ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำไมถึงเรียก "โรคข้าวผัด" สาเหตุหลัก-สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

สังคม
17 ม.ค. 68
19:41
39
Logo Thai PBS
ทำไมถึงเรียก "โรคข้าวผัด" สาเหตุหลัก-สิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
"โรคข้าวผัด" เกิดขึ้นจากอะไร เช็กสิ่งที่ควรระวัง และไม่ควรมองข้าม พร้อมคำแนะนำที่ทำได้ไม่ยาก

อาหารการกินในปัจจุบันเรียกว่าต้องพิถีพิถัน ต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ปรุงอาหารให้คงคุณค่าทางโภชนาการ จัดเก็บอย่างถูกสุขอนามัย นั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงการปนเปื้อนของเชื้อโรค ล่าสุดมีคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง "ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย"

"โรคข้าวผัด" ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย

นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคข้าวผัด หรือ Fried Rice Syndrome มีสาเหตุหลักจาก "เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส" (Bacillus Cereus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในดินที่ก่อโรคชนิดหนึ่ง เจริญเติบโตได้ดีทั้งในสภาพมีและไม่มีอากาศ ส่วนใหญ่การปนเปื้อนมักเกิดจาก "สปอร์" ซึ่งเป็นสาเหตุของ "โรคอาหารเป็นพิษ" พบได้ในผักและเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่เก็บรักษาไม่ถูกวิธี หากรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคชนิดนี้จำนวนมากจะทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียน

อาการเจ็บป่วยดังกล่าวจะสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรที่จะพบแพทย์ เนื่องจากอาจมีแนวโน้มนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจทำให้เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออาจมีผลกระทบเรื้อรัง เช่น เป็นโรคข้ออักเสบ เป็นต้น

สอดคล้องกับ นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ที่อธิบายว่า โรคข้าวผัด คือ กลุ่มอาการอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการรับประทานอาหารปรุงสุกบางชนิดที่จัดเก็บผิดวิธี เช่น การเก็บนอกตู้เย็น จนทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Bacillus cereus หรือ B.cereus เจริญเติบโตในอาหารเหล่านั้น โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวและพาสต้า รวมถึงเมนูข้าวผัด ที่เสี่ยงเป็นภัยเงียบจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว จนมีการตั้งชื่อภาวะโรคนี้ว่า "โรคข้าวผัด" เนื่องจากการปรุงอาหารไม่ดี สุกไม่ทั่วกัน เพราะความร้อนไม่ถึง หรือขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบที่ไม่ถูกสุขอนามัย รวมทั้งการเก็บรักษาที่ไม่ดีหลังปรุงสุก

ขณะที่ ผศ.(พิเศษ) นพ.พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส สามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ

1.ชนิดที่ทําให้ท้องร่วง (diarrhea toxin) ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ ปวดท้อง และท้องร่วงเป็นน้ำ ระหว่าง 8 - 16 ชั่วโมง หลังจากรับประทาน โดยเกี่ยวข้องกับลําไส้เล็กส่วนล่าง

2.ชนิดที่ทําให้อาเจียน (emetic toxin) อาการของพิษจะมีอาการร้ายแรงและเฉียบพลัน ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน ภายใน 1 - 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน โดยเกี่ยวข้องกับลําไส้เล็กส่วนบนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี โรคที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้ไม่สามารถติดต่อกันได้

ทั้งนี้ ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส ไม่ใช่กรณีที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แต่อาการป่วยจากการติดเชื้อ อี.โคไล, ซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์ อาจพบได้บ่อยกว่า รวมถึงอาการป่วยจากสาเหตุของไวรัสในกระเพาะ เช่น โนโรไวรัส ก็พบได้บ่อยเช่นกัน 

ผู้บริโภคควรปลอดภัยไว้ก่อน หากอยากเก็บอาหารปรุงสุกที่เหลือไว้รับประทานต่อควรจัดเก็บในวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม

ป้องกัน "โรคข้าวผัด" ทำอย่างไร

การเก็บรักษาอาหารให้เหมาะสมเพื่อป้องกัน โรคข้าวผัด 

  • อาหารปรุงสุกที่รับประทานเหลือและอยากเก็บไว้รับประทานต่อต้องเก็บรักษาในตู้เย็นทันที
  • หากเผลอวางอาหารไว้ในอุณหภูมิห้อง นานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ควรอุ่นอาหารร้อนอีกครั้ง จากนั้นค่อยนำไปเก็บในตู้เย็น
  • อาหารปรุงสุกที่อยากเก็บบางส่วนไว้รับประทานในวันต่อ ๆ ไป ให้แบ่งส่วนนั้นเก็บแช่เย็นทันที โดยไม่ต้องรอให้เย็นสนิท
  • ปฏิบัติตามกฎ "2 ชม./4 ชม." คือ หากอาหารวางอยู่นอกตู้เย็นนาน 1-2 ชั่วโมง สามารถใส่กลับคืนในตู้เย็นได้อย่างปลอดภัย แต่หากปล่อยไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไปไม่ควรเก็บใส่ตู้เย็นและไม่ควรรับประทาน
  • หากทำได้ให้แบ่งอาหารปริมาณมากออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อที่ความเย็นจะได้เข้าถึงอาหารได้เร็วขึ้น อีกทั้งเมื่อจะนำมาออกมารับประทานมื้อถัดไป ก็จะช่วยให้คลายความเย็นได้เร็วขึ้นเช่นกัน

อ่านข่าว : เปิดบ้านตัวอย่าง - ขั้นตอนการจองสิทธิ "บ้านเพื่อคนไทย"

กรมอุทยานฯสั่ง "เหยี่ยวดง-ไซเตส" ตรวจสอบ กรณีชายเคลื่อนย้ายสิงโต

เดือดกลางวง หนุน-ค้าน "วัคซีนคุมกำเนิดช้าง" เข็มละ 8,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง