SEAL หรือ ซีล “นักรบทรหด” ผู้พิชิต ทะเล ท้องฟ้า และภาคพื้นดิน “มนุษย์กบ” หน่วยรบพิเศษ สังกัดกองเรือยุทธการ ของกองทัพเรือไทย กระเดื่องไปทั่วโลกจาก “ภารกิจสุดโหด” ช่วย เหลือนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2561 หรือ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
ภารกิจของหน่วยซีลที่ผ่านมา มีทั้งปฏิบัติการที่เปิดเผย และปฏิบัติการลับ โดยจุดเริ่มต้นของหน่วยซีลจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2498 รับภารกิจหินที่หน่วยปกติไม่สามารถทำได้ ซึ่งกว่าที่ทหารแต่ละนายจะฝ่าฟันเข้าไปเป็นนักรบ SEAL ต้องผ่านหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม โดยใช้ระยะเวลานานถึง 7-8 เดือน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือและอื่น ๆ
พล.ร.ต.อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ให้สัมภาษณ์ใน “รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น” ถึงภารกิจของหน่วยซีลที่ต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยทั้งด้าน การฝึก การใช้เครื่องมือ และยุทธวิธี เพื่อประยุกต์ใช้ในการช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากขึ้น
“หากมีการร้องขอกำลังพลผ่านเข้ามา กองทัพเรือจะเป็นผู้พิจารณาว่าสถานการณ์ มีความจำเป็นที่ต้องส่งหน่วยซีล หรือแค่ส่งหน่วยอื่นไปก็สามารถที่จะรองรับสถานการณ์ได้”
“ถ้ำหลวง” ภารกิจโหด-หิน “หน่วยซีล”
ย้อนเวลาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว “พล.ร.ต. อนันท์” ขณะเกิดเหตุการณ์ทีมนักฟุตบอลหมูป่า 13 คนหายไปในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ยังเป็นรองผู้บัญชาการหน่วยซีล แม้จะติดตามข่าวตลอดเวลา แต่เชื่อว่า ภารกิจไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับหน่วยซีล กระทั่งหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) ประสานผ่านกองทัพเรือขอกำลังหน่วยซีลเข้าไปช่วยเหลือ ขณะนั้นก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า หน่วยซีลจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับภารกิจดังกล่าวอย่างไร
“ข้อมูลที่ได้มีไม่มาก เรามองไม่ออกว่าพื้นที่เป็นอย่างไร ดังนั้นการเตรียมกำลัง เตรียมเครื่องมือ จึงเตรียมอุปกรณ์ดำน้ำ อุปกรณ์ปีนเขา อุปกรณ์อื่น ๆ และกำลังคนเท่าที่มี เพราะจิตนาการตามความคิด คือ การเข้าไปช่วยเหลือในถ้ำ คืนเดียวภารกิจก็จบ พอไปถึงพื้นที่แล้ว จึงได้รู้ว่าเป็นภารกิจที่ยากมาก”
พล.ร.ต. อนันท์ เล่าว่า ก่อนปฏิบัติภารกิจ แม้จะรับฟังสรุปสถานการณ์ก็ยังมองไม่ออกว่าการช่วยเหลือจะทำอย่างไร มีเพียงข้อมูลแผนที่เขียนด้วยมือถึงความลึกของถ้ำ มีจุดสามแยกจะมีน้ำท่วมปิดช่องทางไว้ เมื่อเข้าไปกลับพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นลักษณะคล้ายแอ่งกระทะมีน้ำท่วมตลอดทางกว่าจะไปถึงสามแยกภายในถ้ำ ในขณะที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่คาดว่าภารกิจจะเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน กลายเป็นว่าทำงานจนลืมเวลา
“น้ำในถ้ำเพิ่มขึ้นจนปิดช่องที่จะหมอบคลานเข้าไป จึงได้สั่งให้ถอนกำลังพลออกมา ตอนนั้นหนักใจว่า จะดำน้ำไปอย่างไรเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร โดยที่ต้องคลำทางเข้าไป โดยไม่รู้ว่าจะมีอะไรขวางอยู่บ้าง”
ในขณะนั้นก็พยายามหาทางออกด้วยการขอความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้ช่วยสูบน้ำออกจากถ้ำ เพราะหากเกิดขัดข้องอย่างน้อยกำลังพลก็จะสามารถโผล่ขึ้นมาหายใจได้บ้าง สุดท้ายก็สู้ธรรมชาติไม่ไหว น้ำเพิ่มระดับขึ้นจนทำให้อยู่ในถ้ำไม่ได้
“ผมเข้าไปเห็นตั้งแต่น้ำเริ่มไหลแรง ก็ถอยออกมาเรื่อย ๆ เริ่มหนักใจมาก ว่าระยะทางจากปากถ้ำ เข้าไปหาเด็กมันไกล หลายกิโลเมตรและอุปสรรคจากกระแสน้ำที่ไหลแรง จึงเปลี่ยนแผนเพื่อสำรวจรอบถ้ำเพื่อดูว่าจะมีช่องทางไหนที่จะสามารถลงไปในถ้ำได้ แต่ก็ไม่พบ”
..กลับมาที่แผนเดิม ส่งทีมซีลดำน้ำเข้าถ้ำ.. แม้จะไม่เคยฝึกการดำน้ำในถ้ำ แต่ก็มีการปรับจากสิ่งที่เคยฝึกเพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
เคยฝึกที่ดำน้ำในพื้นที่โล่งริมทะเล ทำให้ซีลรู้ความลึก สภาพแวดล้อม หรือการดำน้ำในแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำอื่นที่สามารถประเมินพื้นที่และสถานการณ์ได้
ด้วยสภาวะน้ำที่ขุ่น ต้องดำน้ำในพื้นที่แคบ และมีข้อจำกัด จึงเป็นที่มาของแผน การใช้เชือกเป็นเส้นทางนำ แม้จะมีความเสี่ยงแต่ทุกคนก็ยินดีจะเป็นคนแรกที่ดำน้ำนำเชือกเข้าไปวัดตามจุดต่าง ๆ เพื่อนำทางให้กับคนต่อ ๆ ไปในการปฏิบัติภารกิจ
“ผมก็ลำบากใจ เพราะไม่สามารถประเมินอะไรได้เลย โอกาสที่จะเกิดความผิด พลาดเสียชีวิตสูงมาก ตอนนั้น ผมมองหน้า ว่า จะใช้ใครดี ก็ถามว่า งานนี้ใครจะไป ทุกคนก็ยกมือ ผมจึงสบายใจที่ลูกน้องพร้อมทำงาน ในเมื่อทุกคนยกมือพร้อมกัน ก็เลยตัดสินได้ว่า จะมอบหมายใครนำเชือกนำเข้าไป จนสามารถปฏิบัติภารกิจสำเร็จ วางเชือกนำให้คนหลังๆ เข้าไปได้จนสามารถช่วยเหลือเด็ก ๆ ทั้ง 13 คนได้สำเร็จ”
วิกฤต “เชียงราย” ซีล บุกจุดเสี่ยงน้ำท่วมหนัก
การเข้าไปช่วยเหลือในสถานการณ์น้ำท่วมของหน่วยซีล พล.ร.ต.สุราวรรณ์ บอกว่า จะต้องดูความจำเป็นในแต่ละเหตุการณ์ว่า ครั้งไหน หรือ สถานการณ์ใดที่ซีลจำเป็นต้องลง เช่นเดียวกับน้ำท่วมเชียงราย เมื่อเดือน ก.ย. 2567 เนื่องด้วยสภาวะของน้ำที่ไหลเชี่ยว การทำงานของหน่วยอื่นที่ไม่ได้รับการฝึกมาจึงมีความเสี่ยง
แต่ด้วยวิธีฝึกของหน่วยซีลจึงเป็นด่านหน้าเพื่อเข้าไปในจุดเสี่ยงในการช่วยเหลือชาวบ้านให้ออกมาอย่างปลอดภัย และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ถอดกำลังออกทันที
…หลายคนพยายามมีการเปรียบเทียบว่าหน่วยซีล เป็นหน่วยที่มีหลักสูตรฝึกหนักกว่าหน่วยอื่น?
