ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อุตสาหกรรมจังหวัดอนุญาต รง.น้ำตาลไทยอุดรธานี รับซื้ออ้อยเผา

เศรษฐกิจ
17 ม.ค. 68
19:56
19
Logo Thai PBS
อุตสาหกรรมจังหวัดอนุญาต รง.น้ำตาลไทยอุดรธานี รับซื้ออ้อยเผา
หลังเกษตรกรนำรถบรรทุกอ้อยเผากว่า 400,000 ตัน มารอขายที่โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี แต่ขายไม่ได้ เพราะโรงงานถูกสั่งปิด เนื่องจากรับซื้ออ้อยไฟไหม้เกินกำหนด แต่ล่าสุด อุตสาหกรรมจังหวัด ก็อนุญาตให้รับซื้ออ้อยล็อตนี้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

ความคืบหน้า กรณีกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานี ในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย และจากการตรวจสอบพบว่า โรงงานเปิดรับอ้อยไฟไหม้ปริมาณมากเกินกำหนด เป็นการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

ล่าสุดวันนี้ (17 ม.ค.2568)  ล่าสุด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีให้ทดลองเดินเครื่องจักรได้ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ม.ค.2568 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของหม้อน้ำ ซึ่งหมายถึง เมื่อทดสอบเครื่องจักรแล้ว ก็จะสามารถรับซื้ออ้อยได้ทำให้เกษตรกรเริ่มคลายกังวล หลังนำรถบรรทุกอ้อยกว่า 2 ,000 คัน มาจอดรอบริเวณลานรับซื้อของโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 

สำหรับโรงงานแห่งนี้ ถูกสั่งปิด เมื่อ 2 วันก่อน เพราะรับซื้ออ้อยไฟไหม้สะสมกว่า ร้อยละ 43 หรือ หรือกว่า 4.1 แสนตันเป็นสาเหตุให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ pm 2.5

นายวรพจน์ บุรุษภักดี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดร-บ้านผือ เปิดเผยว่า หลังโรงงานทดสอบระบบเครื่องจักรเสร็จ คาดว่า เวลา 03.00 น.พรุ่งนี้ (18 ม.ค.) ก็จะเริ่มเปิดรับซื้ออ้อยได้ คาดว่าอ้อยที่ตกค้างทั้งหมด จะเข้าสู่กระบวนการหีบอ้อยได้ทัน ส่วนมาตรการหลังจากนี้ เกษตรกรจะต้องทำ MOU เพื่อส่งอ้อยสดเข้าโรงงานเท่านั้น

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่า ไทยจะมีผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2566/2567 อยู่ที่ 82 ล้านตัน มีอ้อยไฟไหม้ เกือบร้อยละ 30 และคาดการณ์ว่า ปีการผลิต 2567/2568 จะเพิ่มเป็น 92 ล้านตัน จำนวนผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่า สถานการณ์อ้อยไฟไหม้ปีนี้ อาจเพิ่มขึ้นตามปริมาณอ้อย

ขณะที่ ข้อมูลจากสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ยืนยันว่า นอกจากราคาอ้อยแล้ว เงินช่วยเหลือค่าตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เกษตรกรใช้ตัดสินว่า จะตัดอ้อยสดหรืออ้อยเผา ซึ่งปีที่ผ่านมาภาครัฐ ไม่ได้จ่ายเงินส่วนนี้

ชาวไร่อ้อย ยังยอมรับว่า ปีนี้อ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้นเพราะราคาตกต่ำ แต่การช่วยเหลือยังคงอยู่ที่ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ ที่มีโควตาขายอ้อยให้โรงงานน้ำตาล ดังนั้นนโยบาย ที่จะแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 จะต้องคำนึงถึงการอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยด้วย

อ่านข่าว : รง.น้ำตาลอุดรฯ เตรียมเจรจา "กรมโรงงานฯ" เปิดรับซื้ออ้อยเผาตกค้าง 

เสี่ยงระเบิด! ก.อุตฯ สั่งปิด รง.น้ำตาล-โรงไฟฟ้าไทยอุดรฯ  

เปิดสาเหตุยอดอ้อยเผาพุ่ง ส่งสัญญาณก่อนเปิดหีบอ้อย  

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง