วันนี้ (2 ก.พ.2568) ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่มีพรรคการเมืองลงเล่นเต็มตัว เป็นการสะท้อนถึงการเชื่อมโยงระหว่างสนามการเมืองท้องถิ่น กับการเมืองระดับชาติ แต่มุมของนักรัฐศาสตร์ มองว่า ผลที่ออกมาสะท้อนได้ว่า มนต์ขลังของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และพรรคเพื่อไทยจะทำงานลำบากมากขึ้น
ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มองว่า ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ. รอบนี้ทำให้เห็นว่า มนต์ขลังของ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เห็นได้จากพื้นที่ที่ นายทักษิณลงพื้นที่ไปด้วยตัวเอง 9 จังหวัดที่คาดหวังว่าควรต้องชนะ แต่พลาดไปถึง 4 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดที่ชนะหลายจังหวัดที่ชนะด้วยคะแนนไม่ห่างกันมากนัก พรรคเพื่อไทยน่าจะต้องประเมินใหม่ว่า การเดินเกมการเมืองจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ส่งคนลงในฐานะผู้แทนอิสระ ทำให้การหาเสียงมีความคล่องตัวสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจในการต่อรองทางการเมือง
ขณะที่พรรคประชาชน ที่ได้เพียงเก้าอี้เดียว ที่ จ.ลำพูน ก็เป็นทายาทบ้านใหญ่ที่มาส่วนเสื้อคลุมสีส้ม ที่อาจต้องจับตาว่า จากนี้การเมืองในระดับพื้นที่จะเปลี่ยนไปอย่างไร
แต่การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ทำให้เห็นการเชื่อมสนาม ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ แต่ถ้ามองเชิงการแข่งขันทางการเมือง พรรคเพื่อไทยน่าจะทำงานลำบากมากขึ้น เพราะศัตรูทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่พรรคฝ่ายค้านแต่เป็นกลุ่มค่ายสีน้ำเงิน
"ทักษิณ" หาเสียง 5 จังหวัดอีสาน ล้มแชมป์เก่า 3 จังหวัด
พูดถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 5 จังหวัดที่นายทักษิณ เดินสายหาเสียงช่วยผู้สมัครในนามของพรรคเพื่อไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค. และ 23-24 ม.ค. ซึ่งจากการลงพื้นที่ 5 จังหวัดครั้งนั้น ทำให้ชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ใน 3 จังหวัด คือ นครพนม หนองคาย และ มหาสารคาม ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดต่างโค่นแชมป์เก่าแทบทั้งสิ้น ส่วนอีก 2 จังหวัดที่พ่ายแพ้ คือ บึงกาฬ และ ศรีสะเกษ ซึ่งมีภาพพรรคสีน้ำเงินอยู่เบื้องหลัง
เริ่มกันที่ จ.นครพนม นายทักษิณ และ ผู้ช่วยหาเสียงลงพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.ธาตุพนม อ.เมืองนครพนม และ อ.ศรีสงคราม เพื่อช่วยนายอนุชิต หงษาดี ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย โดยมีบรรดากลุ่มผู้ให้การสนับสนุนนับหมื่นคนมาร่วมรับฟังการปราศรัย
บนเวทีปราศรัยนายทักษิณ ได้ย้ำถึงบทบาท นายก อบจ.ที่ต้องทำงานเชื่อมต่อกับรัฐบาล จะเร่งแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต และจะนำหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน โดยเงินเหล่านี้จะนำไปให้เด็กๆ ในด้านการศึกษา พร้อมย้ำต้องเลือกนายก และ ส.อบจ.จากพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล
จากนั้นยังเดินทางไป จ.บึงกาฬ และ หนองคาย พร้อมชูนโยบายการ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ลดภาระหนี้ให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น
ขณะที่ 2 จังหวัดสุดท้ายอย่าง จ.มหาสารคาม และ ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นอดีตนายก อบจ.มาหลายสมัย นายทักษิณ ยังคงใช้กลยุทธ์ในการหาเสียงด้วยการชูนโยบาย และผลงานของรัฐบาลของ น.ส.แพรทองธา ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหายาเสพติด เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และ การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมย้ำถึงบทบาทนายก อบจ.ทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างท้องถิ่นและการเมืองใหญ่
ส่วน จ.นครราชสีมา แม้นายทักษิณจะไม่ได้ลงพื้นที่ช่วยนางยลดา หวังศุภกิจโกศล ผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่หาเสียง แต่ก็เดินทางมาในวันเปิดตัวเป็นผู้สมัครของพรรค จึงแทบจะไร้คู่แข่งตั้งแต่วันรับสมัคร
บทสรุปการลงพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสานของนายทักษิณ สามารถล้มแชมป์เก่าได้ 3 จังหวัด คือ ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.ได้ที่ จ.นครพนม หนองคาย และ มหาสารคาม ส่วนอีก 2 จังหวัด จ.บึงกาฬ และ ศรีสะเกษ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคสีน้ำเงิน แชมป์เก่ายังคงชนะเลือกตั้งอีกสมัย
อ่านข่าว :
เลือกตั้ง อบจ. ปัตตานี-ยะลา แชมป์เก่ารั้งเก้าอี้ นราธิวาส "กูเซ็ง" ว่าที่นายกสมัยที่ 6