ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จุดเปลี่ยน “อบจ.” พรรคใหญ่ไล่ต้อน “ท้องถิ่น - บ้านใหญ่” เข้าคอก

การเมือง
24 ม.ค. 68
16:28
16
Logo Thai PBS
จุดเปลี่ยน “อบจ.” พรรคใหญ่ไล่ต้อน “ท้องถิ่น - บ้านใหญ่” เข้าคอก

สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานไอเอฟดีโพลและเซอร์เวย์ สุ่มสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อายุ 18 ปีขึ้นไป หัวข้อ “ประชาชนหวั่นเลือกตั้ง อบจ. ถูกแทรกแซง ทุจริต-ขัดแย้ง-พัฒนาท้องถิ่นสะดุด” จากกลุ่มตัวอย่าง ใน 6 ภูมิภาค จำนวน 1,222 คน เปิดเผยผลสำรวจ เมื่อวานนี้ ( 23 ม.ค.2568) พบหลายประเด็นน่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การแทรกแซงของพรรคการเมืองระดับชาติ สู่การบริหารท้องถิ่น หรือความเชื่อว่า ผู้สมัครจากพรรคบ้านใหญ่ได้เป็นนายกฯ อบจ.จะเน้นประโยชน์พรรค พวกพ้อง ทุจริต ผูกขาดการพัฒนา ทำงานแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และยังทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลขยายตัว

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ บอกว่า การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ บ้านใหญ่ที่มาจากพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยจะได้มากกว่าบ้านใหม่ที่มาจากพรรคประชาชน และประชาชนกังวลต่อการเข้าแทรกแซงของพรรคการเมืองระดับชาติสู่การบริหารท้องถิ่น

สิ่งที่เห็นเหมือนกัน คือ ไม่ว่าจะได้ตัวแทนจากพรรคการเมืองใดเข้ามาก็ตามทั้ง 2 ฝ่ายจะทำเพื่อมุ่งผลประโยชน์เพื่อพรรค และพวกพ้อง นโยบายไม่ตอบโจทย์ท้องถิ่น ความขัดแย้งในท้องถิ่น และการไม่ทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้

 

“นัยจากผลโพล ชี้ว่า ศึก อบจ.ครั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น ประชาชนหวังการเปลี่ยนแปลง แต่หวั่นเกมการเมืองฉุดรั้งการพัฒนาท้องถิ่น การสู้ศึก อบจ. ร้อนแรงในทุกมิติ โจมตีกันดุเดือด จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาท้องถิ่น”

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ ระบุว่า ผลโพล ชี้ว่า การเมืองระดับชาติ มีอิทธิพลในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคใช้เวที อบจ.เป็นฐานสร้างคะแนนนิยม หวังผลเลือกตั้ง สส.ปี 2570 แม้นโยบาย และแนวทางพัฒนาจังหวัดจะสำคัญ แต่ถูกกล่าวถึงน้อยมาก

นอกจากนี้ พรรคการเมืองต่างนำนโยบายระดับชาติมาใช้หาเสียงในท้องถิ่น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเสนอนโยบายที่มุ่งพัฒนาท้องถิ่นอย่างเต็มที่ โดยพรรคบ้านใหญ่ ใช้จุดแข็งความใกล้ชิดชุมชน นำเสนอนโยบายตอบโจทย์ท้องถิ่นและสร้างสรรค์ ประกาศแนวทางทำงานที่โปร่งใส-ตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้กลุ่มอื่นมีส่วนร่วม และเสนอนโยบายพรรคที่ไม่สนับสนุนการขยายบทบาทของกลุ่มอิทธิพลในทางลบ

การเลือกตั้ง อบจ. รอบนี้ เป็นการต่อสู้ระหว่าง บ้านใหญ่แข่งกับบ้านใหม่ และบ้านใหญ่อันดับ 1 บ้านใหญ่อันดับ 2 แข่งกันเอง อาจจะมีบ้านใหญ่ 3 อยู่บ้างแต่จะใช้บ้านใหญ่ที่มีฐานการเมืองที่หนักแน่น สู้กับบ้านใหม่ คือ พรรคประชาชน นี่คือ โดยบ้านใหญ่จะได้คะแนน อบจ. ส่วนใหญ่ แต่บ้านใหม่แทบจะไม่ได้เลย

ผอ.สถาบันอนาคตศึกษาฯ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างกระแสกับกระสุน คือ ใช้วิธีการสร้างกระแสให้ได้ผลลัพธ์ เพื่อแข่งกับกระสุนในพื้นที่ และมั่นใจว่า ครั้งนี้ "กระสุนชนะ" และการต่อสู้ของกลุ่มบ้านใหม่พรรคประชาชน ไม่มีกระแสไม่เอาลุงมาช่วย เพราะลุงเลิกไปแล้ว จึงจะไม่ได้ประโยชน์อานิสงส์จากความกลัวลุง

และมีการโยงคะแนนระดับชาติเข้ากับท้องถิ่นเข้าหากัน เป็นครั้งสำคัญที่ไม่ค่อยมี เอากระแสระดับชาติปนกับระดับท้องถิ่น สังเกตจากการหาเสียงจะชูประเด็นนโยบายระดับชาติหาเสียง ทั้งที่ท้องถิ่นไม่เกี่ยวกับระดับชาติมากนัก

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การชูประเด็นดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายให้ผลลัพธ์เลือกตั้ง อบจ.นำไปช่วยในระดับชาติ และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับการปั่นให้เกิดความรู้สึก คือ ถ้าเลือกตามกระแสระดับชาติ ในที่สุดท้องถิ่นจะได้อานิสงส์ด้วย ทั้ง ๆ ที่ ประชาชนไม่ได้สนใจเรื่องท้องถิ่น

แต่สนใจเลือกกระแสระดับชาติ จึงเป็นครั้งแรกที่ชัดเจนที่สุด ที่นำกระแสชาติมาปนกับกระแสท้องถิ่น

โดยในอดีตพรรคการเมืองระดับชาติ เช่น สส.จะไม่ค่อยฟันธงเลือกใครเป็นพวก จะเอาทุกฝ่ายที่พอจะร่วมมือกันได้ เพื่อเวลาระดับชาติทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันในท้องถิ่นก็จะมาหนุนในระดับชาติได้ แต่ครั้งนี้ฟันธงยอมตัดใจ ตัดทิ้งในส่วนที่ไม่ค่อยแข็งแรงเพื่อให้ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำในท้องถิ่นเพื่อจะมาหนุนในระดับชาติ นั่นหมายความว่า อยากได้นายกอบจ.สังกัดพรรค ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

วันนี้การเมืองระดับชาติและท้องถิ่น โยงกันแบบสนิทเกือบจะไร้รอยต่อ ทำให้การเมืองระดับชาติตัดสินใจชูกระแสพรรคระดับชาติ มาครอบคลุมพื้นที่ท้องถิ่นด้วย นี่เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เห็นอาการชัดเจนที่สุดตั้งแต่ที่เคยเห็นมา

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การเมืองได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ โยงระดับชาติกับท้องถิ่นเข้าหากันเป็นเนื้อเดียวกัน และทำให้ต้องเลือกว่า หากถ้ายังคลุมเครือเหมือนเดิม เพื่อหวังว่า รักพี่เสียดายน้อง ได้ทุกฝ่ายในท้องถิ่นมาหนุนตัวเองในระดับชาติแม้เป็นศัตรูกันในท้องถิ่นแบบนี้เลิก

ใช้วิธีการที่ต้องเลือกว่าจะเอาพี่หรือเอาน้อง เลือกตัวที่มีผลคะแนนเยอะที่สุดที่ คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในระดับชาติ

นอกจากนี้ ทุกพรรคการเมืองพยายามชี้ให้เห็นว่า พรรคของตนเองมีฝีมือและประสบการณ์การบริหาร ไม่มีการทุจริตตามที่ผลโพลประชาชนกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ทฤษฎี และเป็นภาษาดอกไม้ แต่เรื่องจริงคนจะเลือกภาคปฏิบัติ เลือกตามกระสุน ใครมากกว่ามีโอกาสชนะ ความคุ้นเคยการรู้จักผู้สมัครในพื้นที่และ กระแสระดับชาติ พรรคการเมืองระดับชาติ ซึ่งชาวบ้านจะเลือกบนพื้นฐานในภาคปฏิบัติ

และผลลัพธ์อีกชนิดหนึ่ง คือ "กลไกราชการ" พรรคที่ยังคงกลไกราชการย่อมมีโอกาส พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะฮั้วกัน เพื่อจะสั่งให้กลไกราชการช่วยโดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ดังนั้นคราวนี้"พรรคประชาชน"จึงเสียเปรียบ พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย เพราะมีกลไกราชการอยู่ในมือฝ่ายรัฐบาล

ส่วนเรื่องหัวคะแนนจัดตั้งกับหัวคะแนนธรรมชาติครั้งนี้หัวคะแนนธรรมชาติยังมีน้ำหนักน้อย แต่หัวคะแนนจัดตั้งมีน้ำหนักมากที่สุด และเชื่อมโยงกับพวกกระสุน จึงอย่าหวังหัวคะแนนธรรมชาติ ที่เป็นระดับชาติจึงเชื่อว่า "พรรคประชาชน" จะได้ อบจ.น้อยมาก และพรรคที่จะแย่งคะแนนกันจะเป็นบ้านใหญ่ทั้งสิ้น

การเลือกตั้งระดับชาติทุกครั้งจะมีประชาชนที่อาศัยในชุมชนลักษณะบ้านไม้ และที่อาศัยในตัวเมืองลักษณะบ้านตึกกับบ้านรั้วออกมาใช้สิทธิ์มากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่อาศัยในชุมชนลักษณะบ้านไม้มาใช้สิทธิ์มากกว่า

ศ.ดร. เจริญศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งระหว่างวันเสาร์และวันอาทิตย์มีนัยสำคัญ เพราะหากเลือกวันอาทิตย์จะเห็นคนบ้านตึกกับบ้านรั้วที่เป็นชนชั้นกลางออกมาเลือกมากขึ้น ซึ่งครั้งนี้กำหนดให้เลือกในวันเสาร์ ซึ่งแปลกจากเดิม

และไม่ว่าจะเป็นการจงใจหรือไม่ก็ตาม ที่เลือกวันเสาร์เป็นการช่วยคนบ้านไม้ให้ออกมา และเป็นการลงโทษคนบ้านรั้วและบ้านตึก หมายความว่า พยายามช่วยบ้านใหญ่ มากกว่าบ้านใหม่ 

อ่านข่าว : กกต.กางไทม์ไลน์เลือก "นายก อบจ." 1 ก.พ.68  

ชำแหละวาทกรรม “ทักษิณ ชินวัตร ” อหังการ 17 ปี ไม่เคยเปลี่ยน  

ทำไม 29 จังหวัดไม่ต้องเลือกนายก อบจ.ในวันที่ 1 ก.พ.68

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง