วันนี้ (17 ม.ค.2568) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลา โหม กล่าวภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ทั่วไปของภูมิภาค ซึ่งเป็นวาระปกติ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง และสถานการณ์ต่าง ๆ ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไป ต้องเร่งดำเนินการปรับตัวเองในวิธีการทำงาน ให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันมีการหารือถึงสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องที่เคยได้มอบหมายให้ สมช.หาข้อสรุป โดยมอบให้พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรมว.กลาโหม และพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ อดีตเลขา สมช.ในฐานะที่ปรึกษา ร่วมพูดคุยด้วยก็ได้ข้อสรุปมารายงานต่อที่ประชุมให้ทราบ ซึ่งมีข้อสังเกตมากพอสมควร
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงสถานการณ์เมียนมา ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับชายแดนไทย โดยเฉพาะเรื่องชนกลุ่มน้อย แต่ไทยจะดำเนินการเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยเท่านั้น ต้องระมัดระวังไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเขา
ขณะนี้ไทย-เมียนมา ยังมีปัญหาหลายจุดในเรื่องภัยความมั่นคง ทั้งคอลเซนเตอร์ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ ได้กำชับว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ให้เป็นรูปธรรม นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่กำลังคุยกันอยู่ เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้วมีการเปลี่ยน แปลงมามากพอสมควรแล้ว ก็รู้สึกว่าอยากทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสรุปเรื่องราวต่างๆให้ชัดเจน
โต้กลับ "กัณวีร์" ปมผลักดันอุยกูร์กลับจีน
ส่วนกรณีที่ นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการประชุม สมช.ในวันนี้ว่าจะมีเรื่องการผลักดันชาวอุยกูร์กลับจีนด้วย นายภูมิธรรม ย้อนถามกลับว่า นายกัณวีร์ รู้ว่าจะประชุมเรื่องนี้กันได้อย่างไร
นายภูมิธรรม ระบุว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีการแสดงท่าทีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ และมีการเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในที่ประชุม แต่ก็ควรจะดูเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าควรจะทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย ไม่ให้เกิดปัญหากับไทย และนานาประเทศ
พร้อมมอบหมายให้ดูว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจะดำเนินการอย่างไร ยอมรับว่าในอดีตเคยมีการผลักดันออกนอกประเทศ แต่ในระยะอันใกล้นี้ยังไม่มี พร้อมกับปฏิเสธข่าวที่ระบุว่าจะมีการผลักดันชาวอุยกูร์ กลับประเทศในวันที่ 20 ม.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพบรถของสำนักงานอัยการสูงสุด มารับคณะจากตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งปกติแล้ววงประชุมจะไม่มีสำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วม