ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยเลี่ยงความเสี่ยงโลก ยุทธศาสตร์มั่นคงแบบองค์รวม “ทางรอด”

ต่างประเทศ
27 ม.ค. 68
11:08
105
Logo Thai PBS
ไทยเลี่ยงความเสี่ยงโลก ยุทธศาสตร์มั่นคงแบบองค์รวม “ทางรอด”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไทยจะถูกกระทบกระเทือนจากความเสี่ยงของแนวโน้มโลกที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้และกำลังจะรุนแรงขึ้นในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากไทยเป็นประเทศเสรีที่เปิดกว้าง การเข้าถึงง่าย ไม่เลือกข้าง ไม่มีศัตรู ทั้งยังมีการใช้กฎหมายและกฎข้อบังคับที่หละหลวม

รายงาน Global Risks Report 2025 ของ World Economic Forum (WEF) วิเคราะห์ความเสี่ยงระดับโลกสำคัญในช่วงปีนี้และห้าถึงสิบปีข้างหน้า โดยอ้างอิงจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก

ตามรายงานนี้ ความเสี่ยงสำคัญในปีนี้น่าสนใจแบ่งออกเป็นสามระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยรวมแล้วยังคงเป็นความท้าทายเดิมที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ

ในระยะสั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐและการก่อการร้ายยังเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของประชาคมโลก นอกจากนี้ยังมีสงครามในยูเครน ตะวันออกกลาง และข้อพิพาทไต้หวันที่อาจนำไปสู่สงครามระหว่างสหรัฐกับจีน

รายงานนี้ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ชายแดนไทยกับเมียนมา ซึ่งไทยถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ เนื่องจากสนามรบระหว่างกองกำลังทหารเมียนมากับกลุ่มต่อต้าน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง ส่งผลให้พลเรือนต้องหนีความขัดแย้ง ย้ายถิ่นภายในประเทศและข้ามเขตแดนมายังประเทศเพื่อนบ้าน ไทยยังคงเป็นที่พึ่งอันดับหนึ่ง

ปัจจุบันในเมียนมา มีประชาชนถูกโยกย้ายถิ่นมากถึง 1.8 ล้านคน

นอกจากนี้ สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างในไทยปรากฏให้เห็นชัดเจนในช่วงปลายปีที่แล้ว ไทยเผชิญกับน้ำท่วมทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ในอนาคต ไทยยังต้องเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น เช่น ภัยแล้งและพายุ

ปีที่ผ่านมา ประเด็นข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนได้กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกนำมาใช้สร้างเนื้อหาเท็จเพื่อบิดเบือนความคิดเห็นของสาธารณชน และกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง แต่ละประเทศพยายามหามาตรการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ในไทย ปีที่แล้วพบข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงจำนวนหลายแสนชิ้น

สำหรับไทย วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การให้ความรู้แก่ผู้เสพข่าว ให้ตระหนักถึงที่มาของแหล่งข่าวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งจำเป็นต้องมีทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมช่วยกันสอดส่องดูแล

ในระดับนานาชาติ ความแตกแยกทางสังคม โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างชนชั้นและความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ปีที่ผ่านมา หลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน เนื่องจากประชาชนไม่พอใจและออกมาขับไล่รัฐบาล ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ในอนาคตความขัดแย้งทางสงครามการค้าและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกำลังรุนแรงขึ้น หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ จุดประกายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าแบบไม่มีการยกเว้น ซึ่งผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ ความพยา ยามของสหรัฐและพันธมิตรยุโรปที่จะตัดขาดความเชื่อมโยงด้านไฮเทคในภูมิภาคเอเชียเพื่อปิดล้อมจีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างร้ายแรง

ไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว โดยเพิ่มการลงทุนในด้านการพัฒนาไฮเทค พร้อมดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ปรับสมดุลการค้าที่ไทยได้เปรียบกับสหรัฐ และเพิ่มการค้าขายกับประเทศที่ไทยยังไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางการค้ามาก่อน

ไทยควรเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้พลาสติก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ไทยควรมี “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแบบองค์รวม” โดยพัฒนากลไกคาดการณ์ความเสี่ยง เพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ และปรับปรุงความมั่นคงบริเวณชายแดน เป็นต้น

คอลัมน์มองเทศคิดไทย : กวี จงกิจกาวร สื่อมวลชนอาวุโส

อ่านข่าว : ลมแรง! ระบายฝุ่นกทม.ดีขึ้น เตือนอีกระลอกหลัง 29 ม.ค.

เกาหลีใต้ฟ้อง "ยุน" ฐานนำก่อกบฏปมประกาศกฎอัยการศึก

"ทรัมป์" ขู่ขึ้นภาษี-คว่ำบาตร "โคลอมเบีย" หลังปฏิเสธรับผู้อพยพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง