ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประกันสุขภาพเปลี่ยน! Copayment คืออะไร ทำไมต้องจ่ายร่วม ?

สังคม
22 ม.ค. 68
18:32
14
Logo Thai PBS
ประกันสุขภาพเปลี่ยน! Copayment คืออะไร ทำไมต้องจ่ายร่วม ?
สมาคมประกันชีวิตไทยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเคลมประกันสุขภาพโดยนำระบบ Copayment หรือการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลมาใช้ ผู้เอาประกันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 50% ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด อาจส่งผลกระทบต่อการวางแผนทางการเงินของผู้เอาประกัน

ในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นจากเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) เฉลี่ยปีละ 8-15% การทำ "ประกันสุขภาพ" จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาการเคลมที่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะในโรคป่วยเล็กน้อย (Simple Diseases) ส่งผลให้เบี้ยประกันปรับตัวสูงขึ้นตาม ภาคธุรกิจประกันภัยและ คปภ. จึงได้พัฒนารูปแบบ ประกันสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) ซึ่งช่วยสร้างสมดุลในการบริหารค่ารักษาพยาบาล

สมาคมประกันชีวิตไทยกำหนดให้ Copayment กำหนดให้ผู้เอาประกันร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลบางส่วน เช่น 30% เมื่อมีการเคลมที่เกินเกณฑ์ ระบบนี้จะมีผลบังคับใช้กับ กรมธรรม์ประกันสุขภาพทุกฉบับ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยเน้นลดการใช้สิทธิ์เกินจำเป็น พร้อมกระตุ้นให้ผู้เอาประกันดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น 

เหตุผลที่ควรเลือกประกันสุขภาพแบบ Copayment

  • เบี้ยประกันถูกลง ประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไข Copayment มักมีเบี้ยประกันต่ำกว่า เพราะผู้เอาประกันมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย
  • ลดการเคลมเล็กน้อย เงื่อนไข Copayment ช่วยป้องกันการเคลมในกรณีเล็กน้อย เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย ซึ่งสามารถรักษาเองได้
  • ลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราคาแพง ด้วยเงื่อนไข Copayment ผู้เอาประกันจะต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายก่อนเลือกโรงพยาบาล ทำให้มีแนวโน้มเลือกโรงพยาบาลทั่วไปมากกว่าโรงพยาบาลราคาแพง

ข้อเสียของประกันสุขภาพแบบ Copayment

  • อัตรา Copayment สูงอาจกระทบต่อเป้าหมายของประกันสุขภาพ หากผู้เอาประกันต้องจ่ายส่วนแบ่งสูงเกินไป อาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้
  • ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภค ประกันสุขภาพแบบไม่มี Copayment มักได้รับความนิยมมากกว่า เพราะไม่เพิ่มภาระให้ผู้เอาประกัน
  • ประโยชน์น้อยหากมีการเคลม แม้เบี้ยประกันจะถูกกว่า แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้เอาประกันอาจต้องจ่ายส่วนแบ่งที่สูงจากเงินเก็บ

Copayment เหมาะกับใคร ?

การตัดสินใจขึ้นอยู่กับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน หากผู้เอาประกันภัยมีสุขภาพแข็งแรงและโอกาสเคลมน้อย ประกันสุขภาพแบบ Copayment จะช่วยประหยัดค่าเบี้ยประกันได้ แต่หากผู้เอาประกันภัยมีปัญหาสุขภาพหรือมีความเสี่ยงที่จะต้องเคลมบ่อย การเลือกประกันสุขภาพแบบไม่มี Copayment อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

สูตรคำนวณอัตราการเคลม

3 เงื่อนไขใช้ประกัน Copayment

กรณีที่ 1 เจ็บป่วยเล็กน้อย

  • เจ็บป่วยเล็กน้อย (Simple Diseases) หรืออาการที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
  • จำนวนการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง/กรมธรรม์ และ อัตราการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 200% ของเบี้ยประกันสุขภาพ
  • ผู้เอาประกันต้องร่วมจ่าย 30% ทุกค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

ตัวอย่างเช่น 

การเจ็บป่วยเล็กน้อย (Simple diseases) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ/ปี 20,000 บาท

ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับการเจ็บป่วยเล็กน้อย ครั้งที่ 1 จำนวน 10,000 บาท, ครั้งที่ 2 จำนวน 15,000 บาท, ครั้งที่ 3 จำนวน 20,000 บาท

