ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้สิทธิ "การลา" สำหรับลูกจ้างในวัยทำงาน ดูแลพ่อแม่แบบไร้ปัญหา

สังคม
24 ม.ค. 68
11:05
103
Logo Thai PBS
รู้สิทธิ "การลา" สำหรับลูกจ้างในวัยทำงาน ดูแลพ่อแม่แบบไร้ปัญหา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มาหาคำตอบ "ลูกจ้าง" พาพ่อแม่ไปหาหมอ ใช้สิทธิ "ลากิจ" ได้หรือไม่

"คนวัยทำงาน" ต้องสวมหลายบทบาทในชีวิตไม่ว่าจะเป็น "บทบาทของพ่อแม่" ที่ต้องเลี้ยงดูลูก หรือ "บทบาทของลูก" ที่ต้องดูแลพ่อแม่ในวัยสูงอายุ ซึ่งอาจมีปัญหาสุขภาพและต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลใจเมื่อต้องใช้สิทธิ "การลา" โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่จำเป็น เช่น การพาพ่อแม่ไปหาหมอ

อ่านข่าว : ชื่นชม "พยาบาลไทย" ช่วยชายสูงวัยหมดสติที่ญี่ปุ่น

การลาป่วย - การลากิจ 

ตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้กล่าวถึง สิทธิการลาของ "ลูกจ้าง" โดยระบุเกี่ยวกับ "การลา" ประเภทต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

สิทธิการลาป่วย 

ลูกจ้างมีสิทธิ "ลาป่วย" ได้เท่าที่จำเป็นตามอาการป่วย แต่ไม่เกิน 30 วันต่อปี โดยไม่รวมวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดประจำสัปดาห์ มีเงื่อนไข ดังนี้ 

แจ้งนายจ้าง - ลูกจ้างต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้า หากไม่สามารถมาแจ้งด้วยตนเองได้ ให้ใช้วิธีอื่น เช่น โทรศัพท์หรือส่งข้อความ

ใบรับรองแพทย์ - กรณีลาต่อเนื่องเกิน 3 วัน นายจ้างสามารถขอใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานได้ หากลูกจ้างไม่สามารถจัดหาใบรับรองแพทย์ได้ อาจใช้เอกสารหรือหลักฐานอื่น ๆ เพื่อชี้แจงแทน

ทั้งนี้ วันที่ลูกจ้างไม่อาจทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน หรือ ลาเพื่อคลอดบุตรไม่ถือเป็นวันลาป่วย 

สิทธิการลากิจ 

"ลากิจ" คือ การที่ลูกจ้างขอหยุดงานชั่วคราวเพื่อจัดการธุระส่วนตัวที่มีความจำเป็น และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในวันทำงาน โดยการลากิจมักใช้สำหรับเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของตัวลูกจ้าง ซึ่งเหตุผลเช่น

  • ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัว เช่น พาพ่อแม่ไปหาหมอ พาลูกไปหาหมอ
  • ลาไปทำบัตรประชาชน ใบขับขี่ ติดต่อราชการ
  • ไปร่วมงานแต่งงาน งานศพ หรืองานสำคัญในครอบครัว (พ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา ลูก)
การลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ กฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดจำนวนวันที่ตายตัวสำหรับการลากิจ โดยทั่วไปนายจ้างมักกำหนดในนโยบายบริษัท ทั้งนี้ ลูกจ้างลากิจไปทำธุระที่จำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี

สิทธิการลาประเภทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากสิทธิ ลาป่วย และ ลากิจ ยังมีสิทธิการลาประเภทอื่น ๆ อีก ดังนี้ 

  • วันลาทำหมัน : ลูกจ้างลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง
  • วันลารับราชการทหาร : ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร หรือทดลองความพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารได้
  • วันลาคลอดบุตร : ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ 
  • วันลาฝึกอบรม : ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อการแรง งานและสวัสดิการสังคมหรือการเพิ่มทักษะความชำนาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ ทำงาน

เหตุผล "ลากิจ" พาพ่อแม่ไปหาหมอทำได้

การลากิจเพื่อพาพ่อแม่ไปหาหมอถือว่าเป็นเหตุผลที่สมควรและเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่อยู่ในวัยสูงอายุหรือมีปัญหาสุขภาพ ลูกจ้างควรแจ้งล่วงหน้ากับนายจ้างให้ชัดเจนถึงเหตุผลและระยะเวลาที่จะลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของนายจ้าง หากมีเอกสารจากแพทย์หรือหลักฐานประกอบจะช่วยให้นายจ้างเข้าใจได้ง่ายขึ้น

การดูแลพ่อแม่สูงวัยเป็นสิ่งสำคัญที่คนวัยทำงานควรให้ความใส่ใจ ด้วยเหตุผลว่า เป็นโอกาสแสดงความกตัญญู การดูแลกันช่วยเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ลดความโดดเดี่ยวของพ่อแม่ วัยสูงอายุมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพมากขึ้น การดูแลใกล้ชิดจึงช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้รับการรักษาได้ทันท่วงที สร้างสมดุลระหว่างงานและครอบครัว 

จัดการบทบาทในชีวิตอย่างสมดุล

วางแผนล่วงหน้า - เช็คนัดหมายและเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับการพาพ่อแม่ไปหาหมอ

สื่อสารกับครอบครัว - แบ่งหน้าที่ในครอบครัว เช่น ให้พี่น้องช่วยดูแลร่วมกัน หากไม่สามารถพาพ่อแม่ไปเองได้ ลองขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง ก็ทำได้

การดูแลครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจัดการเวลาและหน้าที่การงานอย่างเหมาะสมก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้ทั้งสองด้านสมดุลและเกิดความสุขในชีวิต

อย่างไรก็ตาม "ลูกจ้าง" และ "นายจ้าง" ต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันในสิทธิการลาต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง ซึ่ง การลากิจ คือสิทธิของลูกจ้างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายกำหนดไว้ แต่การลากิจต้องแจ้งลาล่วงหน้าอย่างน้อยกี่วัน ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละบริษัทด้วย  

อ่านข่าว : ไทยอันดับ 9 โลกคุณภาพอากาศแย่ - "กรุงมอสโก" อากาศดีที่สุดในโลก

คู่รักตำรวจจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ก่อนเข้าประตูวิวาห์

ครั้งแรก! ชงใช้กม.ควบคุมโรคป้องกันฝุ่น PM 2.5

ข่าวที่เกี่ยวข้อง