พล.ร.ต.ตรี อนันท์ บอกว่าไม่อยากเปรียบเทียบว่าหลักสูตรไหนฝึกหนักกว่าใคร อยากให้มองว่า แต่ละหลักสูตรมีวัตถุประสงค์ของการฝึกกำลังพลมาใช้ในภารกิจใดมากกว่า หลักสูตรหน่วยซีล ทราบอยู่แล้วว่าจะผลิตกำลังพลเพื่อให้ทำงานที่เสี่ยง ต้องใช้ร่างกายหนัก การทำงานเป็นทีม ดังนั้นต้องฝึกคนให้ “รู้ว่าไปไม่รอด ก็ต้องไป เพื่อภารกิจ เมื่อได้รับภารกิจ ภารกิจต้องสำเร็จ”
“ยอมรับว่าหน่วยรบพิเศษ โอกาสที่หาประสบการณ์จริงในสนามรบ ไม่มี จึงต้องใช้ครูฝึกจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์ในสนามรบมาให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หลังจากได้องค์ความรู้ ได้ยุทธวิธี ก็จะฝึกโดยสถานการณ์จำลอง แก้ไขปัญหาตามสถานการณ์นั้น ๆ”
“HELL WEEK” มนุษย์กบ “ฝ่าสัปดาห์นรก”
ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของการฝึกบุคคลที่คัดเลือกเข้ามารอบแรก ยังไม่ได้ฝึกอะไรมาก จะเน้นในเรื่องของการออกกำลังกาย พัฒนากล้ามเนื้อ พัฒนาสมรรถภาพ ดังนั้นผู้ที่จะมีคุณสมบัติในการฝึกหลักสูตรนี้ ต้องเป็นข้าราชการทหารเรือ ตั้งแต่ระดับชั้นสัญญาบัตร – จ่าตรี อายุไม่เกิน 29 ปี
หากเป็นในส่วนของกองทัพบกก็ตั้งแต่ชั้นสัญญาบัตร - ชั้นประทวน อายุไม่เกิน 29 ปี ส่วนบุคคลต่างเหล่าทัพ จะให้โควตา เหล่าทัพละ 1-2 คน เริ่มต้นการคัดเลือกจะมีต้องทดสอบสมรรถภาร่างกาย เช่นเดียวกับการคัดเลือกเข้าหน่วยอื่น แต่พิเศษกว่า คือ การว่ายน้ำเพื่อทดสอบสมรรถนะ 1800 เมตร, ดำน้ำความลึก 3 ฟุต อย่างน้อย 75 วินาที
สัปดาห์ที่ 5-9 ช่วงสัปดาห์นี้นักเรียนจะขอออกมากที่สุดถึง 70% เนื่องด้วยเป็นการฝึกที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจะต้องฝึกทั้งกลางวันกลางคืน เวลาพักผ่อนจะน้อยลง เพื่อเตรียมเข้าสัปดาห์ HELL WEEK ช่วงนี้จะเป็นการคัดกรองคนที่มีจิตใจไม่พร้อมออกไปก่อน
หลังจากนั้นจะเหลือจริง ๆ แค่ 30% ฝึก Hell Week 120 ชั่วโมง ที่แทบจะไม่ได้นอน จะมีแค่ช่วงได้พักกินอาหาร เพื่อทดสอบว่าร่างกาย 5 วัน 5 คืน จะไหวไหม หากต้องไปเจอกับสถานการณ์ที่หนัก ถึงเรียกว่า สัปดาห์ทดสอบร่างกายและจิตใจ
SEAL อนาคต หน่วยรบพิเศษทางเรือ ทศวรรษหน้า
..ในฐานะเป็น ผบ.หน่วยซีลปัจจุบัน ถ้าถามว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร หรือเพิ่มขีดความสามารถอย่างไร กับภัยคุกคาม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป?
พล.ร.ต. อนันท์ บอกว่า เข้าใจในเรื่องของความเปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็ได้ศึกษาเทคโนโลยี หรือแม้แต่บริษัทต่าง ๆ ก็มานำเสนอเครื่องมือสื่อสารอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทัน สมัย รองรับภารกิจอนาคต แต่ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณก็อาจยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
“ผมอยู่หน่วยนี้มาตลอด 30 กว่าปี ก็ไม่คิดว่าจะมีงานไหนที่ชอบได้แบบนี้แล้ว คนที่มาอยู่หน่วยนี้ต้องสมัครมา รู้แล้วว่าหน่วยนี้เขาทำงานกันอย่างไร มีความตรากตรำ มีความเสี่ยงอย่างไร”
อ่านข่าว : “อดีต ส่งผล ปัจจุบัน” นักจิตวิทยาบำบัด ช่วย “สร้างพื้นที่ปลอดภัย”