ประเด็นเรื่องการตัดไฟฟ้าในพื้นที่ที่เป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีความลึกลับซับซ้อน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับสิบกว่าหน่วยงานรัฐบาลไทยด้านความมั่นคง และกิจกรรมชายแดนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรงหรือกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าจะจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาตินี้อย่างไร
ตามหลักแล้ว สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ที่เป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่าก่อให้เกิดภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ส่งจากไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้
ขณะนี้พบว่าคอลเซ็นเตอร์บางแห่งได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากไทย
น่าแปลกใจที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงของประเทศ ยังไม่สั่งการอย่างชัดเจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รัฐบาลต้องมีแนวทางที่ชัดเจน ไม่สามารถรอต่อไปได้ ผลกระทบกระเทือนประเทศมีมาก
ถึงแม้ว่าจะมีการปราบปรามอย่างหนัก แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ลดลง มีข่าวหนาหูกล่าวหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยให้ความร่วมมือกับมิจฉาชีพข้ามแดน มีการเปลี่ยนแปลงจากบ่อนคาสิโนและแหล่งท่องเที่ยวมาเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงคนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาส จนกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยอย่างร้ายแรง
ในระดับเจ้าหน้าที่ เป็นที่เข้าใจกันดีว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สามารถตัดไฟได้ เนื่องจากทราบดีว่าผู้ได้รับสัมปทานไฟฟ้านำไฟไปใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของสัญญา และ กฟภ. มีอำนาจในการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทันที
ประเด็นถกเถียงในขณะนี้ คือ การตัดไฟเพิ่มเติมจากที่เคยเลิกสัญญาซื้อขายไปแล้วใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด ซึ่งจ่ายไฟไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และที่บ้านแม่กุใหม่ท่าซุง อำเภอแม่สอด
ปัจจุบัน กฟภ. ยังขายไฟฟ้าในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลให้กับสองพื้นที่ ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ที่อำเภอแม่สาย กับเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน และบ้านเหมืองแดงกับท่าขี้เหล็ก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บ้านห้วยม่วง อำเภอแม่สอด กับเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบว่าผู้ได้รับสัมปทานไฟฟ้าได้ทำผิดสัญญาหรือไม่
การตัดไฟตามแนวชายแดนส่งผลกระทบหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้ วิกฤตในเมียนมาทำให้รัฐบาลทหารไม่สามารถควบคุมพื้นที่ชายแดนติดกับไทย ซึ่งกลายเป็นฐานของอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ควบคุมพื้นที่แทน ส่งผลให้ฝ่ายไทยประสบอุปสรรคในการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง
แน่นอนว่าหากกฟภ. ตัดไฟ ประชาชนทั้งสองฝั่งของชายแดนอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะภาคธุรกิจและบริการจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ประชาชนจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จำเป็นต้องมีแผนเยียวยาประชาชนที่ถูกกระทบกระเทือน
อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญคือ การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีการประสานงานแบบบูรณาการ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากกิจกรรมผิดกฎหมายโดยอาศัยช่องโหว่ที่เกิดจากการขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทุจริต
กรณีการตัดไฟกลายเป็นข่าวพาดหัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ที่ไม่สามารถรับผิดชอบร่วมกันได้ ทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อถือและเคารพในศักยภาพของรัฐบาลไทย
รัฐบาลแพทองธารควรให้ความสนใจต่อปัญหาความมั่นคงตามแนวชาย แดนมากขึ้น เพราะไทยกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระดับโลก ซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลชอบหยิบยกขึ้นมาอวดชาวโลกกำลังจะกลายเป็น "ร็อตเทนพาวเวอร์" (rotten power – พลังเน่าเฟะ) ในอนาคตอันใกล้
มองเทศคิดไทย : โดย กวี จงกิจถาวร
อ่านข่าว:
"เปรี้ยง" โผไม่พลิก โค้งสุดท้ายนายก อบจ. 47 จังหวัด ใคร ? ลอยลำ
"กาสิโน" ซ่อนแอบ ประชามติครึ่งทาง "ทางออก" บ่อนถูกกฎหมาย
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- คอลัมน์มองเทศ คิดไทย
- มองเทศ คิดไทย โดย กวี จงกิจถาวร
- ตัดไฟฟ้าเมียนมา
- ตัดไฟชายแดนไทย-เมียนมา
- ภูมิธรรม เวชยชัย
- นายภูมิธรรม เวชยชัย
- ฉัตรชัย บางชวด
- ฉัตรชัยบางชวด เลขาสมช.
- แก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ
- เมืองชเวโก๊กโก่
- ชเวโก๊กโก่
- ข่าวต่างประเทศ
- ข่าวต่างประเทศวันนี้
- ข่าวต่างประเทศล่าสุด
- เจาะข่าวจริงกับไทยพีบีเอส
- เจาะข่าวจริงกับไทยพีบีเอส