ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา 100 วันแรก หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ

ต่างประเทศ
20 ม.ค. 68
19:10
9
Logo Thai PBS
จับตา 100 วันแรก หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ
"โดนัลด์ ทรัมป์" กำลังก็จะก้าวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 อย่างเต็มตัวแล้ว ท่ามกลางการจับตามองว่า 100 วันแรกที่เขาเข้าทำงาน จะสร้างแรงกระเพื่อมอะไรให้กับสหรัฐฯ และโลกใบนี้บ้าง

วันนี้ (20 ม.ค.2568) ในเวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หรือเที่ยงคืนตามเวลาประเทศไทย นายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังก็จะก้าวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 อย่างเต็มตัวแล้ว ท่ามกลางการจับตาการสร้างแรงกระเพื่อม ซึ่งถ้าไปถามฐานเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ พวกเขามองว่า อะไรๆ ในประเทศกำลังจะดีขึ้น และก้าวเข้าสู่ยุคทองของสหรัฐฯ เหมือนกับสโลแกน Make America Great Again

ยังไม่ทันที่จะได้รับตำแหน่งผู้นำอย่างเต็มตัว โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยื่นมือเข้าไปจัดการกับปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมสั่งระงับกฎหมายแบน TikTok ในสหรัฐฯ และการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในกาซา ซึ่งทรัมป์อ้างว่า ข้อตกลงฉบับนี้สำเร็จได้ก็เพราะชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของเขาเมื่อปีที่แล้ว และความสำเร็จนี้จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในตะวันออกกลาง

"ทรัมป์" ให้คำมั่นจะทำงานรวดเร็ว-แข็งขันแบบต้องจารึก

กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ต้อนรับว่าที่ผู้นำประเทศคนใหม่อย่างอบอุ่น ภายในอาคาร Capital One Arena ซึ่งนี่ถือเป็นเวทีปราศรัยเวทีใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ครั้งแรกของทรัมป์ นับตั้งแต่เหตุโจมตีอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2021 โดยบรรยากาศในงานนี้คึกคักมากๆ และดูแล้วไม่ต่างอะไรกับเวทีหาเสียงเลือกตั้งเลยทีเดียว

ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ใช้โอกาสระหว่างการปราศรัยบนเวที Make American Great Again Victory Rally ให้คำมั่นกับกลุ่มผู้สนับสนุนหลายพันคนที่ไปให้กำลังใจ ว่า จะทำงานด้วยความรวดเร็วและแข็งขันแบบที่ต้องจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่วันแรกของการกลับมาครองทำเนียบขาว

อ่านข่าว : "โดนัลด์ ทรัมป์" ปราศรัยใหญ่ก่อนพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ปธน.

ประชาชน 60% รู้สึกเชิงบวกกับ "ทรัมป์"

CBS News จับมือ YouGov จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ว่า รู้สึกอย่างไรกับ 4 ปีนับจากนี้ เมื่อทรัมป์ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 60% มีความรู้สึกเชิงบวก แต่ตัวเลขนี้ถือว่าเยอะแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำคนก่อนหน้า

ไล่เรียงตั้งแต่ยุคบิล คลินตัน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำสมัยแรกในปี 1993 ชาวอเมริกันรู้สึกดีกับรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนนี้สูงถึง 70% แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังน้อยกว่าผู้นำจากพรรคเดโมแครตอีกคน อย่างบารัค โอบามา ซึ่งคนเชื่อมั่นและคาดหวังในฝีมือของประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ คนนี้มากถึง 79%

ขณะที่ทรัมป์ สมัยแรก ได้รับความไว้วางใจเพียง 56% เท่านั้น ต่ำที่สุดในบรรดาผู้นำสหรัฐฯ หลายยุคหลายสมัย ส่วนสถานการณ์ของไบเดนดีขึ้นมาหน่อย แต่การกลับมาของทรัมป์ในครั้งนี้มีคนคาดหวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ไม่ว่าอากาศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะหนาวขนาดไหน แต่ผู้สนับสนุนทรัมป์จากทั่วประเทศก็ไม่กลัว ท้าลมหนาวออกมาร่วมกิจกรรมฉลองชัยชนะของนักการเมืองในดวงใจ ก่อนหน้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ซึ่งจะจัดขึ้นในเวลาเที่ยงวันตามเวลาในสหรัฐฯ หรือ ตรงกับช่วงเที่ยงคืนที่จะถึงนี้ตามเวลาประเทศไทย

โดยกลุ่มผู้สนับสนุนหลายคน ระบุว่า เสียดายที่ไม่สามารถร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีสาบานตนของทรัมป์ในรอบนี้ได้ หลังจากพิธีดังกล่าวถูกย้ายเข้าไปจัดภายในอาคารรัฐสภา เนื่องจากสภาพอากาศหนาวจัด อุณหภูมิติดลบ 13 องศาเซลเซียส ขณะที่จำนวนไม่น้อย เชื่อว่า ทรัมป์จะมาช่วยกอบกู้และซ่อมแซมประเทศนี้

อ่านข่าว : ย้อนผลงานสะเทือนโลก เมื่อครั้ง "ทรัมป์" นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก

การจัดการวิกฤตผู้อพยพ เรือธง "ทรัมป์"

ทรัมป์เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วว่า ในวันแรกที่เข้าทำงาน เขาจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารกว่า 100 ฉบับ โดยหลายฉบับน่าจะเกี่ยวข้องกับการยกเลิกคำสั่งของรัฐบาลโจ ไบเดน แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ทรัมป์จะทำเป็นสิ่งแรก หนีไม่พ้น การจัดการวิกฤตผู้อพยพ ซึ่งถือเป็นนโยบายเรือธงที่ส่งให้ทรัมป์คว้าชัยเมื่อปีที่แล้ว

American Immigration Council ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนนโยบายผู้อพยพ ประเมินว่า ตัวเลขผู้อพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ที่เข้าข่ายอาจจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทางตามนโยบายของทรัมป์ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 13.3 ล้านคน โดยแบ่งเป็นตัวเลขเมื่อปี 2022 จำนวน 11 ล้านคน และในช่วงระหว่างปี 2023 ถึงเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว มีผู้ลักลอบเข้าประเทศที่เข้าข่ายเพิ่มอีกราวๆ 2.3 ล้านคน

การเนรเทศคนจำนวนมากขนาดนี้ต้องอาศัยการเตรียมการหลายอย่าง ดังนั้น คำสั่งฉบับแรกๆ ที่ทรัมป์จะลงนาม จึงมีตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณพรมแดน เพื่อปลดล็อกการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงกลาโหม กำหนดให้ขบวนการค้ายาเสพติดซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ กลายเป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ และนำนโยบายขวางผู้อพยพในอดีตกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง แต่ประเด็นผู้อพยพไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องเดียว

อ่านข่าว : กำแพงภาษีสหรัฐฯ กระทบไทย หวั่นสินค้าจีนแย่งตลาดอาเซียน

การปรับโครงสร้างการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐถือเป็นโจทย์สำคัญ ที่ถ้าทรัมป์ทำได้ อาจจะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 2 ตัว โดยในด้านหนึ่ง ทรัมป์จะสามารถลดจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐลงได้หลายหมื่นตำแหน่ง ซึ่งนั่นเท่ากับเงินจำนวนมากจะไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าของรัฐบาล เพื่อนำไปใช้จ่ายในนโยบายเรือธงด้านอื่นๆ โดยเฉพาะกลบต้นทุนของการเนรเทศผู้อพยพ

ขณะที่ในอีกด้าน ทรัมป์อาจใช้การปรับโครงสร้างนี้เพื่อจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เคยเห็นต่างและขัดขวางการทำงานของทรัมป์ตั้งแต่เป็นรัฐบาลสมัยแรก หรือที่ทรัมป์เรียกคนกลุ่มนี้ว่า เป็น Deep State

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังน่าจะใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อกำหนดบทบาทและขอบเขตอำนาจของกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลที่นำโดยสองมหาเศรษฐีอย่างอีลอน มัสก์ และวิเวก รามาสวามี ซึ่งเชื่อว่า น่าจะมีอิทธิพลไม่น้อยในการเมืองอเมริกันตลอด 4 ปีนับจากนี้

งานชิ้นแรกๆ ที่ทรัมป์จะเริ่มทำในทันทีหลังรับตำแหน่งคืนนี้ ส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่การจัดการกับปัญหาภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของฐานเสียงชาวอเมริกัน

แต่สิ่งที่ทั่วโลกจับตามองจริงๆ ก็มีทั้งเรื่องกำแพงภาษี ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไปจนถึงการจัดการความขัดแย้งและสงครามทั่วโลก 

อ่านข่าว :

ราคา “ทองคำแท่ง” ผันผวน ทั่วโลกจับตานโยบายทรัมป์ 2.0

พิธีสาบานตน "โดนัลด์ ทรัมป์" บอกนัยอะไรให้กับโลก?

เปิดกำหนดการ-คำสาบานตน "โดนัลด์ ทรัมป์" รับตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ

ใครบ้าง ? รายชื่อแขก-เรื่องน่ารู้ พิธีสาบานตนของ "โดนัลด์ ทรัมป์"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง