เริ่มต้นวันจันทร์วันแรกของสัปดาห์ กับคำเตือนให้ทุกคนพร้อมรับมือการกลับมาของฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ได้จำกัดวงเพียงกรุงเทพมหานคร สถานการณ์ฝุ่นในหลายจังหวัดก็รุนแรงไม่แพ้กัน เห็นได้จากภาครัฐออกนโนบายคุมเข้มสกัดต้นตอฝุ่น การใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถเตรียมตัวและดูแลตัวเองให้ผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัย แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง แต่ก่อนอื่นมาทบทวนเรื่องราวของ "ฝุ่นจิ๋ว" กันก่อน
PM 2.5 เป็น ฝุ่นตัวจิ๋ว ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน
ขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นจิ๋วสามารถผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปยังหลอดเลือด และกระจายตัวไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดโรคตามมาในภายหลังได้
ฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เพิ่งเกิด หรือ เกินมาตรฐานเป็นครั้งแรก แต่มันมีอยู่และจางหายไปเป็นวัฐจักร เป็นปัญหามลพิษอากาศของประเทศไทยต่อเนื่องหลายปี ซึ่งต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 มาจาก การจราจร (ไอเสียรถยนต์) การเผาป่า การเผาเศษพืชผลทางการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม หมอกควันข้ามแดน ปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ รวมถึง ภาวะความกดอากาศสูงที่ทําให้เกิดภาวะอากาศปิด
นอกจากนี้ ยังเกิดจากการรวมตัวของก๊าซอื่น ๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซต์ (SO2) และออกไซต์ของไนโตรเจน (NOx) รวมทั้งสารพิษอื่น ๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือ โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)
ในช่วงอาทิตย์ท้ายของเดือน มกราคม 2568 โดยเฉพาะวันที่ 20-21 มกราคม กรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือประชาชน Work from home หลังพบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ตลอดสัปดาห์อยู่ในระดับ "สีส้ม" คือ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และยังมีการปิดการเรียนการสอนในบ้างโรงเรียน หวั่นผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก
อ่านข่าว : ดีเดย์วันแรก กทม.ขอ ปชช.WFH พบค่าฝุ่น PM2.5 ระดับสีส้มทั้ง 50 เขต
โซเชียลแชร์ประสบการณ์ - รับมือการกลับมาของฝุ่น PM 2.5
ภาพจากเพจ : หมอแล็บแพนด้า
ล่าสุดเพจ "หมอแล็บแพนด้า" หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน รอง ผอ.โรงพยาบาลศุขเวช ได้โชว์ภาพกระดาษทิชชูเปื้อนเลือด พร้อมข้อความที่ระบุว่า ...อยากให้ภาครัฐกับการจัดการกับ PM 2.5 จริงจัง เข้าหน้านี้ทีไรร่างกายแย่มาก ไอเรื้อรังต้องเปิดเครื่องฟอกอากาศ ใส่แมสก์ตลอด สั่งน้ำมูกมามีแต่เลือด ซึ่งในรอบสัปดาห์เป็นแล้ว 2 ครั้ง แสบจมูกแล้วมีเลือดออก ทั้งที่อยู่แต่ในบ้าน แต่เปิดหน้าต่าง
ประเด็นนี้ "หมอแล็บ" ได้อธิบายว่า "พอสูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุในช่องจมูกทำให้เลือดฝอยบริเวณจมูกมีการอักเสบแตกง่ายจนกลายเป็นเลือดกำเดาไหลได้ อาการเลือดออกจมูกมักจะเจอในกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนท้อง หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ขณะที่ชาวโซเซียลต่างก็มาร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับฝุ่นจำนวนมาก คอมเมนต์ส่วนใหญ่กังวลวิกฤตฝุ่นกับผลกระทบต่อสุขภาพ
พาไปทำความเข้าใจผลกระทบของ ฝุ่น PM 2.5 กับสุขภาพ รวมถึงการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากปัญหามลพิษที่จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีคำอธิบายจากกรมควบคุมมลพิษ ว่า ผลกระทบจะเพิ่มระดับความรุนแรงต่อร่างกายจากการสะสมของฝุ่น ภายในปอดเป็นระยะเวลายาวนาน โดยระดับของอาการจะรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้
- ไอ จาม และภูมิแพ้ - พบได้เมื่อมีฝุ่นละอองเข้าไปสะสมในโพรงจมูกเวลาที่หายใจเข้าและออก ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองในจมูกและลำคอ มีเสมหะ ไอ จาม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จะมีอาการภูมิแพ้กำเริบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง - พบได้ในกรณีที่เป็นอาการไอต่อเนื่องนาน 3-8 สัปดาห์ขึ้นไป มีเสมหะเป็นสีขาว สีเหลือง หรือมีเลือดปน นอกจากนี้จะรู้สึกเกิดอาการเหนื่อย โดยอาจเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง - พบได้ในกรณีที่ฝุ่นละอองเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดและผนังหัวใจ อาการที่พบคือ มีอาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น เหนื่อยหรือแน่นขณะออกแรง ซึ่งอาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือเสียชีวิตได้
- โรคปอดเรื้อรัง และมะเร็งปอด - พบได้ในกรณีที่สูดเอาฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมเข้าไปเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากหมดเรี่ยวแรง หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ซึ่งอาจรุนแรงและกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่อาจลุกลามไปทั่วปอด เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดได้
อ่านข่าว : กินอยู่ยังไง ? เมื่อต้องสู้กับฝุ่น PM 2.5 แนะการสุมยาเมื่อมีอาการแพ้ฝุ่น
มาถึงตรงนี้เห็นได้ว่า "ฝุ่น PM 2.5" ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่พบเจอ และเป็นอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มอาจเกิดโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น เด็กเล็ก เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติงาน หรือแม้แต่การออกกำลังกายในสถานที่กลางแจ้ง
แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะออกไปสถานที่อื่นได้ จึงมีข้อแนะนำ รับมือและป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้ร่างกายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
- เช็กสภาพอากาศและคุณภาพอากาศ - ตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ทุกครั้งก่อนเดินทางออกจากบ้าน ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ เช่น AirVisual หรือ Air4Thai เพื่อวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือติดตามข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข
- สวมหน้ากากที่เหมาะสม - ใช้หน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ เพื่อป้องกันการสูดฝุ่นเข้าร่างกาย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง - หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- ดูแลสุขภาพภายในบ้าน - ปิดหน้าต่างและประตูเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าบ้าน ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพสำหรับการกรองฝุ่น PM 2.5
- ดูแลร่างกาย - ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับสารพิษออก
- ลดการสร้างมลพิษ - ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษ ที่ทําให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เผาพืชผลทางการเกษตรรวมถึงการติดเครื่องยนต์ในบ้านเป็นเวลานาน
- ดูแลจิตใจ - เริ่มต้นวันด้วยการคิดบวกและจัดลำดับความสำคัญของงานในวันนี้ หากคุณรู้สึกอึดอัดจากฝุ่น ให้พักสมองและทำสิ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง หรือทำสมาธิ ในบ้าน
ฝุ่น PM 2.5 อาจเป็นอุปสรรค แต่การเตรียมตัวและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณเริ่มต้นวันใหม่อย่างมั่นใจและปลอดภัย
โรคหรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นโรคและการเจ็บป่วยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562
อ้างอิงข้อมูล : แพทยสภา, กรมควบคุมโรค
อ่านข่าว : "รอยเลื่อนเวียงแหงขยับ" ต้นเหตุแผ่นดินไหวปาย 13 ครั้ง
เร่งหาปม 2 นักท่องเที่ยวดับปริศนาหลังร่วมงาน EDC ภูเก็ต
TikTok กลับมาให้บริการอีกครั้งในสหรัฐฯ หลังจอดำไปหลายชั่วโมง