ผลลัพธ์ เนื่องจากมีการรักษา มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง และ อัตราการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 200% ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย Copayment 30% สำหรับค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป 

กรณีที่ 2 เจ็บป่วยทั่วไป

  • สำหรับการเคลมโรคทั่วไป แต่ไม่นับรวมการผ่าตัดใหญ่และโรคร้ายแรง
  • จำนวนการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง/กรมธรรม์ และ อัตราการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 400% ของเบี้ยประกันสุขภาพ
  • ผู้เอาประกันต้องร่วมจ่าย 30% ทุกค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

ตัวอย่างเช่น

การเจ็บป่วยทั่วไป (ไม่นับรวมโรคร้ายแรงและการผ่าตัดใหญ่) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ/ปี 20,000 บาท

ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับการเจ็บป่วยทั่วไป ครั้งที่ 1 จำนวน 30,000 บาท, ครั้งที่ 2 จำนวน 25,000 บาท, ครั้งที่ 3 จำนวน 30,000 บาท

ผลลัพธ์ เนื่องจากมีการรักษา มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง และ อัตราการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 400% ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย Copayment 30% สำหรับค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

กรณีที่ 3 เข้าเงื่อนไขทั้งกรณีที่ 1 และ 2

  • การเคลมเข้าเงื่อนไข กรณที่ 1 การเจ็บป่วยเล็กน้อย (Simple Diseases) และ กรณีที่ 2 การเจ็บป่วยทั่วไป
  • ร่วมจ่าย 50% ทุกค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

ตัวอย่างเช่น

การเจ็บป่วยเล็กน้อย และ การเจ็บป่วยทั่วไป (ไม่นับรวมโรคร้ายแรงและการผ่าตัดใหญ่) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ/ปี 20,000 บาท

ผลลัพธ์ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขทั้งกรณีที่ 1 และ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย Copayment 50% สำหรับค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

สรุปว่า สมมติในปีกรมธรรม์ ที่เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 1 มี.ค.2568 ผู้เอาประกันภัยมีการเคลมเข้าเงื่อนไขของ Copayment
ในปีกรมธรรม์ 2569 ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายสัดส่วนที่กำหนด
คือ 30% หรือ 50%
ในทุกค่ารักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรง หรือการผ่าตัดใหญ่  

ยกตัวอย่างสถานการณ์ปีกรมธรรม์ 2569 ที่เข้าเงื่อนไข Copayment 30% 

Simple Diseases คืออะไร ?

  1. อาการไม่รุนแรง อาการมักไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว
  2. รักษาง่าย การรักษาไม่ซับซ้อน เช่น การใช้ยาสามัญประจำบ้าน หรือวิธีการธรรมชาติ
  3. หายได้เอง ในบางกรณีร่างกายสามารถฟื้นตัวเองได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาการรักษา
  4. พบได้บ่อย เป็นโรคหรืออาการที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัย 

ตัวอย่างการเจ็บป่วยเล็กน้อย ได้แก่ 

  • เวียนศีรษะ
  • ไข้ไม่ระบุสาเหตุ
  • ปวดหัว
  • ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • ไข้หวัดใหญ่
  • ภูมิแพ้
  • กล้ามเนื้ออักเสบ
  • ท้องเสีย
  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบและกรดไหลย้อน

รายชื่อโรคร้ายแรงและผ่าตัดใหญ่ที่การเคลมจะไม่ถูกนับเข้าเงื่อนไข Copayment

ผ่าตัดใหญ่ คือ การผ่าตัดที่ต้องใช้ยาสลบ หรือการบล็อกเฉพาะส่วน เช่น บล็อกหลัง บล็อกแขน บล็อกขา 

  • โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)
  • โรคของเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor Neuron Disease)
  • โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต (Aplastic Anemia)
  • โรคเยื่อหุ้มสมอง และไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคที่เรีย (Bacterial meningitis)
  • เนื้องอกในสมองชนิดที่ไม่ใชมะเร็ง (Benign brain tumor)
  • ตาบอด (Blindness)
  • โรคมะเร็งระยะลุกลาม (Invasive Cancer)
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy)
  • ตับวาย (Chronic Liver Disease/End-stage Liver disease/Liver failure)
  • โรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง/โรคปอดระยะสุดท้าย (Severe Chronic Obstructive Pulmonary Disease/End-stage Lung disease)
  • ภาวะโคมา (Coma)
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่รักษาด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease requiring Angioplasty)
  • การผ่าตัดเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (Coronary Artery By-pass Surgery)
  • กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลับจากการขาดเลือด (Acute Heart Attack)
  • การผ่าตัดลิ้นหัวใจโดยวิธีการเปิดหัวใจ (Open Heart Surgery for the Heart Valve)
  • ไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Failure)
  • การสูญเสียการได้ยิน (Loss of Hearing)
  • การสูญเสียการดำรงชีพอย่างอิสระ (Loss of indepependent living)
  • การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (Total and permanent disabilty - TPD)
  • การสูญเสียความสามารถในการพูด (Loss of speech)
  • แผลไหม้ฉกรรจ์ (Major burn)
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง (Major Head Trauma)
  • การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก (Major Organs Transplantation or Bone Marrow Transplantation)
  • โรคของเชลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor Neuron Disease)
  • โรคระบบประสาทมัลติเพิล สะเคลอโรสิส (Multiple Sclerosis)
  • โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy)
  • โรคไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรง (Fulminant Viral Hepatitis)
  • โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ (Other serious Coronary Artery Diseases)
  • อัมพาตของกล้ามเนื้อแขนหรือขา (Paralysis)
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)
  • โรคแรงดันในหลอดเลือดแดงปอดสูงแบบบปฐมภูมิ (Primary Pulmonary Arterial Hypertension)
  • ภาวะข้ออักเสบรูมาตอยต์ชนิดรุนแรง (Severe Rheumatoid Arthritis)
  • โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน (Major Stroke)
  • การผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (Surgery to Aorta)
  • ไตอักเสบลูปูสจากโรคซิสเต็มมิค ลูปูส อิริเธมา โตซูส (Lupus Nephritis from Systemic Lupus Erythematosus)
  • สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral Encephalitis)
  • ภาวะอะเเพลลิก (Apallic Syndrome หรือ Vegetative State)
  • โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัด (Cerebral Aneurysm Requiring Brain Surgery)
  • โรคหลอดเลือดสมองที่ต้องได้รับการผ่าตัดลอกหลอดเลือดแดงคาโรติด (Stroke Requiring Carotid Endarterectomy Surgery)
  • การฉีกขาดของรากประสาทต้นแขน (Multiple root avulsions of Brachial Plexus)
  • โรคโปลิโอ (Poliomyelitis)
  • การผ่าตัดกระดูกสันหลังคดที่ไม่ทราบสาเหตุ (Surgery for Idiopathic Scoliosis)
  • ภาจะดับอ่อนอักเสบที่กลับเป็นซ้ำและเรื้อรัง (Chronic Relapsing Pancreatitis)
  • โรคเท้าช้าง (Elephantiasis)
  • โรคถุงน้ำในไต (Medullary Cystic Disease)
  • โรคเนื้อเยื่อพังผืดอักเสบติดเชื้อและเป็นเนื้อตาย (Necrotizing Fasciitis and Gangrene)
  • โรคหนังแข็งชนิดลุกลาม (Progressive Scleroderma or Diffuse systemic sclerosis/scleroderma)
  • โรคลำไส้อักเสบเป็นแผลรุนแรง (Severe Ulcerative Colitis or Crohn's Disease)
  • โรคมะเร็งระยะไม่ลุกลาม (Non-invasive cancer/Carcinoma in Situ)
  • โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่รักษาโดยใช้ขดลวดผ่านสายสวนทางหลอดเลือด (Cerebral Aneurysm Treatment by Endovascular Coiling)
  • โรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาโดยวิธีใส่สายสวนเส้นเลือดแดงบริเวณคอ (Stroke Treatment by Carotid Angioplasty and Stent Placement)

รวมคำถามเกี่ยวกับ Copayment

  • ถ้าเข้าเงื่อนไข Copayment แล้ว จะมีผลทุกปีกรมธรรม์หรือไม่ หรือแค่ปีกรมธรรม์เดียว

Copayment จะปรับเปลี่ยนได้เมื่อสถานการณ์การเคลมดีขึ้น โดยบริษัทประกันภัยจะพิจารณาทุกรอบปีกรมธรรม์ ถ้าปีกรมธรรม์ใดไม่เข้าเงื่อนไขกรณีใดกรณีหนึ่ง ผู้เอาประกันภัยก็จะไม่มีส่วนร่วมจ่าย Copayment ในปีกรมธรรม์ถัดไป แต่ถ้าปีกรมธรรม์ใดเข้าเงื่อนไข ก็จะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในปีกรมธรรม์ถัดไปเช่นกัน

  • ลูกค้าที่ซื้อสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพก่อนหน้านี้ จะเข้าเงื่อนไข Copayment ด้วยหรือไม่

สัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพที่มีผลคุ้มครอง ก่อนวันที่ 1 มี.ค.2568 และไม่ปล่อยให้ขาดอายุ (ต่ออายุอย่างต่อเนื่อง) จะไม่มีเงื่อนไข Copayment

  • เงื่อนไข Copayment มีผลทั้ง IPD และ OPD ใช่หรือไม่

ไม่เกี่ยวกับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ใช้เฉพาะกับการรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD)

  • จะทราบได้อย่างไรว่า เราเข้าเงื่อนไข Copayment

บริษัทประกันภัยจะมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าก่อนครบชำระเบี้ยประกันภัยไม่น้อยกว่า 15 วัน หากเกิดการเคลมภายหลังจากที่บริษัทได้ออกหนังสือแจ้งชำระเบี้ยประกันภัย และเข้าเงื่อนไข Copayment บริษัทจะออกเอกสาร บันทึกสลักหลัง (Endorsement) เพื่อแจ้งรายละเอียด การเปลี่ยนแปลงและเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้เอาประกันภัยทราบ

  • ในกรณีที่การเคลมมีการปรับตัวลดลง และไม่เข้าเงื่อนไขจ่ายร่วม Copayment บริษัทประกันภัยจะพิจารณาในการยกเลิก Copayment หรือไม่ และมีหลักเกณฑ์ รอบการพิจารณาอย่างไร

บริษัทประกันภัยจะพิจารณาทุกรอบปีกรมธรรม์ หากการเคลมของผู้เอาประกันภัยมีการปรับตัวลดลง ตามเกณฑ์บริษัทประกันภัยจะยกเลิกการมีส่วนร่วมจ่าย Copayment

  • ถ้าผู้เอาประกันภัยที่เข้าเงื่อนไข Copayment แล้วจะเข้าเงื่อนไขตลอดไป หรือแค่ปีเดียว

เงื่อนไข Copayment จะปรับเปลี่ยนได้เมื่อสถานการณ์การเคลมของแต่ละบุคคล โดยบริษัทจะพิจารณาทุกรอบปีกรมธรรม์

  • ถ้าเข้าเงื่อนไข Copayment แล้วเบี้ยประกันภัยจะลดลงหรือไม่

กรณีการเข้าเงื่อนไข Copayment เนื่องจากเข้าเกณฑ์ Copayment (จำนวนการรักษาและอัตราการเคลมเกินกำหนด) จะไม่มีการลดเบี้ยประกันภัย

  • ถ้าเข้าเงื่อนไข Copayment แล้ว ทุกการจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายหรือไม่
    รวมโรคร้ายแรงและการผ่าตัดใหญ่ด้วยหรือไม่

ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายในทุกค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการรักษาโรคร้ายแรง และการผ่าตัดใหญ่

  • Copayment กับ Deductible ต่างกันอย่างไร

Copayment คือ ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายตามเปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตามที่ระบไว้
Deductible คือ ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลส่วนแรกตามจำนวนที่ระบไว้ในแบบประกันภัย

  • ถ้ากรมธรรม์มี Deductible และเข้าเงื่อนไข Copayment จะต้องมีส่วนจ่ายอย่างไร

ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย Deductible ส่วนแรกก่อน แล้วนำสิ่งที่เหลือมาคำนวณ Copayment 30% หรือ 50% แล้วแต่กรณี

ที่มา : สมาคมประกันชีวิตไทย

อ่านข่าวอื่น :

วันแรก กม.ฟ้องชู้มีผลบังคับใช้ ผู้ฟ้องหย่าฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

ไม่ผิดหวัง! เช็กสิทธิเงินหมื่นผู้สูงอายุโอนแน่ 27 ม.ค. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง