตรวจสอบโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงหรือเลือกปฏิบัติ

ด้านเสียงสะท้อนจากเกษตรกรชาวไร่อ้อย มองว่า การที่โรงงานน้ำตาลจะรับซื้อเฉพาะอ้อยสดถือเป็นการบีบชาวไร่อ้อยมากเกินไป เพราะราคาที่ตกต่ำก็ทำให้แทบไม่ได้กำไร ขณะที่การช่วยเหลือยังคงอยู่ที่ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ที่มีโควตาขายอ้อยให้โรงงานน้ำตาลและมีอำนาจต่อรอง สามารถทำกำไรจากการขายอ้อยได้มากกว่า ดังนั้นนโยบายที่จะแก้ปัญหาอ้อยเผาจะต้องคำนึงถึงการอยู่รอดเกษตรกรรายย่อยด้วย

อ่านข่าว

เสี่ยงระเบิด! ก.อุตฯ สั่งปิด รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าไทยอุดรฯ

ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 60 พื้นที่ กทม. แนวโน้มเพิ่มขึ้นสลับลดลง

กกต.ออกประกาศ "การถอนชื่อ-เพิ่มชื่อ" ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง